ความรุนแรงกับการแพร่ระบาดของโอมิครอนในเด็ก
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงความรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์นี้ว่า เด็กติดเชื้อโควิค-19 อาการจะน้อยมากหรือไม่มีอาการเป็นส่วนใหญ่ อันตรายถึงชีวิตยิ่งน้อยมากๆ ซึ่งหลักฐานในปัจจุบันก็แสดงให้เห็นชัดว่า การติดเชื้อโอมิครอนมักส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยที่รุนแรงน้อยกว่า เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้าของเชื้อโควิด-19 อย่างเดลตา
เช่นเดียวกันกับอาชา โบเวน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในเด็กจากสถาบันวิจัยทางการแพทย์ของออสเตรเลีย กล่าวว่า การติดเชื้อโควิด-19 ยังคงไม่รุนแรงในเด็ก โดยรวมแล้วเด็กส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อย เช่น น้ำมูกไหล มีไข้ หรือรู้สึกไม่สบายสองสามวัน และสามารถฟื้นตัวได้ค่อนข้างเร็ว
แม้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วโอมิครอนจะไม่ค่อยแสดงอาการรุนแรง แต่การระบาดที่รวดเร็วของโอมิครอนทำให้จำนวนเด็กติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ในหลายประเทศอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของเด็กและวัยรุ่นก็เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา รวมไปถึงกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบที่อัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย การศึกษาในอเมริกายังไม่พบหลักฐานว่ามีความรุนแรงจากโอมิครอนเพิ่มขึ้นในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ แต่ในช่วงที่โอมิครอนมีการระบาดสูงมาก การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม เป็นการก้าวกระโดดที่ไม่เคยเห็นในกลุ่มอายุน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ ซึ่งมีแนวโน้มที่คล้ายกันกับสหราชอาณาจักร ซึ่งเด็กเหล่านี้เป็นเพียงกลุ่มเดียวที่ยังไม่มีสิทธิ์รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในขณะนั้น
ในขณะที่ประเทศไทยเองก็พบจำนวนผู้ป่วยโควิดในเด็กเพิ่มสูงขึ้นหลังจากโอมิครอนเข้ามา หากดูจากข้อมูลการติดเชื้อในเด็กของศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 ในช่วงแรกๆจำนวนเด็กติดเชื้อวันละหลักร้อยจนในปัจจุบันขึ้นเป็นหลักพัน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าโอมิครอนสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและเมื่อโอมิครอนระบาดหนักก็ส่งผลให้เด็กเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้น อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยง โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน
“วัคซีน” สิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันเด็กกลุ่มเสี่ยงและลดความรุนแรง
ถึงแม้ว่าโควิด-19 ดูเหมือนจะไม่รุนแรงในเด็กส่วนใหญ่ แต่การฉีดวัคซีนก็ยังคงช่วยป้องกันกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ และลดความเสี่ยงในการเกิดอาการร้ายแรงในเด็ก หลักฐานในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่า เด็กที่มีภาวะทางพันธุกรรม ระบบประสาท หรือระบบเผาผลาญที่ซับซ้อน รวมไปถึงผู้ที่เป็นโรคหัวใจหรือปอด มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้น และที่คล้ายคลึงกันกับผู้ใหญ่ คือเด็กที่เป็นโรคอ้วน เบาหวาน หรือโรคหอบหืดรุนแรงก็อาจมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งในเด็กกลุ่มนี้ควรจะได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดส
โรเบิร์ต บูย์ กุมารแพทย์ด้านโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ของออสเตรเลีย บอกว่า สำหรับเด็กส่วนใหญ่ที่ไม่มีปัญหาสุขภาพ เพียงวัคซีนแค่ 1 โดสก็มีแนวโน้มที่จะช่วยป้องกันได้ในระดับสูง นอกจากนี้การฉีดวัคซีนยังช่วยป้องกันการเกิดอาการร้ายแรงในเด็กจากการติดเชื้อ เช่น ป้องกันอาการอักเสบในอวัยวะหลายส่วน ซึ่งทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น มีไข้ต่อเนื่อง ปวดท้องและมีผื่นขึ้น เด็กประมาณ 1 ใน 3,000 คนจะมีอาการอักเสบจากหลายระบบ 2-3 สัปดาห์หลังการติดเชื้อ ซึ่งการวิจัยบอกว่า หากได้รับวัคซีนจะสามารถป้องกันได้ร้อยละ 90