เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “สานต่อความคิด ส่งต่อความหวัง สานฝันให้น้องสู่รั้วอุดมศึกษา” ภายใต้โครงการวิจัยเพื่อสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนขาดแคลนทุนทรัพย์ ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ เพื่อระดมความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะต่อการนำมาตรการช่วยเหลือไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีผู้เชี่ยวชาญ แหล่งทุนการศึกษา สถานประกอบการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา มาร่วมกันทำความเข้าใจความท้าทายของน้องๆ และร่วมกันพัฒนาแนวทางช่วยเหลือและสานฝันให้น้องๆ ได้เรียนต่อจนสำเร็จในระดับอุดมศึกษา
ดร.ไกรยศ ภัทรวาส ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่ากสศ. ได้รับนโยบายจากรัฐบาลมาในโครงการ Thailand Zero Dropout ว่าทำอย่างไรจะทำให้เด็กเยาวชนไทยที่เกิดมาฐานะยากจน แล้วก็มีความด้อยโอกาส ไม่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนวัยอันควร แล้วสามารถที่จะทำให้เขาก้าวไปสู่ศักยภาพสูงสุดของเขาในระดับอุดมศึกษาได้ จะทำให้เด็กลุ่มนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่จะพาครอบครัวของเขาออกจากความยากจนได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยผ่านช่วงวิกฤตเศรษฐกิจมาไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง ซึ่งมีส่วนทำให้การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจลดลง อีกทั้งยังมีผลสำรวจว่าอัตราการเกิดของเด็กในปัจจุบันเริ่มลดน้อยลง ซึ่งสวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุที่สูงขึ้น หากไม่สามารถผลักดันให้เด็กกลุ่มยากจนเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้ อาจส่งผลต่อการหลุดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ
การทำงานภายใต้ความร่วมมือของกสศ. กระทรวง (อว.) ทปอ. กยศ. แล้วก็หน่วยงานต่าง ๆ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ นี้ จึงมองห่วงโซ่การพัฒนาคนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงการเข้าสู่วัยแรงงาน ดูแลตั้งแต่ก่อนวัยเรียนแล้วก็พยายามดูแลไม่ให้เด็กหลุดออกไปจากระบบการศึกษาในช่วงชั้นรอยต่อต่าง ๆ จนกว่าจะมาถึงระดับอุดมศึกษา
จากการคัดกรองความยากจนของ กสศ. พบว่า ความเสี่ยงของการหลุดออกจากการศึกษา ส่วนใหญ่มาจากเด็กและเยาวชนกลุ่มที่อยู่ใต้เส้นความยากจน เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้หากไม่ป้องกันให้ดี พวกเขาจะเดินออกจากระบบการศึกษาได้ โดยเฉพาะช่วงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่เป็นรอยต่อที่สำคัญ
“1 ใน 5 ที่เป็นเด็กยากจน ยากจนพิเศษจะออกจากเส้นทางการศึกษาที่ ม.3 แล้วมาออกเยอะอีกทีตอน ม.ปลาย หรือปวช. อีกเกือบ 70% ถ้าเกิดว่าเราดูเด็กที่เคยเรียนด้วยกันในชั้น ม.3 ปีสุดท้ายของการศึกษาภาคบังคับ เคยมีอยู่ 168,000 คน เข้าสู่รั้วมหาลัยได้เพียงแค่ 21,000 กว่าคน หรือ 12% เท่านั้น”
นายปวรินทร์ พันธุ์ติเวช นักวิชาการฝ่ายข้อมูลและติดตามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา วสศ. นำเสนอผลการเชื่อมโยงข้อมูลนักเรียนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์กับข้อมูลการยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาในระบบ TCAS 2567 โดยเน้นข้อมูลนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษที่ได้รับทุนเสมอภาคจาก กสศ. รวมทั้งนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงที่ได้เข้าศึกษาต่อภายใต้ระบบ TCAS พบว่า ในปี 2567 นักเรียนกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบ TCAS ทั้งหมดจำนวน 22,351 คน หรือประมาณ 13.4% ซึ่งมีทิศทางที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนๆ และเด็กที่กสศ. ให้ความช่วยเหลือทั้งหมดในปีนี้ มีสัดส่วนใกล้เคียงกันระหว่างเด็กยากจนและเด็กยากจนพิเศษ ขณะที่ปีที่แล้วเด็กยากจนมีความรุนแรงของความยากจนน้อยกว่าเด็กยากจนพิเศษ ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงในเชิงองค์ประกอบ
หากฉายภาพสถานการณ์รายรอบและการรับเข้าภายใต้ระบบ จะพบว่า ภายใต้เด็กที่เข้าสู่ระบบ TCAS เหล่านี้ มีแนวโน้มที่จะยืนยันสิทธิ์เข้ารอบ Portfolio ซึ่งเป็นรอบแรก กับรอบ Quota ซึ่งเป็นรอบที่สอง จากทั้งหมด 3 รอบ โดยสองรอบรวมกันมีจำนวนเกือบ 3 ใน 4 ของจำนวนนักเรียนที่ยืนยันสิทธิ์ทั้งหมด เนื่องด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น เรื่องของเศรษฐฐานะที่มีความจำเป็นจะต้องเลือกการรับเข้าในรอบที่นักเรียนจะสามารถไปถึงรั้วของมหาวิทยาลัยได้เร็วที่สุด
หากดูสัดส่วนเด็กยากจน โดยแบ่งตามเกรดเฉลี่ย จะพบว่าเด็กที่มีเกรดเฉลี่ย 3.50 ขึ้นไป ร้อยละ 40 อยู่ในกลุ่มเด็กยากจน เกรดเฉลี่ย 3.00 ขึ้นไป มีถึงร้อยละ 70 และหากดูผลสถิติการสอบภายใต้ระบบ TCAS ที่ปีนี้มีการสอบ T-Gat , T-Pat และ A-Level พบว่า คะแนนสูงสุดต่ำสุดและค่าเฉลี่ย ความสามารถในด้านวิชาการเด็กกลุ่มนี้ ไม่ได้ด้อยไปกว่าเด็กภาพรวมของประเทศ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการเข้าถึงการศึกษาของกลุ่มผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่อาจไม่สามารถไปต่อได้ในระดับอุดมศึกษา ด้วยปัจจัยและข้อจำกัดบางอย่าง
รศ.ดร.พร้อมพิไล บัวสุวรรณ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมทีมวิจัย ได้นำเสนอผลการวิจัยเส้นทางความท้าทายของเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา ผ่านการสัมภาษณ์น้องๆ ทั่วประเทศ รวมถึงการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทํางานกับเด็กและเยาวชนใน 6 ภูมิภาค เพื่อวิเคราะห์สาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาของผู้เรียน โดยผู้วิจัยเปรียบเทียบการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของเด็กกลุ่มนี้เหมือนเส้นทาง ส่วนอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาเปรียบเสมือน “ทางโค้ง” ทางโค้งยิ่งคดเคี้ยวมากขึ้น หากมีปัจจัยของรายได้ ครอบครัว การสนับสนุนจากครอบครัว คุณครู รวมถึงทัศนคติ ความชอบ และความสามารถทางวิชาการเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งสามารถสรุป “เส้นทางโค้ง” ออกมาได้ 4 เส้นทางที่นำมาสู่การตัดสินไปต่อ หรือ ไม่ไปต่อ ในเส้นทางการศึกษา
เส้นทางที่ 1: ทุกคนตั้งต้นจากข้อจํากัดเหมือนกันแต่ได้รับแรงหนุนเสริม เช่น ทุน กยศ. หรือ การสนับสนุนจากครอบครัว ทำให้สามารถไปต่อได้
เส้นทางที่ 2: เส้นทางที่เริ่มมืดสลัวแต่มีคนช่วยนำทาง ทำให้สามารถก้าวต่อไปได้แม้ไม่ราบรื่น
เส้นทางที่ 3: การศึกษาไม่ตอบโจทย์ชีวิต หรืออุดมศึกษาไม่ใช่คำตอบ ทำให้บางคนเลือกที่จะไม่เรียนต่อ
เส้นทางที่ 4: อยากไปต่อแต่มองไม่เห็นหนทาง เนื่องจากขาดแรงหนุนและการสนับสนุน
นอกจากนี้ข้อมูลงานวิจัยยังพบปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ที่พบมากที่สุด คือ แรงจูงใจภายในของผู้เรียน รองลงมาคือ ผู้ปกครอง ทุนทรัพย์ ครูและหลักสูตรในบางพื้นที่ นอกจากนี้ข้อเสนอแนะที่พบ คือ การให้คำปรึกษาทางสุขภาพจิต การถ่ายโอนหน่วยกิตที่เชื่อมโยงกับระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น และการสนับสนุนทางเลือกอาชีพที่หลากหลาย รวมไปถึงข้อเสนอแนะให้ตั้ง “มูลนิธิการศึกษา” ร่วมกับภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนเด็กและเยาวชนให้ได้ศึกษา
ในขณะที่ผู้แทนเด็กและเยาวชนในเวที “Social Innovation Hackathon” ได้เสนอแนะต่อมาตรการการช่วยเหลือ ดังนี้
- ด้านการแนะแนวการศึกษา : ควรจัดให้มีครูแนะแนว ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาตอนต้นอย่างเพียงพอและมีคุณภาพ สถาบันอาชีวศึกษาและสถาบันอุดมศึกษาควรสร้างเครือข่ายในการแนะแนวนักเรียนอย่างทั่วถึง และควรมีช่องทางการแนะแนวผ่านระบบออนไลน์
- หลักสูตรและรูปแบบการเรียน : ควรมีความหลากหลายยืดหยุ่น ตามความถนัดและความสนใจของผู้เรียน มีการเรียนการสอนที่เน้นการฝึกปฏิบัติจริงเพื่อเพิ่มทักษะ หารายได้เสริมในระหว่างเรียน การสะสมหน่วยกิตแทนการเรียนรายวิชา ใช้ประสบการณ์ตรงมาเทียบเคียงในการสําเร็จการศึกษา แนะแนวการศึกษาเพื่อให้เด็กมีเป้าหมายในการเรียน การเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา และควรมีสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ
- การสร้าง growth mindset : ควรมีการนําเสนอเรื่องราวชีวิตเพื่อเป็นแรงบันดาลใจ และสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งครูและโรงเรียนเป็นส่วนสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมให้เรียนรู้อย่างมีความสุข พร้อมทั้งจัดกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจนอกห้องเรียน
- ระบบสวัสดิการ : ครอบคลุมการเดินทาง อาหาร วัสดุอุปกรณ์การเรียน อินเทอร์เน็ต รวมถึงที่พักสำหรับนักเรียนที่อยู่ห่างไกล มีกิจกรรมสนับสนุนการหารายได้เสริมเพื่อฝึกฝนประสบการณ์การทำงาน และมีระบบสวัสดิการช่วยเหลือทางครอบครัวของนักเรียน
- ทุนการศึกษาที่ครอบคลุมและเพียงพอ : ควรมีโควต้าพิเศษให้นักเรียนยากจนแต่เรียนดี มีความตั้งใจ และโควต้าสาขาที่สอดคล้องกับการพัฒนาเชิงพื้นที่และท้องถิ่น มีการสนับสนุนทุนการศึกษาต่อเนื่องตั้งแต่มัธยมศึกษา-อุดมศึกษา และสาขาที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน มีการตั้งกองทุนสําหรับนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกและมีสิทธิเข้าศึกษาต่อ ควรขยายระยะเวลาในการชําระค่าธรรมเนียมการศึกษาให้สอดคล้องกับเวลาที่ได้รับเงินกู้ยืม ภาครัฐและสถานประกอบการควรลดหย่อนค่าหน่วยกิตให้กับเด็กยากจนที่เรียนดี
- สวัสดิการช่วยเหลือพิเศษ : ควรมีสวัสดิการให้กับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในด้านการกิน ค่าใช้จ่าย ค่าเดินทาง วัสดุอุปกรณ์ ค่าอินเทอร์เน็ต รวมถึงค่าครองชีพ การมีศูนย์สอบที่ครอบคลุมใกล้เคียง มีระบบติวเสริมสําหรับนักศึกษาที่ทํางานระหว่างเรียน มีศูนย์ให้คําปรึกษาพิเศษและยกเว้นหรือลดค่าสมัครสอบในวิชาต่างๆ
- หลักสูตรและรูปแบบการเรียนที่เน้นการส่งเสริมรายได้ระหว่างเรียน : เนื่องจากค่าครองชีพไม่เพียงพอ จึงต้องการให้หน่วยงานรัฐ มหาวิทยาลัย และเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ สนับสนุนนักศึกษาที่หารายได้ในระหว่างเรียน เช่น มหาวิทยาลัยอาจจะสนับสนุนการเทียบโอนหน่วยกิตในระหว่างเรียนได้
ในเวทีแลกเปลี่ยน “สถานการณ์การศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาและแนวทางการสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา” ได้มีการนำเสนอการวิเคราะห์ข้อมูลระบบ TCAS และการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบ School My Tcas.com ที่มีบทบาทสำคัญในการวิเคราะห์และให้คำแนะนำกับนักเรียน อีกทั้งยังมีการเสนอแนะให้ลดค่าใช้จ่ายในการสมัครเรียนและขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียม การรับนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นและการสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการผ่านรูปแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น เช่น การเรียน Wisdom ที่ผสมผสานการเรียนในมหาวิทยาลัยและนอกมหาวิทยาลัย และความสำคัญของการพัฒนาครูแนะแนว การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเข้าศึกษาต่อในระบบ TCAS ในรอบ Portfolio เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
ในช่วงสุดท้ายของกิจกรรม ทีมผู้วิจัยฯ ได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อขับเคลื่อนมาตรการฯ อย่างเป็นรูปธรรมโดยมีผู้เชี่ยวชาญ แหล่งทุนการศึกษา สถานประกอบการ ตัวแทนเยาวชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วม โดยแบ่งออก 5 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ระบบแนะแนวกับความทั่วถึงและมีคุณภาพ : สถานศึกษาและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้บริหาร ชุมชน และนักเรียน ควรมีนโยบายสนับสนุนจากกระทรวงต่างๆ เพื่อเสริมความพร้อมครูแนะแนวในการเข้าถึงสื่อและข้อมูลที่จำเป็น อย่างไรก็ตาม ปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอและครูไม่ตรงสายยังคงเป็นอุปสรรค ผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์ในการจัดกิจกรรมแนะแนวอย่างมีคุณภาพ โดยแบ่งเป็นการดำเนินการเร่งด่วน เช่น จัดกิจกรรมเปิดบ้านสัญจร และระดับปานกลาง เช่น การสร้างเครือข่ายโรงเรียนระดับอำเภอ เพื่อแบ่งปันทรัพยากรและเพิ่มตัวชี้วัดในการประเมินผู้บริหาร
กลุ่มที่ 2 หลักสูตรและการเรียนการสอนมีคุณภาพ ยืดหยุ่น ตามสภาพของผู้เรียนและความเปลี่ยนแปลง : การจัดสรรเวลาเรียนและความร่วมมือในโรงเรียนยังขาดการประสานงานที่ชัดเจน การแก้ไขต้องเน้นการปรับปรุงหลักสูตร เพิ่มงบประมาณ และสื่อสารกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเสริมศักยภาพครูผ่านการอบรมเพิ่มเติม ลดภาระงานครูเพื่อให้สามารถสอนในห้องเรียนได้อย่างเต็มที่ สนับสนุนอุปกรณ์การสอนและประเมินผลหลังการพัฒนา เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนในโรงเรียน
กลุ่มที่ 3 การปรับ Growth Mindset ของเด็ก ม.1-3 เพราะเป็นกลุ่มที่หลุดออกจากระบบจำนวนมาก : พบว่า ปัญหาหลัก คือ การโค้ชชิ่ง การพัฒนาผู้เรียน และการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ โดยใช้เทคโนโลยีและการให้คำปรึกษา การจัดค่ายและส่งเสริมนักเรียนให้ไปศึกษาดูงานภายนอก รวมถึงการทำงานร่วมกับมูลนิธิต่างๆ นอกจากนี้ ควรส่งเสริม “สังคมนักเรียนต้นแบบ” และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในโรงเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ การทำ MOU กับชุมชนและบริษัทต่างๆ รวมถึงการทำงานร่วมกับกรมสุขภาพจิตเพื่อค้นหานักเรียนต้นแบบอาจใช้เวลาพอสมควร
กลุ่มที่ 4 ทำอย่างไรเด็กจะรักการเรียนรู้ตลอดชีวิต : พบว่านักศึกษาขาดแรงบันดาลใจในการเรียนให้จบ เนื่องจากไม่มีเป้าหมายในการเรียนและชีวิต หรือไม่ได้เรียนในคณะที่สนใจตั้งแต่แรก ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ง่ายและรวดเร็วผ่านการสร้างสังคมและแรงบันดาลใจ เช่น การจัดกิจกรรมรับน้อง ค่ายสัมพันธ์ กิจกรรมพี่รหัส/น้องรหัส การปฐมนิเทศ กิจกรรมไหว้ครู และการพบศิษย์เก่า รวมถึงการทำกิจกรรมจิตอาสาทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย เพื่อทำให้การเรียนไม่น่าเบื่อและมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น
กลุ่มที่ 5 นักเรียน ม.3 ต้องได้รับทุนการศึกษาทั่วถึง : การแก้ปัญหาให้นักเรียน ม.3 ได้เรียนต่อถึงระดับอุดมศึกษาและได้รับสวัสดิการที่จำเป็นนั้น ควรมุ่งเน้นการสำรวจความต้องการของเด็กเป็นรายบุคคล เนื่องจากแต่ละคนมีความต้องการที่แตกต่างกัน ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษา ได้แก่ ครอบครัวที่มีรายได้ไม่เพียงพอ การขาดแหล่งทุนสนับสนุน และระบบการแนะแนวที่ไม่ชัดเจน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กยศ., สถาบันการศึกษา, และภาคเอกชน ควรมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน โดยการรวบรวมแหล่งทุนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงสร้างแพลตฟอร์มช่วยเหลือเด็กในการค้นหาทุน