กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับกทม.เชื่อมโยงฐานข้อมูลนักเรียน เตรียมจัดสรรทุนเสมอภาค หวังแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบ พร้อมเปิดศูนย์ช่วยเด็กที่มีภาวะวิกฤตทางการศึกษา หลังพบว่าที่ผ่านมา กทม.มีช่องว่างความเหลื่อมล้ำและค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสูงกว่าเฉลี่ยทั้งประเทศ 2 เท่า โดยดร.ไกรยศ ภัทราวาท ผู้จัดการกสศ. กล่าวในการแถลงความร่วมมือครั้งนี้ว่า จากการศึกษาด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ในพื้นที่กรุงเทพฯ ในเด็กนักเรียนอายุต่ำกว่า 15 ปี พบว่ามีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเฉลี่ย 37,257 บาทต่อคนต่อปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศที่มีค่าใช้จ่าย 17,832 บาทต่อคนต่อปี และหากเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายทางการศึกษา ระหว่างเด็กในครอบครัวยากจนร้อยละ 10 ล่างสุดของกรุงเทพ กับเด็กจากครอบครัวที่รวยที่สุด พบว่าห่างกันถึง 12 เท่า ซึ่งจากตัวเลขนี้แสดงให้เห็นคุณภาพการศึกษาของเด็กกลุ่มยากจน และเด็กกลุ่มร่ำรวย ว่ามีโอกาสได้รับแตกต่างกัน
ที่ผ่านมา กสศ.ได้ร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัดด้านการศึกษามาแล้ว 5 หน่วยงาน โดยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก ที่ร่วมกับหน่วยงานสังกัดกรุงเทพฯ ที่จะสร้างหลักประกันการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ให้ครอบคลุมสถานศึกษาสังกัดกรุงเทพฯ ด้วยการวางระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (CCT) ที่ให้ครูประจำชั้นทุกโรงเรียน ได้มีเครื่องมือเยี่ยมบ้านนักเรียน พร้อมคัดกรองสถานะความยากจนเป็นรายครัวเรือน แล้วนำมาประเมินความเสี่ยง ว่าเด็กมีโอกาสที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาหรือไม่ รวมทั้งนำข้อมูลที่ได้ ไปใช้พิจารณาสนับสนุนมาตรการต่างๆ
สำหรับการร่วมมือกันระหว่างกสศ. และกทม.ครั้งนี้เป็นการเชื่อมต่อฐานข้อมูล นำไปสู่การสนับสนุนทุนจากแหล่งทุนอื่นด้วย รวมทั้งเชื่อมโยงสู่การเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เพื่อลดอัตราเด็กที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา และเพิ่มโอกาสการศึกษาต่อที่สูงกว่าภาคบังคับ ตามศักยภาพของผู้เรียนต่อไป เพราะกสศ.มองว่า สถานศึกษาในสังกัด กรุงเทพฯ กว่า 400 แห่งนี้ เป็นความหวังและเป็นกลไกที่สำคัญในการป้องกันเด็กกลุ่มด้อยโอกาส หลุดออกจากระบบการศึกษา และเป็นส่วนช่วยดึงเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา จากปัจจัยต่างๆกลับเข้าสู่ระบบ ซึ่งโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพฯมีข้อดีคือ นอกจากจะให้การศึกษากับเด็กแล้ว ยังมีทุกอย่างที่สามารถดูแลเด็กที่มีภาวะความจำเป็น 20 รายการ โดยเชื่อว่าหากเด็กมีปัญหา สถานศึกษาในสังกัดกรุงเทพฯจะสามารถช่วยเหลือ ดูแลได้อย่างครอบคลุม
ดร.ไกรยศ ยังเห็นว่าการมีศูนย์ช่วยเด็กที่มีภาวะวิกฤตการศึกษา จะช่วยเหลือเด็กกลุ่มที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้ได้ผ่านพ้นวิกฤตและกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ซึ่งคาดหวังไว้ว่าในปีการศึกษา 2565 นี้ นอกจากจะเป็นปีที่มีการฟื้นฟูเรื่องโควิดแล้ว ยังเป็นการแก้ปัญหาด้านความเสมอภาคทางการศึกษาได้ด้วย
ขณะที่ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ.เปิดเผยตัวเลขเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ในปีการศึกษา 2564 ทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวนถึง 238,707 ราย แม้ในจำนวนนี้จะมีเด็กกรุงเทพฯ เพียง 434 ราย เท่านั้น แต่กลับพบว่ากรุงเทพฯเป็นจังหวัดที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเด็กกลุ่มที่มีภาวะยากจนส่วนใหญ่ ยังคงต้องการการศึกษาในระบบ ที่นอกจากจะได้เรียนหนังสือแล้ว ยังได้มีอาหารทานถึง2 มื้อต่อวัน ถือเป็นการช่วยลดภาระให้กับผู้ปกครองได้มาก รวมทั้งโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพฯมีจุดแข็งคือตั้งกระจายอยู่ทุกพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ และยังเป็น Soft Area ให้กับเด็กที่มาจากความรุนแรง มาจากครอบครัวที่มีปัญหา ซึ่งในกรุงเทพฯ มีชุมชนแออัด 641 แห่ง มีกลุ่มคนที่มีภาวะยากจน 8 ด้าน และประชาชนในกลุ่มนี้กว่าร้อยละ 75 มีรายได้เพียงด้านเดียว แต่มีคนที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูหลายคน จึงมองว่าหากไม่มีโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพฯมาช่วยเหลือดูแล เด็กที่อยู่ในกลุ่มครัวเรือนนี้ก็จะหลุดออกจากระบบการศึกษา และหลังจากนั้นเชื่อว่าในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน เด็กเหล่านี้จะมีปัญหาทั้งเรื่องยาเสพติด และความประพฤติที่ไม่เหมาะสม
ศ.ดร.สมพงษ์ ยังมองว่าแม้การเรียนฟรีในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพฯ เป็นการเรียนฟรีอย่างแท้จริง แต่ปัญหาคือโรงเรียน 437 แห่งในสังกัดกรุงเทพฯนั้น ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา กับระดับอนุบาล ขณะที่อีกหลายโรงเรียนก็เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก จึงเห็นว่าหากโรงเรียนเหล่านี้สามารถสร้างเครือข่ายกับโรงเรียนระดับมัธยมได้ ก็จะทำให้เกิดการส่งต่อกันหลังเด็กจบการศึกษาระดับประถมศึกษา และทำให้ กสศ.สามารถเข้าไปสนับสนุนทุนการศึกษาได้อย่างครอบคลุม
ส่วนการที่กสศ.ร่วมกับกรุงเทพฯเชื่อมโยงฐานข้อมูลนักเรียนครั้งนี้นั้น ก็เชื่อว่าจะทำให้ครูมีข้อมูลอย่างเป็นระบบ นำไปสู่การให้คำแนะนำที่เหมาะสม สามารถติดตามหาข้อมูลช่วยเหลือเด็กได้อย่างใกล้ชิดและได้ข้อมูลที่แท้จริงกลับมา ซึ่งจะทำให้เด็กอย่างน้อยร้อยละ 80 รอดจากการหลุดออกจากระบบการศึกษา พร้อมเสนอให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพฯ เป็นโรงเรียนอินเตอร์ติดดิน มีครูสอน 3 ภาษา ทำ Soft Power ร่วมกับฝึกอาชีพให้กับเด็ก ให้เด็กได้แสดงศักยภาพของตนเอง สร้างรายได้ ก้าวพ้นวิกฤตจากความมืด 8 ด้าน และเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพต่อไป