เสียงสะท้อนจากนายแพทย์ไพฑูรย์ อ่อนเกตุ รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจด้านบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลกำแพงเพชร และในฐานะพ่อคนหนึ่งที่ต้องจัดการเวลาส่วนหนึ่งจากการทำงานมาดูแลลูกที่ต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน ซึ่งรู้สึกว่าการเปิดปิดโรงเรียนบ่อยครั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เด็กเกิดการสูญเสียหรือขาดโอกาสในการเรียนรู้ จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้เด็กสามารถกลับมาเรียนได้เร็วที่สุดและเปิดเรียนได้อย่างยั่งยืน
การที่เด็กจะกลับมาเรียนได้ก็คงไม่ใช่การสั่งการจากส่วนกลาง จากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุขอย่างเดียว แต่ต้องได้รับการมีส่วนร่วมจากพื้นที่ด้วย และการที่นายแพทย์ไพฑูรย์ทำงานปฐมภูมิมาโดยตลอด ทำให้รู้ว่าแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งมาตรการกลางและข้อปฏิบัติทุกข้อไม่สามารถใช้งานกับทุกพื้นที่ได้ ควรปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทแต่ละพื้นที่ จึงมีแนวคิดที่จะระดมความร่วมมือจากทุกฝ่ายมาร่วมพูดคุยกันและมองว่า หากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนออกแบบพวกเขาจะยอมรับการจัดการได้ดีกว่าการสั่งการ ทางกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ที่มีภารกิจในการลดช่องว่างการเรียนของเด็กอยู่แล้ว ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ไปซ้ำเติมให้เกิดช่องโหว่เพิ่มขึ้น จึงเห็นความสำคัญ นายแพทย์ไพฑูรย์จึงเสนอเป็นโครงการการพัฒนาภาคีเพื่อการเปิดโรงเรียนอย่างปลอดภัยในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในจังหวัดกำแพงเพชร(กำแพงเพชรโมเดล)ขึ้นมา
กระบวนการดำเนินงานช่วงแรก คือ คิดว่าจะทำอย่างไรให้ในโรงเรียนมีสิ่งแวดล้อม สถานการณ์ที่ปลอดภัยแล้วลดการติดต่อ โดยการวิเคราะห์ว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง อันดับแรกคือเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกัน ครูและบุคลากรในโรงเรียนต้องฉีดวัคซีนให้ครบ 100 % ซึ่งก็สามารถโน้มน้าวให้ครูในโรงเรียนฉีดวัคซีนได้ 100% รวมถึงนักการภารโรง แม่ครัวได้รับการฉีดวัคซีนหมด อันดับที่ 2 ถ้าเด็กป่วยแล้วกลับไปบ้าน ผู้ปกครองมีความเสี่ยงก็จะขอให้ผู้ปกครองมาฉีด ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ปกครองก็มาฉีด ประจวบกับช่วงปลายปีวัคซีนมีเพียงพอ ทำให้ผู้ปกครองฉีดได้มากกว่า 90% แต่ก็มีผู้ปกครองบางส่วนที่ไม่ยอมฉีด ซึ่งในกลุ่มนั้นเองก็ต้องคุยกับทางโรงเรียนว่าจะทำอย่างไรในการที่จะเฝ้าระวังเด็ก หรือจะทำอย่างไรถ้ามีปัญหา สิ่งที่โครงการอยากจะได้อีกอย่างคือ มาตรการที่ถูกสั่งการมาจากส่วนกลาง โรงเรียนสามารถดำเนินการได้มากน้อยขนาดไหน สิ่งไหนที่เป็นปัญหา ก็จะมาร่วมแลกเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงเราได้เห็นข้อจำกัดในหลายๆเรื่อง เช่น โรงเรียนที่มีเด็กจำนวนมากจริงๆ เราคิดว่าเราจะออกแบบการจัดการที่จะทำให้โรงเรียนสามารถรองรับการเรียนการสอนได้ดีกว่าเดิมได้ไหม ซึ่งมีหลายๆโรงเรียนพยายามที่จะออกแบบ บางอย่างไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนจากส่วนกลาง ก็ต้องให้คนในพื้นที่ช่วยกันคิดช่วยกันทำ
ในด้านของ พัชนีพร อินทรสูต ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโพธิ์พัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร ช่วงก่อนเปิดภาคเรียนก็เกิดความกังวลใจ กลัวว่าจะไม่สามารถดูแลเด็กได้อย่างทั่วถึงและเกิดความผิดพลาดในการคัดกรองจนทำให้มีการติดเชื้อในโรงเรียน แต่ในความกลัวนั้นก็ยังเชื่อว่า จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อยู่ถึงแม้ว่าจะมีเด็กที่ติดเชื้อก็จะไม่ขยายไปในวงกว้าง เพราะมั่นใจในสถานการณ์ของชุมชน กระบวนการในการทำงานประสานกันระหว่างโรงเรียน บ้านและชุมชน การติดต่อสื่อสารกันตลอดเวลา โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพสต.) จะทำหน้าที่ให้คำแนะนำ แจ้งข่าวสารและจัดวัคซีนให้เด็ก ครู บุคลากร ผู้ปกครองได้รับอย่างทั่วถึง หากมีคนแปลกหน้าหรือคนต่างจังหวัดเข้ามาในพื้นที่ อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน(อสม.)จะทำงานร่วมกับสาธารณสุขในการช่วยคัดกรองคนเข้าออกหมู่บ้านและแจ้งข่าวสารให้กับผู้นำชุมชน ชาวบ้านและโรงเรียนให้มีการระมัดระวังและสอดส่องดูแลกันมากขึ้น หากเป็นญาติของครอบครัวเด็กๆในโรงเรียน ครูก็จะไปพูดคุยให้เด็กคนนั้นหยุดเรียนและกักตัวอยู่บ้าน 14 วันเพื่อความปลอดภัยของคนอื่น รวมถึงโรงเรียนเองก็ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด โดยอิงมาตรการกลางเป็นหลัก บางอย่างก็มีการปรับให้เข้ากับบริบทในโรงเรียนเพราะไม่สามารถปฏิบัติตามได้ทั้งหมด เช่น ห้องเรียนที่จำกัดนักเรียนเพียง 25 คนต่อห้อง แต่เนื่องจากที่โรงเรียนมีนักเรียนที่เกิน 25 คนต่อห้องมา 3-4 คนใน 3 ชั้นเรียน ซึ่งในบางวันเด็กก็ไม่ได้มาเรียนเต็มชั้น ทำให้รักษาระยะห่างได้พอสมควร
อีกทั้งทางเขตพื้นที่ได้รับการประสานจากนายอำเภอ ขอข้อมูลครูทั้งหมดที่มีความประสงค์จะฉีดเพื่อดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับครู ซึ่งครูก็ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกเกิน 85% ตามหลักเกณฑ์ที่สาธารณสุขกำหนดในการเปิดเรียน เด็กก็เริ่มทยอยฉีด ซึ่งเด็กเกิน 12 ปีก็ได้รับวัคซีนครบ 100% แล้ว เหลือแต่เด็กชั้นประถมศึกษาที่อายุกำลังจะครบ 12 ปีที่ค่อยๆทยอยฉีด รวมทั้งหมด 4 รอบที่ผ่านมา ส่วนผู้ปกครอง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลก็จะเป็นผู้ดูแล ปกติมีกำหนดสถานที่ฉีดของอำเภอเพียงจุดเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกชาวบ้านถึงที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจึงประสานกับสาธารณสุขอำเภอขอให้เป็นพื้นที่แยกออกมา โรงเรียนจึงมีส่วนร่วมในการจัดสถานที่ฉีดวัคซีน โดยที่ผู้ปกครองไม่ต้องเดินทางไปถึงที่อำเภอกำหนด ทำให้เปอร์เซ็นฉีดวัคซีนของผู้ปกครองสูงขึ้น ก็จะทำให้เด็กปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ผอ.พัชนีพร มองว่าเป็นปัจจัยที่อาจทำให้กำแพงเพชรลดระดับความรุนแรงของการระบาดมาเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง(สีเหลือง) เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
“ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญที่สุดที่น่าจะทำให้กำแพงเพชรเปิดเรียนได้อย่างปลอดภัย คือ รพสต. อสม. ผู้นำชุมชน ครู ผู้ปกครอง มีความใกล้ชิด สื่อสารและทำงานร่วมกันตลอด เราช่วยกันเป็นหูเป็นตา”
ความคิดเห็นจากนายแพทย์ไพฑูรย์ก็สอดคล้องกันกับผอ.พัชนีพร เพราะความเข้มแข็งของเครือข่ายและ กำแพงเพชรมีระบบการจัดการ ซึ่งการระบาดทุกครั้งจะเกิดจากคนนอกพื้นที่เข้ามา จึงมีระบบเฝ้าระวังที่ทั้งส่วนปกครองและสาธารณสุขวางไว้ในชุมชน พอเจอเคสก็เข้าไปจัดการตั้งแต่แรก ทำให้ไม่มีการระบาดในวงที่สอง หลังจากที่ได้ร่วมพูดคุยกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรู้สึกว่าสิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติม คือ เราต้องวางมาตรการสำคัญเพิ่มเติมของคนที่เข้ามาจากต่างพื้นที่ ซึ่งหากเป็นญาติ คนรู้จักของครอบครัวเด็กคนใดคนหนึ่งเข้ามาในพื้นที่ก็จะต้องรับผิดชอบให้ตรวจ ATK เอง ให้เว้นระยะห่างและเด็กอาจต้องหยุดเรียนชั่วคราว เพราะถือว่าการเปิดเรียนอย่างปลอดภัยคือความรับผิดชอบร่วมกัน ถ้าเราสามารถตัดวงจรตรงนี้ได้ โอกาสที่คนนอกพื้นที่เข้ามาแล้วแพร่เชื้อไปยังเด็กก็จะลดลง อีกอย่างเขามองว่าสิ่งที่ต้องนำมาคำนึงถึงในการเปิดโรงเรียนก็คือ สถานการณ์การระบาดในพื้นที่ เพราะฉะนั้นโรงเรียนที่ไม่มีเคสเลยก็ควรจะเปิดโรงเรียนให้เด็กมาเรียนได้ตามปกติ เพียงแต่จะต้องมีมาตรการเข้ามาควบคุมเท่านั้น