กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดย Equity lab โดย ห้องปฏิบัติการเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equity Lab) ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี เทศบาลเมืองปัตตานี สปสช.เขต 12 โรงพยาบาลปัตตานี ศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สมาคมทัศนมาตรแห่งประเทศไทย พร้อมอาสาสมัครสาธารณสุข เจ้าหน้าที่สาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองจังหวัดปัตตานี ดำเนินกิจกรรมตรวจวัดสายตาและตัดแว่นฟรีให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและโรงเรียนใกล้เคียงในจังหวัดปัตตานี ภายใต้โครงการออกแบบนวัตกรรมเพื่อการคัดกรองสายตา “I SEE THE FUTURE” แค่มองเห็นก็เปลี่ยนอนาคต เพื่อส่งเสริมกลไกการทำงานระดับท้องถิ่นให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงบริการตรวจวัดสายตา เกิดระบบส่งต่อเด็กที่มีปัญหาให้ได้รับการรักษา และเข้าถึงแว่นตาที่มีคุณภาพเหมาะสมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านสายตา นักทัศนมาตร จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เจ้าหน้าที่และพยาบาลจากโรงพยาบาลและร้านแว่นตา Dr.Zul ในปัตตานี เข้าร่วมดำเนินการ ในระหว่างวันที่ 27-31 พฤษภาคม 2567 โดยกลุ่มเป้าหมายจะเป็นเด็กนักเรียนระดับชั้นอนุบาล ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 1,725 คน ใน 63 โรงเรียน รวมทั้งสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดปัตตานีและศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 จังหวัดยะลา
นายวรุฒ เลิศศราวุธ นักวิชาการ ห้องปฏิบัติการเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equity Lab)สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ผู้รับผิดชอบโครงการออกแบบนวัตกรรมเพื่อคัดกรองสายตา “I SEE THE FUTURE” กล่าวว่า เป้าหมายหลักที่ต้องช่วยเหลือ คือ กลุ่มนักเรียนยากจน ยากจนพิเศษ ที่นอกจากฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวแล้ว ปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะปัญหาสายตา ส่งผลโดยตรงต่อการเรียนรู้และเพิ่มความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา
เพื่อลดอุปสรรคเหล่านี้ โครงการ I SEE THE FUTURE จึงพัฒนาต้นแบบการทำงานที่สนับสนุนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เชื่อมโยงความร่วมมือ ทั้งหน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานด้านสาธารณสุข และด้านการศึกษาในพื้นที่ และทำแผนขอสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น เพื่อจัดกิจกรรมคัดกรองสายตาในกลุ่มประชากรวัยเรียน เป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพด้านสายตาของน้องๆ ได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน โดยดำเนินการนำร่องใน 3 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสงคราม ปัตตานี สุรินทร์ การดำเนินการในจังหวัดปัตตานี เน้นการสร้างความตระหนักรู้กับผู้ปกครองถึงสิทธิประโยชน์บัตรทองของเด็กและความสำคัญของปัญหาสายตาในบุตรหลาน
นายคณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิและสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค สำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โดยปกติระบบการคัดกรองสายตาเด็ก จะคัดกรองในระดับชั้นป.1 เริ่มต้นจากคุณครูอนามัยโรงเรียนจะทำหน้าที่คัดกรองสายตาเด็กเบื้องต้น ถ้าพบเด็กที่มีความผิดปกติทางสายตา ก็จะรวบรวมรายชื่อเด็กส่งให้เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อที่จะตรวจยืนยันซ้ำ และหากยังพบว่ามีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการตรวจคัดกรองยืนยันโดยจักษุแพทย์ ทางสถานีอนามัยจะรวบรวมเด็กไปพบจักษุแพทย์เพื่อยืนยันและวัดค่าสายตา ตรวจโรคตาอื่นๆที่โรงพยาบาล หากมีปัญหาจริงก็จะตัดแว่นให้ โดยโรงพยาบาลที่ตัดแว่นให้ก็จะสามารถมาเบิกค่าใช้จ่ายจากสปสช. ได้
ภายหลังที่ได้มีการทำความร่วมมือกับกสศ. ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลเรื่องของเด็กที่มีภาวะยากจนหรือด้อยโอกาส พบว่า เด็กกลุ่มนี้ยังเข้าไม่ถึงบริการคัดกรองและการรักษาปัญหาสายตาผิดปกติ จึงร่วมกันค้นหาเด็กที่มีปัญหาทางสายตา โดยขับเคลื่อนผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรภาคีต่างๆในพื้นที่ จัดบริการเชิงรุก เพื่อให้เด็กทุกคนเข้าถึงบริการคัดกรองสายตาและเร่งกระบวนการให้เด็กได้รับแว่นตาเร็วขึ้น ซึ่งจะสามารถถอดต้นแบบจากโครงการนี้และนำไปขยายผลใช้ในระดับประเทศต่อไป
“การทำความร่วมมือกับกสศ. ครั้งนี้เราก็คาดหวังว่า เราจะได้รูปแบบการจัดบริการเชิงรุกเพื่อเป็นต้นแบบและนำไปขยายผลใช้กันในระดับประเทศต่อไป อาจเป็นอีกโมเดลนึงจากโมเดลปกติที่เป็นเชิงรับ เราอาจได้โมเดลเชิงรุกและอาจได้อีกหลายๆโมเดล ในการที่จะจัดระบบให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงบริการคัดกรองสายตาและได้รับแว่นตาไปแก้ไขปัญหาสายตา”
นายซุลกีฟลี วาเซ็ง นักทัศนมาตร เครือข่ายสมาคมทัศนมาตรแห่งประเทศไทย ภาคใต้ และเจ้าของร้านแว่นตา Dr.Zul จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาสายตาในพื้นที่ปัตตานี จากประสบการณ์ที่เคยออกหน่วยไปคัดกรอง พบว่า ประมาณ 10-15% จากจำนวนนักเรียนที่เคยคัดกรอง มีปัญหาสายตา โดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล จะพบปัญหาสายตาที่ค่อนข้างรุนแรง โดยช่วงอายุของเด็กที่พบ หากเป็นภาวะตาขี้เกียจ และโรคตาเหล่ ตาเข จะพบในเด็กอนุบาลและประถมศึกษาตอนต้นเป็นส่วนใหญ่ ส่วนปัญหาค่าสายตาสั้น จะพบในเด็กอายุ 6-9 ขวบ โดยในเด็กอายุ 9 ขวบ ที่เจอครั้งแรก เด็กยังไม่เคยเข้ารับบริการสุขภาพสายตาหรือเข้าร้านแว่นมาก่อน
“เราออกหน่วยในเขตเมือง เราเจอปัญหาเยอะก็จริง แต่ปัญหามันน้อยๆ ค่าสายตาน้อยๆ ส่วนมากเด็กก็เข้าร้านแว่น เข้าสู่กระบวนการสุขภาพขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่เวลาที่เราไปในต่างอำเภอ ไกลๆหน่อย เราจะเจอปัญหาสายตาที่มันหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะน้องเขาไม่เคยเจอหมอ เข้าสู่ระบบสุขภาพมาก่อน”
นอกจากนี้นายซุลกีฟลี ยังเน้นย้ำถึงการป้องกันปัญหาสายตาในเด็ก โดยเริ่มต้นที่การสังเกตพฤติกรรมเด็กของผู้ปกครองและคุณครู โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ยังไม่ทราบอาการหรือลักษณะความผิดปกติ และยังไม่สามารถสื่อสารได้ พฤติกรรมของเด็กที่มีปัญหาสายตาจะแตกต่างจากเด็กปกติ เช่น จะมีการหรี่ตา จะมองชิดมากกว่าปกติ เอียงคอมอง เดินไปแล้วจะชนสิ่งของ แพ้แสง หรือในห้องเรียน คุณครูต้องสังเกตว่าทำไมเด็กชอบนั่งข้างหน้า หรือชอบถามเพื่อนด้านข้าง ลอกเพื่อนด้านข้าง ไม่ชอบทำการบ้าน ซึ่งอาจเป็นเรื่องของปัญหาสายตาได้
นางสาวมนสิชา ตรีทิเพนทร์ อาจารย์คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและขอบคุณโครงการออกแบบนวัตกรรมเพื่อคัดกรองสายตา “I SEE THE FUTURE” ของกสศ. ที่ให้โอกาสมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ และจากการคัดกรองใน 5 วันที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาสายตาของเด็กในจังหวัดปัตตานีสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ปัญหาค่าสายตา ส่วนใหญ่จะพบเด็กที่ค่าสายตาปกติ กับ กลุ่มค่าสายตาที่ค่อนข้างมากไปเลย และอีกกลุ่ม คือ เป็นโรคตา ซึ่งจะแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆที่เคยไปออกหน่วย โดยค่าสายตาจะค่อนข้างหลากหลาย อาจเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้สายตาของเด็กในจังหวัดปัตตานีที่มีการใช้สายตาระยะใกล้ค่อนข้างน้อย จึงทำให้ปัญหาค่าสายตาไม่ค่อยมากเท่าไหร่ แต่ค่าสายตาที่เกิดจากพันธุกรรมค่อนข้างสูง โรคตาที่เจอส่วนมากจะเป็นเรื่องปัญหาตาเหล่ ตาเข ตาขี้เกียจ บางรายจะมีในส่วนของรูม่านตาผิดปกติ โดยสาเหตุอาจเป็นตั้งแต่กำเนิดและบางส่วนเกิดจากการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้เป็นอย่างมาก รวมถึงเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถสื่อสารได้ว่ามองไม่เห็น ก็อาจทำให้คนรอบตัวเกิดความเข้าใจผิด
“เด็กไม่ทราบว่าจะสื่อสารออกมายังไง เด็กกลุ่มนี้จะถูกสังคมหรือคนรอบตัวเข้าใจผิดว่าเป็นเด็กขี้เกียจ ทำให้การเรียนของเขาค่อนข้างแย่ รวมถึงการเข้าสังคมกับเพื่อนๆ”
กรณีเด็กเข้ารับการตรวจคัดกรองและมีประเด็นในสังคมที่ได้เรียนรู้ คือ เด็กชายบี (นามสมมุติ) ที่มีค่าสายตาสั้น 5.75 แต่เขาไม่เคยมองเห็นภาพชัดมาก่อนทั้งชีวิต ทำให้เขาไม่รู้ว่าอะไรคือความชัด และการมองเห็นในทุกๆวันเป็นเรื่องปกติ แต่ในความเป็นจริงแล้วเขามองอะไรไม่เห็นเลย ส่งผลให้เขาเรียนหนังสือไม่ได้ ตอบสนองไม่ได้
นอกจากนี้อาจารย์มนสิชา ยังกล่าวเสริมอีกว่า ความสำคัญของการตรวจคัดกรองและแก้ไขได้โดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขด้วยการใช้เลนส์เข้ามาช่วยหรือใส่แว่นตา ก็จะทำให้ช่วยชะลอการพัฒนาของค่าสายตา หรือการรักษาแบบอื่นๆ ก็อาจช่วยชะลอความรุนแรงลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาวะตาขี้เกียจที่ควรแก้ไขในเด็กก่อนอายุ 10 ขวบก็จะทำให้เด็กมีโอกาสที่จะฟื้นฟูการมองเห็นได้ดีขึ้น และจะช่วยให้ในอนาคตเด็กได้มีโอกาสทำอาชีพที่เขาอยากจะทำ