1.9 ล้านคน คือตัวเลขของเด็กนักเรียนยากจนและด้อยโอกาสที่เสี่ยงต่อการหลุดจากระบบการศึกษาในปี 2565
2 แสนล้านคน คือจำนวนเด็กนอกระบบการศึกษา ซึ่งในจำนวนนี้ได้เข้าร่วมโครงการ ‘พาน้องกลับมาเรียน’ ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่หวังจะดึงพวกเขากลับสู่ระบบการศึกษา ทว่าจากการติดตามพบว่า มีเด็กถึง 11,719 คน ที่ไม่สามารถติดตามตัวได้
จากการวิเคราะห์ข้อมูลของ กสศ. พบว่า เด็กยากจนและยากจนพิเศษมีโอกาสได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเพียง 12 เปอร์เซ็นต์ มากกว่านั้นครอบครัวของเด็กยากจนจำนวนมากต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาอยู่ที่ 22 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ คิดเป็นสัดส่วนสูงกว่าครัวเรือนที่มีฐานะร่ำรวยถึง 4 เท่า ซึ่งมีภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเพียง 6 เปอร์เซ็นต์ของรายได้เท่านั้น
การเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของเด็กยากจนและยากจนพิเศษ ถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึง 3 เท่า และต่ำกว่าประชากรที่มีรายได้สูงสุดของประเทศถึง 5 เท่า
นี่คือสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่ลำพังงบประมาณแผ่นดินที่มีอยู่ในสภาวะวิกฤตทางการเงินหลังโรคระบาดก็ไม่อาจแก้ปัญหาได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง จึงเป็นที่มาของการเฟ้นหานวัตกรรมทางการเงินเพื่อแก้ปัญหาด้านการศึกษา อันเป็นปัญหาที่ไม่อาจรอได้ภายใต้ความเหลื่อมล้ำที่รังแต่จะขยายมากขึ้นในอนาคต
กสศ. ชวนทำความรู้จักนวัตกรรมการเงินเพื่อสังคม และแนวคิด ‘Pay for Success’ โมเดลปฏิบัติการใหม่เพื่อผลลัพธ์ด้านการศึกษาที่ยั่งยืน ที่จะทำให้เรามองเห็นความเป็นไปได้ในการออกจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เรื้อรังหลายศตวรรษ
Pay for Success จ่ายยังไงให้แจ๋ว
ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. สะท้อนว่า ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีข้อจำกัดทางการคลังจากรายได้ที่ลดลงและความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ นั่นหมายความว่า การจะดึงเงินงบประมาณมาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มขึ้นนั้นถือเป็นเรื่องยากและท้าทาย ไกรยสจึงมองว่า ในสถานการณ์เช่นนี้การมองหานวัตกรรมทางการเงินอื่นๆ ในการจัดสรรงบประมาณที่มีอยู่เพื่อนำไปแก้ปัญหาให้ได้ประโยชน์สูงสุด อาจเป็นทางออกที่น่าสนใจเช่นกัน
หนึ่งในปัญหาสำคัญขององค์กรที่ทำงานเพื่อการศึกษาทั่วโลกในขณะนี้ก็คือเรื่องของเงินงบประมาณ โดยหลักแล้วมาจาก 2 ส่วน หนึ่งคือจากรัฐบาลของประเทศนั้นๆ และสองคือจากการบริจาค ซึ่งทั้งสองทางแม้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ก็ไม่ใช่แนวทางที่ยั่งยืน ดังนั้น แนวคิดด้านนวัตกรรมทางการเงินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของ กสศ. จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างมาก
โปรเจ็กต์ Pay for Success จึงเริ่มต้นขึ้น เพื่อควานหาโมเดลปฏิบัติการใหม่ในการสร้างผลลัพธ์ด้านการศึกษาที่ยั่งยืน โดยการเชิญชวนคนรุ่นใหม่ บริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม และภาคีเครือข่ายด้านการศึกษาต่างๆ มาร่วมเรียนรู้และสร้างนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ให้เกิดผลลัพธ์ทางการศึกษาที่ยั่งยืน ภายใต้สภาพปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและความเสี่ยงต่อการหลุดจากระบบการศึกษาของเยาวชนกลุ่มยากจนพิเศษ
นวัตกรรมการเงินการคลังเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษามีหลายรูปแบบ และถูกนำไปใช้ในหลายประเทศทั่วโลก เช่น
- พันธบัตรเพื่อสังคมและการศึกษา (Social Bond) เครื่องมือในการระดมทุนมาตรฐาน ระดมทุนในวงเงินสูง และระดมทุนจากหลายภาคส่วน
- การระดมเงินจากรายย่อย (Crowd Funding) เป็นการระดมการมีส่วนร่วมในวงกว้างมากขึ้น
- การจ่ายเงินตามความสำเร็จ/ผลลัพธ์ (Pay for Success) หรือสัญญาเพื่อกระจายความเสี่ยงระหว่างรัฐและเอกชน โดยรัฐจะจ่ายเมื่อผลลัพธ์ประสบความสำเร็จตามที่กำหนดไว้ตอนริเริ่มโครงการ
หนึ่งในตัวอย่างที่ไกรยสนำเสนอ คือการนำนวัตกรรมทางการเงินมาใช้ในรูปแบบโครงการ Zero Dropout ที่ กสศ. ได้ร่วมมือกับบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมาจากเงินบริจาคของแสนสิริผ่านการออกหุ้นกู้มูลค่า 100 ล้านบาท (28.96 ล้านดอลลาร์) เพื่อระดมความร่วมมือในการลดจำนวนเด็กที่หลุดจากการศึกษาเป็น ‘ศูนย์’ ให้ได้ภายใน 3 ปี โดยมี ‘ราชบุรีโมเดล’ เป็นจังหวัดต้นแบบ
“กลุ่มแสนสิริสนใจที่จะทดลองใช้เครื่องมือทางการเงิน โดยการออกหุ้นกู้ของแสนสิริเอง ด้วยการระดมเงินทุน 100 ล้านบาท ซึ่งภายใน 2 นาที หุ้นกู้ 100 ล้านนี้ก็ขายหมด เพราะคนสนใจการออกหุ้นกู้เพื่อเอาไปสนับสนุนมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาใน ทั้งจังหวัดราชบุรี” ไกรยสกล่าว
ด้าน สมัชชา พรหมศิริ ผู้บริหารฝ่ายการตลาดดิจิทัลและสื่อสารองค์กร บมจ.แสนสิริ เสนอว่า บทบาทของภาคเอกชนไม่เพียงแค่ให้เงินทุนเพียงอย่างเดียว แต่ควรเข้าไปมีส่วนร่วมในการติดตามโครงการด้วย เพราะการได้เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการ ได้เห็นกระบวนการในการทำงาน จะทำให้ภาคเอกชนเกิดความรู้สึกร่วม และตระหนักว่าการลงทุนในรูปแบบของ Pay for Success เป็นสิ่งที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ความร่วมมือกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ได้ริเริ่มกิจกรรม PTT Virtual Run ภายใต้โครงการลมหายใจเพื่อน้อง เดิน-วิ่ง ระดมทุนการศึกษาเพื่อเยาวชน ที่ประชาชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมสร้างสถิติใหม่เป็นระยะทางถึง 600,000 กิโลเมตร ด้วยเวลาเพียง 6 วันเท่านั้น จนนำมาสู่การสนับสนุนเงินบริจาคจำนวน 151 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนการศึกษาช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาคกลุ่มชั้นรอยต่อ ป.6 และ ม.3 เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ไม่ให้นักเรียนกลุ่มนี้หลุดออกจากระบบ
จากสองตัวอย่างข้างต้น ไกรยสอธิบายว่า กสศ. พยายามที่จะพัฒนาตัวชี้วัด หรือ ผลลัพธ์สำคัญ (Key Results) ทั้งด้านโอกาสทางการเรียนรู้ ด้านผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ ด้านการศึกษาทางเลือก รวมถึงด้านการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมทางการเงินให้เกิดขึ้นได้จริงในระยะยาว
บทเรียนของ Pay for Success ในต่างแดน
Sikai Chen จาก Tri-Sector Associates องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจากประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า แนวคิด Pay for Success หรือการจ่ายเงินตามผลลัพธ์ เป็นแนวคิดที่ริเริ่มจากสหราชอาณาจักร จุดเริ่มต้นคือ เป็นโครงการช่วยเหลือเกี่ยวกับนักโทษ หลังจากนั้นได้เกิดโครงการรูปแบบนี้ขึ้นอีกกว่า 200 โครงการทั่วโลก ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น ประเทศไทย ซึ่งต้องใช้เงินทุนจำนวนมากในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเยาวชน ผู้ใหญ่ นักโทษ หรือเด็กเล็ก เงินทุนเหล่านี้ไม่เพียงช่วยเหลือในด้านทรัพยากร แต่ยังรวมถึงการระดมผู้เชี่ยวชาญหลายด้านมาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง
แนวคิด Pay for Success ได้ขยายออกไปทั่วโลก โดย Tri-Sector Associates ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ในทวีปเอเชีย ซึ่งจากการทำงานดังกล่าว Sikai Chen ได้นำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนใน 3 หัวข้อหลักๆ ได้แก่ 1) แนวโน้มการเติบโตของ Pay for Success 2) แนวคิดในการสร้างประโยชน์เพื่อสังคม และ 3) กรณีศึกษาในประเทศสิงคโปร์และประเทศอินเดีย
เริ่มจากข้อแรก Sikai Chen เล่าว่า สถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้งบประมาณของภาครัฐแทบทุกประเทศ ซึ่งภาครัฐทั่วโลกพยายามได้ลงทุนจำนวนมหาศาลเพื่อให้ประเทศกลับมาฟื้นตัว และนำมาซึ่งการใช้งบประมาณอย่างไม่จำกัด นั่นหมายความว่า ต่อจากนี้ภาครัฐควรจะต้องใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และคำนึงถึงข้อดีข้อเสียในการใช้เงินอย่างถี่ถ้วน
มากกว่านั้น Sikai Chen มองว่า ทั้งภาครัฐ ผู้ให้บริการ ภาคเอกชน หรือผู้สนับสนุนเงินทุนเอง ได้ให้ความสำคัญในการ ‘วัดผลลัพธ์’ เพราะพวกเขาต้องการที่จะสร้างความแตกต่าง ขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้น โดยมีการผลักดันให้เกิดการวัดผลลัพธ์ของผู้มีส่วนร่วมในโครงการ Pay for Success จากหลายภาคส่วน ตั้งแต่ภาครัฐ ผู้ให้บริการ ภาคเอกชน หรือผู้สนับสนุนเงินทุนเอง
ส่วนแนวโน้มในระดับมหภาค คือการเพิ่มขึ้นของการลงทุนที่ตอบโจทย์ผลลัพธ์ทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้าน ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล) การลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ การลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบ หรือเศรษฐีที่ลงทุนไปพร้อมกับงานการกุศล
“เราได้เห็นการลงทุนแบบนี้มากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผมขอกล่าวถึงในเมืองไทย เมื่อเร็วๆ นี้มีโปรเจ็กต์ที่เปิดตัวโดยแสนสิริที่พวกเขาระดมทุน 100 ล้านบาท เพื่อช่วยแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากโรงเรียน นี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการลงทุนเพื่อผลลัพธ์ในประเทศไทยและในภูมิภาค และผมเชื่อว่าจะมีโครงการแบบนี้เกิดขึ้นในอีก 2-3 ปีนี้”
Sikai Chen สะท้อนว่า คำถามที่มักถูกถามบ่อยๆ คือ โครงการ Pay for Success หรือ PFS ให้อะไรกับสังคมบ้าง และใครเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์นั้น
งานวิจัยจากสถาบันวิจัยบรูคลิน ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการวิเคราะห์โครงการ PFS อย่างเป็นระบบ เพื่อค้นหาว่าโครงการนี้ให้สิ่งใดกับสังคมบ้าง และพวกเขาพบข้อดี 5 ประการสำหรับทุกฝ่าย
- ผลลัพธ์ที่ได้จะส่งผลดีต่อภาครัฐ เพราะช่วยให้อุ่นใจและเข้าใจว่าจะได้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นแน่นอน สำหรับผู้ให้บริการ พวกเขาสามารถเพิ่มความโดดเด่นให้กับตัวเองให้โดดเด่นกว่าผู้ให้บริการรายอื่นๆ เพราะผู้ให้บริการอื่นๆ จะไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์หรือการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล
- มีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เพราะ PFS เน้นย้ำถึงการประเมินผลและให้เวลาในการพัฒนาอย่างเต็มที่
- ในระยะยาว ผู้ให้บริการจะได้ประโยชน์จากสิ่งนี้ เพราะสามารถเรียนรู้เทคนิคการประเมินใหม่ๆ และนำทักษะใหม่ๆ มาช่วยปรับปรุงการดำเนินงานภายใน
- ผู้ให้บริการจะได้รับผลประโยชน์ เพราะได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ จากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมโดยตรง ซึ่งเป็นความรู้ที่จะไม่สามารถเข้าถึงได้หากไม่มีความร่วมมือนี้
- ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทุกภาคส่วน ไม่เพียงแต่ช่วยกันแก้ปัญหาที่พบระหว่างทางเท่านั้น แต่ยังสามารถหาทางออกร่วมกันหากเกิดปัญหาในอนาคตอีกด้วย
Educate Girls ช่วยเด็กหญิงอินเดียนับพันเข้าสู่ระบบการศึกษา
Sikai Chen ยกตัวอย่างกรณีศึกษาในประเทศอินเดีย ที่มีประชากรเป็นอันดับที่ 2 ของโลก และเกือบครึ่งเป็นประชากรหญิง ซึ่งในปี 2557 มีเด็กผู้หญิงกว่า 3 ล้านคนที่ไม่มีโอกาสทางการศึกษา หรือการสำรวจในปีเดียวกันที่รัฐราชสถาน มีประชากรหญิงอ่านออกเขียนได้เพียงร้อยละ 52 น้อยกว่าประชากรชายที่อ่านออกเขียนได้ถึงร้อยละ 79
ปี 2561 การสำรวจโดย NSS 75th Round พบจำนวนประชากรหญิงที่รู้หนังสือไม่เท่าเพศชายอยู่ถึง 187.2 ร้อยล้านคน ตัวเลขดังกล่าวหมายถึงการสูญเสียศักยภาพของผู้หญิงในการหารายได้ การมีอาชีพการงานที่ดี การเลี้ยงดูบุตรหลาน และพบปัญหาการแต่งงานก่อนวัยอันควร ทั้งหมดเป็นรากฐานปัญหาเศรษฐกิจของประเทศและนำมาสู่วงจรความยากจนในที่สุด
UBS Optimize Foundation ซึ่งเป็นมูลนิธิที่อยู่ภายใต้บริษัท UBS จึงได้ทำโครงการ Pay for Success ครั้งแรกในประเทศอินเดีย เป็นการนำนวัตกรรมทางการเงินในรูปแบบพันธบัตรเพื่อสังคม หรือ Social Impact Bond ทางเลือกในการระดมเงินทุนของภาครัฐจากภาคเอกชนที่มีเป้าหมายในการช่วยเหลือสังคม มาแก้ปัญหาการศึกษาในเด็กผู้หญิงอินเดีย โดยเจ้าของโครงการจะจ่ายคืนเงินต้นและผลตอบแทนให้แก่ผู้ลงทุนตามผลสัมฤทธิ์ของโครงการ (Pay for Success Financing)
มูลนิธิ UBS Optimus Foundation (UBSOF) ได้สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน เพื่อนำมาใช้ดำเนินโครงการ โดยมีองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ชื่อ Educate Girls (EG) เป็นผู้ดำเนินโครงการร่วมกับหน่วยงานของรัฐ เอกชน และองค์กรอิสระอื่นในพื้นที่ (Local Implementer) ภายใต้การกำกับดูแลโครงการโดยกลุ่มเครือข่ายทางสังคมชื่อ ‘Instiglio’
เมื่อสิ้นสุดโครงการ องค์กรพัฒนาสังคม ‘IDinsight’ จะเข้ามาประเมินผลการดำเนินโครงการ และส่งผลการประเมินโครงการให้แก่องค์กรการกุศลเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กในประเทศกำลังพัฒนา ชื่อ ‘Children’s Investment Foundation’ (CIFF) จ่ายเงินต้นและผลตอบแทนให้แก่นักลงทุน ทั้งนี้ CIFF จะจ่ายเงินต้นและผลตอบแทนให้แก่นักลงทุน หากผลการดำเนินโครงการเป็นไปตามตัวชี้วัดที่กำหนดไว้เท่านั้น หรือลดหลั่นไปตามผลลัพธ์ที่ได้
ผ่านไปเพียงหนึ่งปี Educate Girls ก็สามารถบรรลุเป้าหมายได้ทั้ง 2 ตัวชี้วัด ได้แก่
- ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา (Learning Outcomes) ใน 3 วิชา ได้แก่ ภาษาฮินดี ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ ของเด็กผู้หญิงที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องมากกว่าเด็กผู้หญิงที่ไม่เข้าร่วมโครงการคิดเป็น 5,592 ระดับ จนเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาโครงการพบว่าทำได้มากกว่า 8,940 ระดับ หรือมากกว่าร้อยละ 160 ของเป้าหมายที่วางไว้
- ผลการเข้าสู่ระบบการศึกษา (Enrollment Outcomes) ที่กำหนดว่าจะต้องมีอัตรานักเรียนหญิงเข้าสู่การศึกษาในร้อยละ 79 แต่ผลลัพธ์ภายใน 3 ปี พบเด็กผู้หญิงเข้าสู่ระบบการศึกษาจำนวนทั้งสิ้น 768 คน คิดเป็นร้อยละ 92 หรือมากกว่าเป้าหมายที่วางไว้กว่าร้อยละ 116
การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวเป็นผลให้ผู้ลงทุนได้ผลตอบแทนกว่าร้อยละ 52 ของเงินลงทุน และ CIFF ต้องจ่ายเงินให้แก่ UBSOF ถึง 422,000 เหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นเงินต้นจำนวน 270,000 เหรียญสหรัฐ และผลตอบแทนจำนวน 144,805 เหรียญสหรัฐ
มากกว่านั้นนักเรียนหญิงในอินเดียได้เข้าสู่ระบบการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายที่ส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาประเทศอินเดียในอนาคต นั่นย่อมหมายถึงการประหยัดงบประมาณของรัฐในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น งบประมาณในการป้องกันการเกิดอาชญากรรม งบประมาณด้านสาธารณสุข งบประมาณเกี่ยวกับสวัสดิการ และงบประมาณในการปัญหาทางสังคมอื่นๆ ก็จะใช้งบที่ลดลง ซึ่งเป็นผลตามมาจากการที่คนในประเทศมีการศึกษาที่ดีขึ้น