เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 Equity lab โดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการออกแบบนวัตกรรมเพื่อการคัดกรองสายตา “I SEE THE FUTURE แค่มองเห็นก็เปลี่ยนอนาคต” ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัดปัตตานี 15 หน่วยงาน ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 12ศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ท้องถิ่นจังหวัดปัตตานี โรงพยาบาลปัตตานี คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดปัตตานี สมาคมทัศนมาตรแห่งประเทศไทย บริษัทบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทพิธานพาณิชย์ จำกัด และหอการค้าจังหวัดปัตตานี เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสายตาที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเรียนรู้ ปิดจุดเสี่ยงที่จะทำให้เด็กเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษา โดยให้เด็กเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา ตลอดจนทุกคนในจังหวัดปัตตานี ได้รับการตรวจคัดกรองสายตาและตัดแว่นฟรีตามสิทธิ
โครงการออกแบบนวัตกรรมเพื่อการคัดกรองสายตา “I SEE THE FUTURE แค่มองเห็นก็เปลี่ยนอนาคต” ที่ Equity Lab ร่วมกับสปสช. มุ่งสร้างกลไกส่งเสริมการทำงานระดับท้องถิ่น เพื่อให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงบริการตรวจวัดสายตาและได้รับแว่นสายตาที่มีคุณภาพ และเกิดระบบส่งต่อเด็กที่มีปัญหาสายตา เพื่อเข้าถึงสิทธิการดูแลรักษาที่ทันท่วงที ขณะที่การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ได้มุ่งเป้าเชื่อมต่องานไปยังภารกิจ Thailand Zero Dropout เพื่อสำรวจค้นหาเด็กเยาวชนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา และใช้ความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายในการออกแบบกระบวนการดูแลช่วยเหลือที่สอดคล้องกับอุปสรรคของเด็กและครอบครัวเป็นรายกรณี
จากการลงพื้นที่ตรวจคัดกรองนักเรียนจังหวัดปัตตานีจาก 72 โรงเรียนในสังกัด อปท. และโรงเรียนใกล้เคียง ครั้งแรกในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 ของคณะทำงาน สามารถคัดกรองสายตานักเรียนระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้ทั้งหมด 1,725 คน โดยมีนักเรียนที่ต้องตัดแว่น 238 คน คิดเป็น 13.8% ปัญหาหลักที่พบคือมีเด็กกลุ่มสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง สายตาสั้นและเอียง สายตายาวและเอียง ส่วนนักเรียนกลุ่มที่เป็นโรคตา ได้แก่ ต้อกระจก ตาขี้เกียจ ตาเหล่ ตาเข แผลที่กระจกตา จะต้องมีการส่งต่อเข้ารับการรักษาจากจักษุแพทย์ จำนวน 77 คน หรือคิดเป็น 4.46% โดยเด็กที่ต้องตัดแว่น จะได้รับมอบแว่นตาในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ เบื้องต้น 125 คน โดยทั้งหมดเป็นนักเรียนจากโรงเรียนในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ได้แก่ โรงเรียนเทศบาล 1 บ้านจะบังติกอ โรงเรียนเทศบาล 2 วัดตานีนรสโมสร โรงเรียนเทศบาล 3 บ้านปากน้ำ โรงเรียนเทศบาล 4 วัดนพวงศาราม โรงเรียนเทศบาล 5 เทศบาลเมืองปัตตานี และโรงเรียนเมืองปัตตานี ในส่วนกรณีที่เป็นโรคตา ต้องได้รับการวินิจฉัยขั้นสูง และรักษา จะได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความร่วมมือระหว่างบุคลากรทางการศึกษา บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคีเครือข่ายทุกระดับ
นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เกิดขึ้นได้เพราะหลายภาคส่วนเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาสายตาในเด็กเยาวชน ซึ่งเป็นอุปสรรคที่มีความเกี่ยวพันโดยตรงต่อการคงอยู่ในระบบการศึกษาของเด็กเยาวชน การทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันครั้งนี้จึงมีเป้าหมายสำคัญ คือ ต้องการให้เด็กได้รับการพัฒนาเรื่องของการศึกษาและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“ปัญหาสายตาส่งผลกระทบต่อดัชนีตัวชี้วัดด้านการศึกษา เพราะสายตาส่งผลต่อสติปัญญาของเด็ก และจากข้อมูลของกสศ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็พบว่า ในเด็กเยาวชน 1,700 คน เด็กมีปัญหาทางด้านสายตาถึง 238 คน เมื่อเทียบข้อมูลที่ศึกษาธิการจังหวัดปัตตานีรายงาน ว่าทั้งจังหวัดปัตตานีมีเด็กเยาวชนในช่วงวัยประถมและมัธยมศึกษาอยู่ราว 190,000 คน เท่ากับว่ายังมีเด็กอีกไม่น้อยเลยในจังหวัดปัตตานียังรอคอยความช่วยเหลือ ซึ่งต้องรีบดำเนินการให้เร็วที่สุด”
ทั้งนี้นายเศรษฐ์ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เพราะเราเห็นว่าทุกภาคส่วนมีความสำคัญ และทุกภาคส่วนมีเป้าหมายตรงกัน การทำงานในครั้งนี้จึงเป็นการทำงานแบบบูรณาการภายใต้ข้อตกลง ซึ่งมองว่าความร่วมมือเหล่านี้จะช่วยขับเคลื่อนภารกิจให้บรรลุความสำเร็จได้
ทางด้าน นายแพทย์รุชตา สาและ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปัตตานี หนึ่งในภาคีขับเคลื่อนโครงการ I SEE THE FUTURE กล่าวถึง ความสำคัญในการตรวจวัดสายตาอย่างละเอียดจากทางโรงพยาบาลเป็นขั้นตอนสุดท้าย โดยจะมีนักทัศนมาตรและจักษุแพทย์ที่มีความชำนาญในการวินิจฉัยอาการ เพื่อให้วินิจฉัยอาการได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และนำไปสู่การแก้ไขอย่างถูกต้องเหมาะสม
“การที่เด็กมีสายตาสั้นหรือสายตาเอียงและยังไม่ได้รับการตรวจพบ หรือบางคนมีโรคตาแฝงอยู่แต่ยังแสดงอาการไม่ชัด ทั้งสองสาเหตุล้วนส่งผลต่อการเรียนรู้ การพัฒนาบุคลิกภาพ ไปจนถึงทักษะอื่น ๆ เช่นการสื่อสาร หรือการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างละเอียดจากโรงพยาบาล เพื่อให้ได้เข้าสู่กระบวนการตัดแว่นที่ตรงกับค่าสายตา หรือถ้าเป็นโรคตาก็จะได้รับการรักษาทันที ก่อนที่เด็กจะโตขึ้นไปสู่วัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่”
ในขณะที่ สุชาดา ดุลยกุล คุณครูโรงเรียนเทศบาล 4 (วัดนพวงศาราม) คุณครูที่พานักเรียนมารับมอบแว่นตาในงานวันนี้ กล่าวถึงโครงการนี้ว่ามีประโยชน์มากสำหรับนักเรียน เนื่องจากนักเรียนบางคน รวมถึงตัวคุณครูไม่เคยทราบว่านักเรียนมีสายตาผิดปกติมาก่อน แต่เมื่อมีการตรวจคัดกรองจึงทำให้ทราบถึงปัญหา และตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
“เด็กทุกคนดีใจมาก เพราะนี่คือสิ่งที่พวกเขารอคอย เด็กบางคนไม่เคยสวมแว่นตามาก่อนเพราะไม่รู้ว่าตนเองมีปัญหาสายตา เมื่อได้รับการตรวจวัดอย่างถูกต้องแล้ว ก็ทำให้ได้รับแว่นสายตามาใส่ ปัญหาถูกแก้ไข มีรอยยิ้มกันถ้วนหน้า”
เด็กหญิงตัสนีม ระเหม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาล 4 นักเรียนที่มารับมอบแว่นตาได้เล่าให้เราฟังถึงความรู้สึกหลังจากได้ลองสวมใส่แว่นตา ว่า รู้สึกดีใจมาก ก่อนหน้านี้มองเห็นเบลอๆ เวลาเรียนมองกระดานไม่ค่อยเห็น จึงพยายามไปนั่งด้านหน้า ซึ่งก็ทำให้มองเห็นชัดขึ้นมานิดหนึ่ง แต่พอได้ใส่แว่นตาแล้วชัดมากขึ้น มองเห็นได้ดีมากขึ้น ส่งผลให้เรียน ทำกิจกรรมได้ง่ายขึ้น