“บางพื้นที่ของสหรัฐอเมริกามีจำนวนเด็กออกกลางคันสูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ และในชุมชนคนพื้นเมืองอเมริกัน (Native American Communities) มีอัตราการออกกลางคันสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์”
ประโยคข้างต้นจาก เซอร์ เคน โรบินสัน (Sir Ken Robinson) นักเขียน นักพูดชาวอังกฤษ และที่ปรึกษาระหว่างประเทศเกี่ยวกับการศึกษาด้านศิลปะ ได้พูดถึงปัญหาการศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกาผ่านรายการ TED Talks Education เมื่อเดือนเมษายน 2013
ประเทศสหรัฐอเมริกาถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ใครหลายคนอาจคิดว่าคงไม่ประสบปัญหาการศึกษาที่ใหญ่หลวงนัก แต่สำหรับเซอร์เคนแล้ว เขามองว่า พ.ร.บ.การศึกษา ของสหรัฐอเมริกาที่ว่า “ต้องไม่มีเด็กคนไหนถูกทอดทิ้ง” (No Child Left Behind) กลับสวนทางกับข้อเท็จจริง นั่นคือ มีการทอดทิ้งเด็กจำนวนมากมายไว้ข้างหลังอย่างนับไม่ถ้วน
จากสถิติเด็กที่ออกจากการศึกษากลางคัน หรือ drop out สะท้อนปัญหาการศึกษาของสหรัฐอเมริกาว่า เด็กบางส่วนอาจไม่มีความสุขจากการเรียน ไม่สนุก หรือรู้สึกว่าการเรียนไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตพวกเขาอย่างแท้จริง อีกนัยหนึ่งก็กล่าวได้ว่า เด็กที่อยู่ในโรงเรียนบางส่วนก็อาจกำลังรู้สึกเช่นนี้ได้ด้วยเช่นกัน
เคนจึงมองว่า เด็กจะเติบโตขึ้นได้อย่างงดงาม ต้องพึ่งระบบการศึกษาที่สนับสนุนให้พวกเขาได้เรียนรู้อย่างแท้จริง ซึ่งนั่นหมายถึงหลักการ 3 ข้อ (ที่จะกล่าวต่อไป) แต่กลับถูกขัดขวางโดยวัฒนธรรมการศึกษา
หลัก 3 ประการ เพื่อเด็กที่ถูกลืม
หลักการข้อที่หนึ่ง: ธรรมชาติของมนุษย์มีความแตกต่างและหลากหลาย
ด้วยข้อเท็จจริงพื้นฐานที่ว่านี้ เด็กก็คือมนุษย์ที่ย่อมมีความแตกต่างไม่แพ้ผู้ใหญ่ แต่การศึกษาภายใต้ พ.ร.บ.การศึกษา ‘No Child Left Behind’ นั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเหมือน มิใช่ความหลากหลาย
เคนมองว่าสิ่งที่โรงเรียนส่วนใหญ่มุ่งให้ความสนใจมีอยู่แค่ 4 สาขาวิชา ที่เรียกว่า STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) จนบางครั้งมองข้ามวิชาที่สำคัญไม่แพ้กัน อย่างวิชาศิลปะ มนุษยศาสตร์ และพลศึกษา
“ในอเมริกามีเด็กราว 10 เปอร์เซ็นต์ ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะผิดปกติต่างๆ นานา และจัดอยู่ในข่ายโรคสมาธิสั้น (ADHD) ผมไม่ได้บอกว่าโรคนี้ไม่มีจริง แต่ผมไม่เชื่อว่ามันจะเป็นโรคระบาดแบบนี้ ถ้าคุณจับเด็กๆ มานั่งอยู่กับที่หลายๆ ชั่วโมงติดกัน แล้วให้ทำงานน่าเบื่อเหมือนเสมียนระดับล่าง ก็อย่าแปลกใจถ้าเขาจะเริ่มอยู่ไม่สุข”
จากสถิติที่เด็กสมาธิสั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นนั้น เคนมองว่าอาจไม่ใช่เพราะเด็กมีปัญหาทางจิตไปเสียทั้งหมด ทว่าเด็กส่วนใหญ่ต้องทนทุกข์ทรมานกับสิ่งที่เขาไม่ได้สนใจและไม่ได้สนุกกับสิ่งที่ทำอยู่ ดังนั้นการที่หลักสูตรทางการศึกษาไม่ได้เปิดกว้างให้เด็กได้ลองสัมผัสสิ่งที่หลากหลาย หรือได้ชื่นชมความหลายหลากของศาสตร์อื่นๆ แล้ว เด็กจึงถูกจำกัดอยู่เพียงไม่กี่สิ่ง ซึ่งนั่นอาจไม่ใช่สิ่งที่เขาชอบและสนใจ
“ศิลปะมีความสำคัญ ไม่ใช่เพียงเพราะมันช่วยเพิ่มคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ แต่ศิลปะสำคัญ เพราะมันสื่อสารกับตัวตนของเด็กโดยที่ไม่มีสิ่งอื่นใดสามารถเข้าถึงตัวเขาได้นอกจากศิลปะ” เคนกล่าว
หลักการข้อที่สอง: ความอยากรู้อยากเห็น
“ถ้าคุณจุดประกายความอยากรู้อยากเห็นในตัวเด็กได้บ่อยครั้ง เขาจะเรียนรู้ต่อเอง โดยไม่ต้องให้ผู้ใหญ่คอยช่วยเลย เด็กๆ เป็นนักเรียนรู้โดยธรรมชาติ ความสำเร็จที่แท้จริง คือการที่เขาปลดปล่อยความสามารถนี้ออกมาได้ แทนที่จะปิดกั้นมันเอาไว้”
ความอยากรู้อยากเห็น สำหรับเคนถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของความสำเร็จ แต่ผลพวงจากวัฒนธรรมการศึกษาในปัจจุบันที่ไม่เห็นถึงความสำคัญของครูเท่าที่ควร ทำให้การสอนที่เป็นอาชีพสร้างสรรค์ กลายเป็นการสอนแบบระบบขนส่งสินค้าที่ครูมีหน้าที่เพียงส่งต่อข้อมูลให้เด็กเท่านั้น ไม่ได้เป็นครูที่คอยกระตุ้นให้เด็กตื่นตัว หรือสอนให้เด็กรู้จักค้นคว้าในสิ่งที่ตนสนใจจนเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง
เคนมองว่า การศึกษาก็คือการเรียนรู้ หากไม่มีการเรียนรู้เกิดขึ้น ก็ถือได้ว่าการศึกษาไม่ได้เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นบทบาทของครูจึงสำคัญในการเอื้ออำนวยการเรียนรู้ให้แก่เด็ก
แต่ถึงอย่างนั้นปัญหาส่วนหนึ่งที่คอยกดทับให้เด็กมีความอยากรู้อยากเห็นน้อยลง หรือไม่อนุญาตให้เด็กอยากรู้อยากเห็น คือวัฒนธรรมการศึกษากระแสหลักที่ใช้ ‘การสอบ’ เป็นตัวชี้วัดทางการศึกษา
กล่าวคือ เคนมองว่าการสอบตามระเบียบมาตรฐานนั้นยังคงมีความสำคัญ แต่การสอบไม่ควรเป็นวัฒนธรรมหลักของการศึกษา หากแต่ควรเป็นเพียงเครื่องมือวินิจฉัยเพื่อช่วยให้เกิดการเรียนรู้เท่านั้น
“การทดสอบมาตรฐานของเด็ก ต้องเป็นไปเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ แต่บ่อยครั้งก็ขัดขวางการเรียนรู้ ผลคือ แทนที่เด็กจะมีความอยากรู้อยากเห็น กลับกลายเป็นการสร้างวัฒนธรรมของการคล้อยตาม เด็กๆ และคุณครูของเราถูกส่งเสริมให้เดินตามระเบียบกฎเกณฑ์เดิมๆ แทนที่จะตื่นเต้นไปกับพลังความคิดสร้างสรรค์และความอยากรู้อยากเห็น” เคนกล่าวเสริม
หลักการข้อที่สาม: ความสร้างสรรค์ของมนุษย์
การสร้างวัฒนธรรมภายใต้มาตรฐานเดียว กลายเป็นปัญหาหนึ่งของการศึกษา จนทำให้บทบาทหนึ่งของการศึกษาที่เป็นเครื่องมือพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กลดน้อยลง
เคนได้ยกตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษาสูงที่สุดของโลกอย่างประเทศฟินแลนด์ไว้ดังนี้
ข้อแรก – ฟินแลนด์มีแนวทางด้านการศึกษาที่กว้างมาก ไม่ได้หมกมุ่นอยู่เพียงวิชา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ซึ่งเป็นวิชาที่คนฟินแลนด์ถนัด แต่ฟินแลนด์ยังให้ความสำคัญกับวิชามนุษยศาสตร์ พลศึกษา และศิลปะด้วย
ข้อสอง – การสอบวัดผลโดยใช้มาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่สิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ของการศึกษาฟินแลนด์ กล่าวคือ ฟินแลนด์มีการทดสอบมาตรฐานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และไม่ใช่สิ่งที่นักเรียนต้องตื่นขึ้นมาทุกเช้าเพื่อมาสอบ อีกทั้งไม่ใช่สิ่งที่ทำให้นักเรียนต้องนั่งติดอยู่กับโต๊ะ
ข้อสาม – ฟินแลนด์ไม่มีมาตรการเอาเด็กออกกลางคัน เมื่อเด็กมีปัญหา คุณครูหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะเข้าไปช่วยแก้ไขอย่างรวดเร็ว ทั้งช่วยเหลือ เยียวยา และให้การสนับสนุนเด็กเป็นสำคัญ
กล่าวได้ว่าระบบการศึกษาของฟินแลนด์จะเน้นที่ตัวเด็ก โดยจัดการเรียนการสอนให้เหมาะกับผู้เรียนแต่ละคน เพราะนักเรียนคือผู้เรียนรู้ และระบบจะต้องดึงดูดความสนใจ ความอยากรู้อยากเห็น ความเป็นตัวตนอันมีเอกลักษณ์ และความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก นั่นคือวิธีที่จะทำให้เด็กเรียนรู้ได้
อีกทั้งฟินแลนด์ยังให้ความสำคัญกับครู เพราะเชื่อว่าการศึกษาจะดีได้ หากได้ผู้สอนที่ดี ดังนั้นการจะได้ครูที่ดีมาสอนและพัฒนาเด็ก จึงต้องลงทุนพัฒนาคนในวิชาชีพครูอย่างเต็มกำลัง เคนมองว่าสิ่งสำคัญที่ฟินแลนด์ทำก็คือ การมอบอำนาจและความรับผิดชอบให้แก่โรงเรียนเป็นผู้บริหารจัดการเอง โดยไม่ใช่เป็นการสั่งการและควบคุมการศึกษาจากรัฐบาลกลางหรือผู้บริหารของรัฐเพียงอย่างเดียว
“การศึกษาไม่ได้เกิดขึ้นในห้องประชุมคณะกรรมการหรืออาคารที่ผู้ใหญ่นั่งร่างกฎหมาย แต่มันเกิดขึ้นในห้องเรียนและในโรงเรียน และคนที่ลงมือปฏิบัติคือครูและนักเรียน ถ้าคุณไม่ให้อำนาจการตัดสินใจแก่เขา ย่อมไม่มีทางสำเร็จ ฉะนั้นคุณต้องคืนอำนาจให้คนเหล่านี้”
ดังนั้นสำหรับเคนแล้ว เขามองว่าการศึกษาไม่ใช่ระบบเครื่องยนต์กลไก หากแต่การศึกษาเป็นระบบของมนุษย์ เป็นเรื่องของคน
การที่โรงเรียนรับรู้ถึงความแตกต่างหลากหลาย จะทำให้โอกาสของใครหลายคนถูกเปิดกว้างขึ้น และการให้คุณค่าความสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียน ในการตัดสินใจด้วยตัวพวกเขาเอง จะทำให้ความสร้างสรรค์และนวัตกรรมทางการศึกษาเกิดขึ้นได้เช่นกัน
“และโรงเรียนที่เคยไร้วิญญาณก็จะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง” เคนทิ้งท้าย