12 ปี คือระยะเวลาของการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เด็กนักเรียนคนหนึ่งจะต้องใช้ชีวิตไปกับการเรียนรู้ผ่านระบบโรงเรียน เป็นช่วงเวลายาวนานพอที่จะมีผลต่อการสร้างตัวตนและส่งผลต่อการเติบโตของเด็กคนหนึ่งได้ นักเรียนที่เติบโตและร่ำเรียนมากับระบบการศึกษาไทยจะพบว่า ใน 1 ภาคการศึกษา มีจำนวนวิชามากมายที่ต้องศึกษาเล่าเรียน ไม่ว่าจะคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ฯลฯ ที่อัดแน่นเต็มตารางจนแทบไม่มีเวลาหายใจหายคอ เพื่อมุ่งหวังให้นักเรียนเป็นเลิศทางวิชาการ ทว่าในอีกด้าน วิชาที่ว่าด้วยทักษะอื่นๆ ในการพัฒนาด้านอารมณ์และสังคม ที่จะช่วยให้เด็กๆ มีความสามารถในการรับมือและจัดการกับสภาวะต่างๆ ที่ต้องเผชิญได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลับได้รับความสำคัญน้อยกว่าที่ควร ทั้งที่ในความจริงแล้ว ทักษะดังกล่าวมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าทักษะทางวิชาการ การให้ความสำคัญกับทักษะที่เป็น soft skills น้อยกว่าที่ควรจะเป็นกลายเป็นหนึ่งในปัญหาของระบบการศึกษา และเป็นความท้าทายด้านทักษะในการทำงานของเด็กเมื่อโตขึ้นและเข้าสู่ตลาดแรงงาน
“โรงเรียนไม่มีหลักสูตรที่สอนให้เราเข้าอกเข้าใจคนอื่นเป็น ไม่ได้สอนให้เรากล้าแสดงออก หรือกระทั่งการจัดการเวลา ซึ่งทักษะเหล่านี้สำคัญต่อการใช้ชีวิต ว่าเราจะใช้ชีวิตได้อย่างประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน แต่มันกลับไม่มีอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอน เรามีวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษ แต่เราไม่สอนเรื่องที่มีความสำคัญต่อความสัมพันธ์ต่างๆ ของเรา ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบทางสังคม และองค์ประกอบทางอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกที่เรามี”
โอลิเวอร์ จอห์น (Oliver John) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งสถาบันวิจัยบุคลิกภาพและสังคม มหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียร์ เบิร์กลีย์ (Institute of Personality and Social Research, University of California Berkeley) ผู้ซึ่งทำงานวิจัยในประเด็นนี้อย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 20 ปี ชวนเราตั้งคำถามถึงหลักสูตรการศึกษา และขีดเส้นใต้ความสำคัญของทักษะทางอารมณ์และสังคม ที่โรงเรียนในประเทศไทยเลือกที่จะมองข้าม
ในวาระที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และธนาคารโลก (World Bank) ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องแนวทางการวัดผลทักษะอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Skills Workshop) โดยมีจอห์นเป็นวิทยากร
นอกจากนี้ จอห์นยังได้เล่าเพิ่มเติมว่า จริงๆ แล้วเขาได้ริเริ่มทำโครงการใหญ่โดยเน้นการลงพื้นที่ในสถานศึกษาหรือโรงเรียนในประเทศต่างๆ เพื่อช่วยจัดการอบรมเชิงปฏิบัติให้แก่บุคลากรครูในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือและการสนับสนุนขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD: the Organization for Economic Cooperation and Development) มาตั้งแต่ปี 2013 เพราะพวกเขาเล็งเห็นว่าสถานศึกษาในหลายพื้นที่ยังไม่มีการสอนทักษะทางอารมณ์และสังคมมากเพียงพอ
OECD คือผู้สนับสนุนสำคัญที่ทำให้จอห์นได้เดินทางเพื่อไปเห็นโรงเรียนต่างๆ จากนั้นจึงได้เริ่มทำโครงการใหญ่อีกโครงการหนึ่ง โดยเริ่มต้นที่กรุงเซาเปาโล ประเทศบราซิล ร่วมกับสถาบันแอร์ทอนเซนนา ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญที่พวกเขามุ่งผลักดันประเด็นเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในโรงเรียน รวมไปถึงจัดอบรมเชิงปฏิบัติให้แก่บุคลากรครูหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในประเทศอื่นๆ อย่างกรณีการจัดอบรมที่ประเทศไทยก็ถือเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของจอห์นที่ต้องการจะผลักดันทักษะทางอามรณ์และสังคมให้เป็นเรื่องที่สังคมไทยควรตระหนักรู้ อีกทั้งเป็นเรื่องที่สถานศึกษาหรือโรงเรียนต้องนำไปขับเคลื่อนต่ออย่างจริงจังด้วยเช่นกัน
Equity lab ได้โอกาสพิเศษในการสนทนากับ โอลิเวอร์ จอห์น ถึงเหตุผลที่ว่า ทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับทักษะทางอารมณ์และสังคม หรือ SEL (Social and Emotional Skills) สิ่งนี้สำคัญอย่างไรต่อการเติบโตของมนุษย์
บทบาทและงานที่ผ่านมาของคุณเป็นอย่างไร
งานของผมเป็นเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาคุณลักษณะและทักษะทางอารมณ์และสังคมรวมถึงวิธีการเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยสิ่งหนึ่งที่เราทราบกันมาตั้งแต่ต้นแล้วคือ เราจำเป็นต้องสอนคนเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ เพราะโรงเรียนไม่มีหลักสูตรที่สอนให้เรารู้จักเข้าอกเข้าใจคนอื่นเป็น เราจะกล้าแสดงออกมากขึ้นได้อย่างไร หรือเราจะจัดการเวลาของตัวเองอย่างไร เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้จริงๆ แล้วเป็นทักษะที่มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิต ว่าเราจะใช้ชีวิตได้อย่างประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน แต่มันไม่มีอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอน เรามีวิชาคณิต ฟิสิกส์ ภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษ แต่กลับไม่มีการสอนในเรื่องที่มีความสำคัญต่อความสัมพันธ์ต่างๆ ของเรา ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบทางสังคม และองค์ประกอบทางอารมณ์ที่เกี่ยวกับความรู้สึกที่เรามี อีกทั้งเด็กๆ ในโรงเรียนต่างรู้สึกหงุดหงิด เศร้าสร้อย เครียด เพราะต้องเผชิญกับการสอบและการแข่งขัน เรื่องพวกนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่พวกเขาควรรู้เอาไว้ และเมื่อเราไม่ได้สอนพวกเขา จึงเห็นอย่างชัดเจนว่ามันมีช่องว่างตรงนี้อยู่
ทักษะทางอารมณ์และสังคมสำคัญต่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 อย่างไร
คนที่เคยพูดเรื่องนี้เอาไว้ได้ดีที่สุดน่าจะเป็น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์เจ้าของรางวัลโนเบลชื่อดัง เขาพูดเอาไว้ว่า ความฉลาดน่ะสำคัญก็จริง แต่ก็ยังมีเรื่องอื่นที่สำคัญพอๆ กับการเป็นคนฉลาด หรืออาจจะสำคัญมากกว่าด้วยซ้ำ นั่นคือ ‘จินตนาการ ความสร้างสรรค์ ความช่างสงสัย’ เพราะนี่คือสิ่งที่จะช่วยสร้างความแตกต่างได้มากเป็นพิเศษ ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ มีแต่ความรู้เพียงอย่างเดียวก็คงไม่พอ และสิ่งที่เราค้นพบในงานวิจัยของเราก็คือ เด็กที่ฉลาดกว่าจะเรียนรู้ได้ดีกว่า แต่นั่นไม่ใช่สิ่งเดียวที่สำคัญต่อการเรียนรู้ในโรงเรียน
3 สิ่งที่ไอน์สไตน์กล่าวไว้คือ จินตนาการ ความสร้างสรรค์ และความช่างสงสัย ก็สามารถช่วยคาดการณ์ได้ว่าเด็กจะเรียนรู้ได้ดีกว่าการมีแต่ความฉลาดเสียอีก ความฉลาดเพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ
อีกอย่างหนึ่งที่ผมค้นพบคือ ในรายงานวิจัยที่ผมเขียนเมื่อปี 1994 หรือเกือบ 30 ปีก่อน เราพบว่าเกรดและผลการเรียนถูกคาดการณ์ได้ด้วยทักษะหนึ่งที่เราเรียกว่า ‘การเปิดใจกว้าง’ ซึ่งถือเป็น 1 ใน 3 สิ่งที่ไอน์สไตน์ได้กล่าวเอาไว้ และอีกสิ่งหนึ่งคือทักษะที่เรียกว่า ‘การจัดการตนเอง’ เด็กจัดการเวลาของตัวเองได้หรือเปล่า จัดการสื่อการเรียนต่างๆ ได้หรือไม่ มีเอกสารมีรายงานครบถ้วนหรือเปล่า เหล่านี้เป็นทักษะที่สำคัญต่อชีวิต เพราะเมื่อเราต้องเข้าสู่ช่วงวัยทำงานแล้ว เราก็ต้องมาให้ตรงเวลา ต้องทำงานให้เสร็จ ทักษะเบื้องต้นเหล่านี้สามารถฝึกฝนกันได้ในโรงเรียน และเป็นทักษะที่จะติดตัวไปตลอดชีวิตและทำให้เราพัฒนาขึ้น ไม่ใช่แค่ในโรงเรียนหรือในมหาวิทยาลัย แต่รวมไปถึงวัยทำงานด้วย
ทักษะ SEL จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างไรได้บ้าง
สิ่งหนึ่งที่เยี่ยมยอดมากๆ ก็คือว่าเราสามารถสอนทักษะเหล่านี้ให้ทุกคนได้ พูดอีกอย่างก็คือ ถึงแม้ว่าผู้ปกครองของเด็กๆ ที่ยากจนจะมีการศึกษาที่ด้อยกว่าและมีทรัพยากรสำหรับเรื่องแบบนี้น้อยกว่าก็จริง เราก็ยังสามารถสอนทักษะทางอารมณ์และสังคมให้พวกเขาได้ และจริงๆ แล้วเราพบว่าความเห็นอกเห็นใจอาจจะเป็นสิ่งที่สอนให้กับเด็กด้อยโอกาสได้ง่ายกว่าเสียด้วยซ้ำ เพราะพวกเขาเข้าใจสิ่งเหล่านี้ดีว่าความลำบากในชีวิตคืออะไร
ดังนั้น หากเรามาลองคิดกันดู ส่วนมากเด็กที่มีโอกาสจะมีผู้ปกครองที่มีเงินและอิทธิพล ถึงแม้พวกเขาจะไม่มีทักษะทางอารมณ์และสังคม พวกเขาก็ยังมีกันชนอยู่ แต่เด็กที่ยากจนจะได้ประโยชน์เป็นอย่างมากจากทักษะเหล่านี้ สำหรับสิ่งที่เราคาดหวัง และสิ่งที่เรามีอยู่แล้วก็คือ ข้อมูลบางส่วนจากโครงการที่บราซิลที่ชี้ให้เห็นว่า การมีทักษะทางอารมณ์และสังคมที่ดีนั้นเป็นตัวช่วยอีกอย่างหนึ่งที่จะดึงเด็กให้หลุดพ้นจากความยากจน ทำให้พวกเขามีการศึกษาที่ดีขึ้น และมีโอกาสที่จะมีชีวิตที่ก้าวหน้ามากขึ้นได้
ที่จริงแล้วยังมีงานวิจัยที่ดีมากๆ ของ เจมส์ เฮ็กแมน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ เขาได้วิเคราะห์ข้อมูลชุดหนึ่งจากการกระตุ้นพัฒนาการในเด็กปฐมวัย และพบว่าเด็กๆ ที่ค่อนข้างยากจนที่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการสามารถเติบโตขึ้นและชีวิตที่ดีกว่าเดิมได้ เพราะพวกเขาได้เรียนรู้ทักษะทางอารมณ์และสังคมเหล่านี้
ผลการประเมินทักษะ SEL จะถูกนำมาปรับใช้ตั้งแต่ในระดับตนเอง ครอบครัว การทำงาน และการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายได้อย่างไร
มันง่ายกว่าอยู่แล้วครับที่จะมองในเชิงนโยบาย เพราะเราก็พอจะบอกได้ว่ามีทักษะไหนบ้างที่เด็กๆ ในประเทศไทยยังไม่ได้รับการเรียนรู้ที่มากพอ สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากที่ผมได้ยินระหว่างการอบรมก็คือ ‘ความกล้าแสดงออก’ โดยเฉพาะการปฏิเสธ หรือการบอกถึงสิ่งที่เราต้องการ ซึ่งค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่แสดงออกได้ยากในประเทศไทย เพราะเป็นสังคมที่มุ่งเน้นไปที่ความปรองดอง ผู้คนรักใคร่กลมเกลียว และสุภาพอ่อนน้อมต่อกันและกัน ความกล้าแสดงออกจึงกลายเป็นสิ่งที่ดูเหมือนก้าวร้าว
ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่เราเห็นก็คือ การที่คนบางกลุ่มในบางประเทศจะพัฒนาทักษะบางอย่างได้ยากกว่าประเทศอื่น เพราะเป็นเรื่องในระดับของสังคมทั้งหมด รวมถึงในระดับครอบครัวด้วย เช่น บางครอบครัวมีความลำบากในเรื่องการจัดการตนเอง การจัดการเวลา เมื่อพวกเขาส่งลูกๆ ไปโรงเรียน โรงเรียนก็จำเป็นต้องช่วยสอนทักษะเหล่านั้นให้มากกว่านี้ เพื่อช่วยดึงให้ทุกคนขึ้นมาอยู่ในระดับที่เราอยากให้พวกเขาเป็น
เราอาจมองคนเป็นกลุ่มๆ ก็ได้ครับ แต่เราก็สามารถมองไปที่เด็กแต่ละคน แต่ละครอบครัวได้ และพยายามให้ความช่วยเหลือเป็นการเฉพาะได้เช่นกัน ผมขอยกตัวอย่างนะครับ ผมจะพูดเรื่องนี้ในการอบรมคือ การที่เด็กผู้หญิงในช่วงอายุ 12-13 ปี จะเริ่มรับมือกับอารมณ์ในเชิงลบไม่ค่อยได้ และจะมีปัญหากับอารมณ์เชิงลบมากกว่าเด็กผู้ชาย เด็กผู้หญิงจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือ ต้องเรียนรู้กลยุทธ์และเทคนิคต่างๆ มากกว่า เพื่อควบคุมอารมณ์ของตัวเอง และโรงเรียนส่วนมากไม่ได้ทำอย่างนั้นใช่ไหมละครับ เด็กผู้หญิงจึงต้องอยู่กันอย่างเงียบๆ ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ก้าวร้าว เราก็มักคิดว่าเด็กไม่เป็นอะไร แต่จริงๆ แล้วเด็กกลับทุกข์ทรมานอยู่ในใจ เราจึงจำเป็นที่จะต้องสอนทักษะเหล่านั้น
หลักการประเมินผลของทักษะ SEL ทำอย่างไร
เราจำเป็นต้องรู้ว่าคนเราต้องการความช่วยเหลือในเรื่องไหน เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือเขาอย่างเหมาะสม ยกตัวอย่าง เรามีข้อมูลว่าเด็กผู้หญิงในช่วงอายุ 12-13 ปี หรือ 14-15 ปี มีสมรรถภาพทางอารมณ์และสังคมอย่างไร จากนั้นเราก็จะสามารถบอกคนที่กำหนดนโยบายได้ สามารถบอกครูผู้สอนได้ ว่าเราต้องใส่ใจดูแลไม่ให้เด็กผู้หญิงเป็นโรคซึมเศร้า ไม่ให้ทำเรื่องร้ายแรงอย่างเช่นการกรีดตามร่างกายตัวเอง ซึ่งอันนั้นเป็นปัญหาใหญ่มาก
อีกสิ่งหนึ่งที่เราคุยกันระหว่างการอบรมคือเรื่อง ‘การรังแก’ (bully) ซึ่งเป็นปัญหาร้ายแรงอีกปัญหาหนึ่งที่เราต้องอบรมสั่งสอนเด็กๆ เพื่อที่ว่าพวกเขาจะได้นำทักษะทางอารมณ์และสังคมมาใช้รับมือกับเรื่องนี้ได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น ถ้าจะให้ดีที่สุด หลักการก็จะเป็นการไปหาคำตอบจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียหลายๆ ฝ่าย จากเด็กๆ เอง จากครูผู้สอน และจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ว่าพวกเขามีปัญหาอะไรบ้าง และมีอะไรบ้างที่เป็นจุดแข็ง เพราะลูกหลานของเรามีจุดแข็งมากมาย แต่เราก็ควรรู้ด้วยว่ามันมีอุปสรรคอะไรอยู่บ้าง โดยหลักแล้วเราต้องหาข้อมูลจากคน 3 กลุ่มนี้ออกมาให้ได้มากที่สุดเสียก่อน เพื่อที่จะนำมาเปรียบเทียบกันได้ และจะได้เห็นว่าทุกอย่างส่งผลต่อกันอย่างไร จากนั้นจึงออกแบบหลักสูตรที่มีประโยชน์จริงๆ ขึ้นมาได้
มีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จใดบ้างที่สามารถนำมาเล่าให้ฟังได้
อันนี้น่าสนใจมาก คือผมมีลูกสาว 2 คน คนโตเพิ่งจะเรียนจบไป ลูกผมเข้าโรงเรียนรัฐทั้งคู่ เพราะผมเชื่อในระบบการศึกษาของรัฐ และเชื่อว่าการศึกษาเป็นหนึ่งในหนทางที่จะช่วยให้เราสร้างความเท่าเทียมขึ้นมาได้จริงๆ โดยเราสามารถทำให้เด็กๆ มีชีวิตที่ดีกว่าที่พ่อแม่ของพวกเขาเคยมีได้
ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากจริงๆ ลูกคนเล็กของผมได้เรียนวิชาทักษะทางอารมณ์และสังคม หรือเรียกว่า ‘กล่องเครื่องมือทางอารมณ์และสังคม’ ซึ่งจะมีเครื่องมือ 12 อย่างที่เด็กๆ ต้องเรียนรู้ และเด็กทุกคนในโรงเรียนจะได้ใช้เครื่องมือใหม่ในทุกๆ เดือน และผมได้ทราบจากคนที่มาร่วมอบรมว่า ‘การกำหนดลมหายใจ’ ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีการใช้กันในประเทศไทยด้วย โดยการหายใจลึกๆ เพื่อตั้งสมาธิไปที่ลมหายใจ ทำให้ลดความเครียดและอารมณ์เสียน้อยลง ตรงนี้ทำให้ผมรู้ว่าเครื่องมือบางอย่างนั้นก็มีใช้อยู่แล้วในประเทศไทย แต่ก็มีเครื่องมืออย่างอื่นอีกที่ผมรู้มาว่าคนไทยอาจนำไปปรับใช้ได้ยากกว่า
นอกจากนี้ จะมีเครื่องมือหนึ่งที่คนรู้จักกันดีมากๆ ที่เราเรียกว่า ‘ถังขยะ’ สมมุติว่ามีป้าคนหนึ่งมาพูดอะไรบางอย่างกับเราตอนนี้ว่า “เอ้อ…นี่อ้วนขึ้นใช่ไหม” หรืออะไรสักอย่างที่อาจจะทำร้ายจิตใจเรา แทนที่จะยอมให้คำพูดเหล่านั้นมาทำร้ายความรู้สึก เราก็อาจจะบอกตัวเองว่า ป้าเขาก็แค่พูดไปเรื่อยเปื่อย จริงๆ แล้วเขามีเจตนาที่ดี แล้วเราก็รับคำพูดนั้นมา คิดว่ามันเป็นเหมือนกับกระดาษแผ่นเล็กๆ ที่เขายื่นให้แก่เรา แล้วเราก็ขยำมัน โยนทิ้งลงไปในถังขยะ ไม่จำเป็นต้องเก็บมาคิดต่อ และไม่ปล่อยให้คำพูดเหล่านั้นมาทำให้รู้สึกแย่ โกรธ หรือเศร้า แล้วบอกกับตัวเองว่า “เอาล่ะ ฉันจะไปทำอะไรๆ ที่ฉันอยากทำให้ชีวิตตัวเองต่อแล้ว”
เครื่องมือเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากๆ และมีหลักสูตรวิชาทำนองนี้อยู่เยอะเลยในสหรัฐอเมริกา แน่นอนว่าปัญหาก็คือการหาหลักสูตรที่ดี ที่เหมาะสม เช่นว่าเหมาะสมกับกลุ่มอายุนั้นๆ ของเด็ก หรือกับโรงเรียนที่ประเทศไทยหรือไม่ จะสามารถนำมาปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ ได้อย่างไร นั่นเป็นคำถามที่สำคัญครับ เราจะหาหลักสูตรที่เหมาะสมได้อย่างไร บางทีเราอาจจะต้องลองก่อนสัก 3-4 หลักสูตร แล้วมาดูว่าอันไหนเข้าท่าที่สุด แต่เรื่องของเรื่องก็คือ ถ้าเราจะสอนให้เด็กใช้เครื่องมือเหล่านี้ เราต้องทำให้เด็กเชื่อก่อนว่ามันจะได้ผล และต้องเชื่อว่าสามารถนำไปใช้ได้จริงด้วย
ผมคิดว่าเราอาจต้องทำงานกันต่ออีกสักระยะก่อนที่จะแนะนำได้ว่าสิ่งไหนน่าจะได้ผลกับที่นี่ กับวัฒนธรรมและบรรยากาศแบบนี้ แต่จากทุกอย่างที่ผมเรียนรู้มาเกี่ยวกับประเทศไทย พวกคุณกำลังเดินอยู่ในทางที่ถูกต้องดีงามมากๆ และผมได้ยินมาว่าในชั้นเรียนอนุบาลและประถมต้น ครูจะให้เด็กมานั่งล้อมวงแล้วพูดคุยกับทุกคน คุยกันว่าแต่ละคนรู้สึกอย่างไรบ้าง พวกเขาสามารถสื่อสารเรื่องนี้ออกมาได้ ผมเลยมีความหวังที่ดีมากเกี่ยวกับเมืองไทยครับ
ถ้าจะทำให้แนวคิดนี้ฝังรากและแผ่ขยายในวงกว้าง ต้องทำอะไรต่ออีกบ้าง
เรื่องใหญ่ที่สุดที่อาจจะไม่น่าเชื่อเท่าไหร่คือ การทำให้ครูเข้ามามีส่วนร่วมให้ได้ เพราะเด็กๆ ในปัจจุบันเขาเล่นติ๊กต่อก (Tiktok) เป็นแล้ว พวกเขาสามารถทำอะไรพวกนี้กันเป็นอยู่แล้วใช่ไหมครับ เด็กๆ เลยนำหน้าคนอื่นไปก่อนแล้ว ผู้ใหญ่ต่างหากล่ะครับที่ต้องเรียนรู้มากที่สุด และจากประสบการณ์ของผมนะครับ ครูหลายคนจะบอกว่า “ฉันไม่มีเวลา ฉันมีเรื่องต้องทำเยอะแยะไปหมดแล้ว ฉันต้องสอนเลข ฉันต้องสอนฟิสิกส์ ฉันต้องสอนภาษา อย่าให้ฉันต้องทำอะไรไปมากกว่านี้เลย” ดังนั้น เราต้องโน้มน้าวใจครูให้ได้ก่อนเพื่อที่จะทำให้เรื่องนี้เดินหน้าต่อไปได้ เพราะครูนั่นแหละคือคนที่จะต้องเอาไปสอนในห้องเรียน นอกจากนี้ ผมยังมีโครงการใหญ่ในบราซิลร่วมกับนักวิชาการ และอาจารย์อีกหลายคน ซึ่งสิ่งที่เราได้เรียนรู้ก็คือ ถ้าครูเขาเอาด้วย ถ้าครูเขาตื่นเต้น ถ้าครูเขาบอกว่า “ฉันเอาสิ่งนี้ไปใช้ได้ ฉันใช้เรื่องการกำหนดลมหายใจได้ ฉันมีความเห็นอกเห็นใจมากกว่านี้ได้ มันช่วยให้ชีวิตฉันดีขึ้น” แล้วล่ะก็ การใส่เรื่องนี้เข้าไปในหลักสูตรก็จะง่ายขึ้นเยอะเลย
อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เป็นเรื่องที่ผมเล่าอยู่บ่อยๆ ชั้นเรียนลูกสาวคนโตของผมไม่มีวิชากล่องเครื่องมือ ตอนที่เธออายุ 13 ปี โรงเรียนให้ครูพิเศษคนหนึ่งเข้ามาสอน แล้วเหมือนว่าเด็กๆ จะรู้น่ะครับ ว่าการเรียนนี้จะไม่มีการสอบ ไม่มีการตัดเกรด เด็กๆ จึงมีพฤติกรรมการเรียนที่ค่อนข้างเลวร้ายกับครูมาก ครูคนนี้จะต้องมาสอนเรื่องการฝึกสติ แต่เด็กๆ ทำให้ครูคนนี้อารมณ์เสียมาก จนทำให้ครูตะคอกเด็กออกไปว่า “พวกเธอนี่มันเป็นนักเรียนที่แย่ที่สุดที่ฉันเคยสอนมาเลย” ในขณะนั้นก็มีเด็กผู้ชายแก่แดดคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า “ครูกำลังใช้ทักษะการฝึกสติของตัวเองอยู่เหรอครับ ถึงได้มาตะคอกใส่พวกเรา ครูน่าจะรู้ดีกว่านี้ไหมครับ”
ฉะนั้น เราไม่มีวันเริ่มต้นช้าไปหรอกครับ นั่นเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญ และเราต้องทำให้มันเป็นกิจวัตรประจำวันของโรงเรียน อย่าเอาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้สอนแค่ไม่กี่คาบแล้วจากไป เสร็จแล้วเด็กๆ ก็จะลืมหมดทุกอย่าง มันจะต้องเป็นความพยายามที่คนทั้งโรงเรียนร่วมมือกัน เรื่องนี้ถึงจะเกิดขึ้นได้จริงๆ
ได้ยินมาว่าห้องเรียนของคุณสนุกมาก มีแต่คนชื่นชม อยากทราบว่ามีเคล็ดลับหรือเทคนิคการสอนอย่างไร
อย่างแรกเลยคือผมรักการสอน รักนักเรียนของผม และผู้เข้าร่วมอบรมที่ประเทศไทยต่างก็วิเศษมากเช่นกันครับ พวกเขาฉลาด สนอกสนใจ และช่างสงสัย ผมมีความสุขมากที่ได้เรียนรู้อะไรๆ จากพวกเขา ผมเลยคิดว่า คำแนะนำที่ดีที่สุดที่ผมจะให้ได้ก็คือ เราต้องกระตือรือร้นกับสิ่งต่างๆ ที่เราทำอยู่ เพราะความกระตือรือร้นเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ เราจะเห็นเลยว่า โอ้โห คนนี้เขาสนใจเรื่องนี้จริงๆ นะ และผมมาสอนเร็ว ผมคุยกับนักเรียนที่มาอบรม ผมคุยกับพวกเขาก่อนเริ่ม คุยกับพวกเขาระหว่างช่วงพัก แล้วผมก็อยู่ต่อหลังสอนเสร็จ ผมส่งสัญญาณให้พวกเขารู้ว่า ผมมีความเอาใจใส่จริงๆ นะ มันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผม ผมทำสิ่งนี้ด้วยใจรัก และมันสร้างความแตกต่างได้จริงๆ
อีกอย่างก็คือ เราต้องมีความช่างสงสัย อย่างที่ไอน์สไตน์กล่าวเอาไว้ ผมสงสัยเกี่ยวกับคนที่นี่ คนที่มาร่วมอบรม ว่าพวกเขาคิดอย่างไร เราเลยทำแบบฝึกหัดร่วมกัน ผมสอนไปประมาณชั่วโมงหนึ่งแล้วก็บอกว่า ผมอยากรู้ว่าพวกคุณคิดอย่างไร แล้วเราก็ทำแบบฝึกหัดกัน อย่างหนึ่งที่เราทำก็คือแบบฝึกหัดเรื่อง ‘ความกล้าแสดงออก’ เพราะว่าคนที่มาร่วมอบรมบอกว่า ความกล้าแสดงออกเป็นเรื่องยากของวัฒนธรรมประเทศนี้ เราก็เลยทำแบบฝึกหัดกลุ่ม ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม และมันน่าทึ่งจริงๆ ผมได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก ดังนั้นถ้านักเรียนหรือคนที่ผมสอนรู้สึกได้ว่าผมเอาใจใส่ ว่าผมสนใจในตัวพวกเขา ว่าผมไม่ได้มาที่นี่แค่เพราะผมคิดว่างานของผมมันเจ๋งดี แต่เป็นเพราะผมอยากแบ่งปันให้กับพวกเขา ผมคิดว่านี่เป็นอีกองค์ประกอบสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะสร้างผลลัพธ์ที่ดีได้
จากที่ได้ทำเวิร์กช็อปกับผู้เข้าร่วมอบรมที่ประเทศไทย คิดว่ามีประเด็นอะไรที่แตกต่างจากที่อื่นหรือแตกต่างไปจากความสนใจเดิมอย่างไรบ้าง
ผมคิดว่าเมืองไทยมีวัฒนธรรมที่พิเศษมาก และผมเพิ่งจะเริ่มเรียนรู้เรื่องนี้ได้ไม่นาน สิ่งหนึ่งที่ผมประทับใจก็คือ คนที่นี่มีความโอบอ้อม มีความเอาใจใส่มาก ทักษะอย่างหนึ่งที่ผมสอนอยู่เป็นเรื่องของความเมตตา ความเคารพ และความไว้วางใจ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่จะช่วยเรื่องความสัมพันธ์ระยะยาวของพวกเรา มันช่วยให้เราสร้างความผูกพันกับคนอื่นได้ดีขึ้น และดูเหมือนว่าเป็นทักษะที่คนไทยเข้าถึงได้ง่ายมาก แต่พอเป็นเรื่องความอิสระ การพึ่งพาตัวเอง ความกล้าแสดงออก หรือความสร้างสรรค์ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยส่งเสริม
อีกสิ่งหนึ่งที่เราฝึกกันก็คือ การใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ดีมากครับ มันเป็นสิ่งที่พวกคุณน่าจะลองเอาไปเล่นกันดูบ้าง คือเราจะต้องลองคิดวิธีการใช้วัตถุอย่างหนึ่งในแบบต่างๆ กันออกมาให้ได้มากที่สุด เช่น เราจะใช้ผ้าห่มทำอะไรได้บ้างนะ คนส่วนมากจะคิดว่า นี่คือผ้าห่ม และฉันใช้มันห่มตัวเองเพื่อให้อบอุ่น แต่กลายเป็นว่า ตอนเราทำแบบฝึกหัดเรื่องนี้ พวกเขาคิดวิธีใช้ผ้าห่มออกมาได้มากถึง 27 วิธี และนั่นก็คือการคิดนอกกรอบ การคิดถึงความเป็นไปได้ที่แตกต่างหลากหลาย
มันคือการที่เราไม่ติดอยู่ในกรอบแบบเดียว แต่เราพยายามที่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์ และผมเห็นศักยภาพในการใช้ความคิดสร้างสรรค์อยู่มากเลยครับ หากเราไปถึงจุดที่สามารถให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ในโรงเรียนได้จะวิเศษมากเลยครับ ผมได้ยินมาว่ามีบางโรงเรียนยังใช้วิธีการท่องจำอยู่ เราต้องจำเรื่องต่างๆ เอาล่ะ เราต้องหาจุดสมดุลให้ได้ใช่ไหมครับ ความรู้ก็เป็นเรื่องสำคัญครับ อย่างที่ไอน์สไตน์กล่าวเอาไว้ แต่ความคิดสร้างสรรค์ การคิดนอกกรอบ และการพยายามใช้วิธีที่หลากหลาย ก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน ผมเลยคิดว่าทั้งสองอย่างนี้น่าจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจและสำคัญพอที่จะนำมาต่อยอดได้
หากจะนำแนวคิดนี้มาใช้กับประเทศไทย คิดว่ามีปัญหา อุปสรรค และโอกาสทำให้เป็นจริงได้อย่างไร
อุปสรรคก็คือ มนุษย์เราน่ะวิเศษมาก แต่เราก็ชอบต่อต้านความเปลี่ยนแปลงด้วยเหมือนกัน การเปลี่ยนแปลงมันยาก เพราะเราเคยทำเรื่องนี้ด้วยวิธีแบบนี้มาก่อน และเราคิดว่ามันได้ผลดี ดังนั้น การเกลี้ยกล่อมคนให้ยอมเปลี่ยนจึงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกับคนที่เคยทำเรื่องแบบเดิมๆ มาเป็นเวลาหลายสิบปี และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นเรื่องของ ‘การโน้มน้าวใจคน’ ทำให้คนรู้สึกตื่นเต้นกับเรื่องนี้ แทนที่จะไปบอกว่า “โอ๊ย รัฐบาลกำลังบังคับให้เราทำเรื่องที่เราไม่อยากทำ” เราเลยต้องใช้วิธีที่แยบยลหน่อย เพราะเราไม่อยากให้คนฟังพูดว่า ไม่เอา มันจะทำให้เรามีเวลาสอนฟิสิกส์ สอนเลข น้อยลง คือเรานึกภาพออกเลยนะว่าพอมีคนไปบอกว่า เราต้องสอนทักษะอื่นๆ พวกนี้ด้วยนะ ก็จะมีคนบอกว่า ไม่เอา เป็นความคิดที่แย่มาก เราต้องทำให้ทุกคนอ่านออกเขียนได้และคิดเลขเป็น ซึ่งนั่นก็ถูกครับ แต่เราไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เราสามารถทำทั้งสองอย่างพร้อมกันได้ นั่นคือเรื่องที่สร้างความลำบากอยู่เสมอ การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องยากครับ
โอกาสที่มีอยู่คือ ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ๆ นี่เก่งมากครับ คนที่มาเข้าร่วมอบรมฉลาดกันทุกคน มีความกระตือรือร้นและช่างสงสัยมาก ผมไม่เคยมีงานอบรมที่สนุกและน่าสนใจขนาดนี้มาหลายปีแล้วครับ ผมเลยเชื่อจริงๆ ว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูงมาก และอย่างน้อยก็เห็นได้จากประสบการณ์ที่ผมได้รับจากอบรม ว่าคนที่นี่ตื่นเต้นกับเรื่องนี้มาก และนี่เป็นเรื่องที่พวกเขาอยากจะทำ อย่างเช่นเรื่องบททดสอบความคิดสร้างสรรค์ บทบาทสมมุติ ความกล้าแสดงออก ทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ทุกคนมีความพร้อมที่จะทำ ผมคิดว่าเราพร้อมแล้วสำหรับความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้สิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น
ภาคส่วนไหนควรมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการเรื่องนี้ และควรเริ่มต้นอย่างไร
คือผมไม่ใช่นักการเมืองน่ะครับ ผมเลยจะพูดเรื่องเชิงการเมืองในประเด็นนี้ไม่ได้ บอกไม่ได้ว่าเราควรจะทำเรื่องนี้อย่างไร ตอนนี้ผมกำลังช่วยงานของธนาคารโลก แต่ผมไม่ใช่พนักงานของธนาคารโลกนะครับ ผมเป็นที่ปรึกษา ซึ่งธนาคารโลกเขาค่อนข้างเก่งเรื่องหาตัวผู้เชี่ยวชาญและดึงพวกเขามาร่วมงาน เขาเป็นฝ่ายที่ติดต่อผมมาก่อน แล้วบอกว่าคุณอยากไปสอนที่ประเทศไทยสัก 5 วันไหม คือผมตัวคนเดียว สอนตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น 5 วันรวด ภรรยาผมบอกว่าคุณนี่มันบ้า ไปอยู่ต่างประเทศ 5 วัน แถมไม่รู้จักคนพวกนี้เลยสักคน แต่กลับกลายเป็นว่าผมสนุกมากๆ เลยละครับ ผมจึงคิดว่าน่าจะมีคนหลายคนที่เข้ามาช่วยเรื่องนี้ได้
เนื่องจากผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบช่วยเหลือ ผมคิดว่าพวกคุณมีองค์กรที่ดีมากอย่าง กสศ. ที่กำลังผลักดันเพื่อความเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่าพวกเขาน่าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำเรื่องนี้ให้เป็นจริงขึ้นมาได้ และคิดว่าคุณต้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเข้ามาช่วยด้วยเช่นกัน ถ้าพวกเขาไม่อยากทำ ก็คงเกิดขึ้นจริงไม่ได้หรอกครับ เราจึงต้องหวังพึ่งพวกเขา นอกจากนี้ ผมคิดว่าน่าจะมีแรงผลักดันจากระดับรากหญ้าบ้าง อย่างผู้เข้าร่วมการอบรม 30-35 คน ผมคิดว่าทัศนคติของพวกเขากำลังเปลี่ยนแปลงไป พวกเขาบอกว่า “โอ้โห นี่เป็นเรื่องที่เราเอาไปทำได้จริงนะ” ผมบอกไม่ได้หรอกว่าคุณควรจ้างใคร แต่ผมรู้ว่ามีคนฝีมือดีมากมายที่อยากจะเข้ามาช่วย มีผู้เชี่ยวชาญเก่งๆ อยู่กับเราหลายคน
หากมีโอกาส อยากจะมาทำงานอะไรร่วมกับประเทศไทยอีกบ้าง
พูดได้เลยว่า ผมมีช่วงเวลาที่ดีมาก ได้พบเจอคนที่น่าสนใจมากมาย และผมประทับใจมากจริงๆ มีทั้งคนที่ทำงานด้านการศึกษาของเด็กปฐมวัย คนที่ทำงานกับวัยรุ่น คนที่ทำงานในกระทรวงศึกษาธิการ คนที่เป็นอาจารย์ คนที่ทำงานในภาควิชาเศรษฐศาสตร์ ภาควิชาจิตวิทยา ผมเลยอยากจะคุยกับพวกเขาต่อเรื่อยๆ น่ะครับ คือผมคุยกับบางคนเอาไว้แล้วเกี่ยวกับเรื่องที่เราน่าจะสนใจเหมือนๆ กัน ผมเลยคิดว่านี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมมือที่ดี ผมพร้อมจะเปิดรับครับ หากมีใครอยากทำอะไรมากกว่านี้ และผมรักประเทศไทย แม้ว่าผมเพิ่งมาที่นี่เป็นครั้งแรก ถ้าได้กลับมาเพื่อช่วยเหลืออะไรบางอย่าง ผมจะยินดีมากๆ เลยครับ
คำถามสุดท้าย อยากฝากอะไรถึงคนที่อยากทำและผลักดันเรื่องทักษะ SEL ในประเทศไทย
ตอนนี้เป็นเวลาเหมาะสมที่จะเริ่มนะครับ คนกำลังพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘ทักษะในศตวรรษที่ 21’ ซึ่งก็คือทักษะพิเศษที่เราควรจะต้องมีสำหรับการใช้ชีวิตในยุคโลกาภิวัตน์เช่นนี้ การที่คนเราจะสามารถร่วมมือกันจากต่างพรมแดน ต่างภาษา ต่างประเทศได้ จำเป็นต้องมีความช่างสงสัยและจินตนาการ จำเป็นต้องมีความเข้าอกเข้าใจ เนื่องจากเราต้องทำงานร่วมกับคนอื่นให้เป็น สิ่งเหล่านี้จึงเป็นทักษะที่สำคัญมากในยุคนี้ และผมคิดว่าตอนนี้เป็นเวลาเหมาะที่จะเริ่มต้นกันที่นี่ และจากที่ผมพูดคุยกับคนอื่นๆ มา ทั้งระหว่างการอบรมและหลังจากการอบรม ผมเห็นว่าคนที่นี้พร้อมแล้วครับ ไม่มีเวลาไหนเหมาะไปกว่าตอนนี้อีกแล้ว
หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์โอลิเวอร์ จอห์น (Oliver John) ผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดประเมินผลทักษะอารมณ์และสังคมจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียร์ เบิร์กลีย์ ในฐานะวิทยากรกิจกรรมการประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องแนวทางการวัดผลทักษะอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Skills Workshop) ในระหว่างวันที่ 28 มีนาคม – 1 เมษายน 2022 จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับธนาคารโลก (World Bank) และคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์