จากสถานการรณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะกับกลุ่มเด็กนักเรียน ที่การพัฒนาการด้านต่างๆ ทั้งวิชาการ อารมณ์ และสังคมต้องหยุดชะงัก เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมที่มีมาช้านานจนเกิดภาวะสะสม ส่งผลให้การศึกษาทางไกลไม่สามารถตอบโจทย์การเรียนรู้ของนักเรียนรายบุคคลได้
โดยจากผลสำรวจการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ภายในครัวเรือน ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2562 พบว่าครัวเรือนที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีจำนวนมาก ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ ขณะที่ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ( OECD) พบว่านักเรียนในโรงเรียนที่มีฐานทางเศรษฐกิจและสังคม 25% ล่างสุดจากดัชนีชี้วัด Economic , Social and Cultural Status หรือ ESCS โดยโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (PISA) มีนักเรียนที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้เพียง 61% เท่านั้น และนักเรียน 1 ใน 4 ยังไม่มีพื้นที่เงียบสงบสำหรับการเรียนหนังสือในบ้าน
จากข้อจำกัดทางสถานะทางเศรษฐกิจครัวเรือนส่งผลให้การเข้าถึงการศึกษาของนักเรียนลดลง นำไปสู่ภาวะ Learning Loss หรือ การเรียนรู้ถดถอย เกิดปัญหาเชิงคุณภาพ ซึ่งเด็กเล็กในระดับอนุบาล เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากการปิดโรงเรียน โดยจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่าการปิดโรงเรียนทำให้การเรียนรู้ของเด็กลดลงเหลือเพียง 1-2 % จากการเรียนรู้ 100% ในการเปิดเรียนปกติ
ผศ.ดร.ยศวีร์ สายฟ้า รองคณบดี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้คำจำกัดความ Learning Loss หรือภาวะการเรียนรู้ถดถอย ไว้ในการเสวนา ชวนคิดชวนคุย ชวนผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเลี้ยงลูก ระบุว่า เป็นภาวะของการเสียโอกาสในการเรียนรู้ที่มีผลทำให้ทักษะต่างๆ ที่เด็กควรจะได้รับการพัฒนาตามช่วงวัยสูญเสีย ส่งผลต่อพัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร ทักษะด้านความสัมพันธ์จากการที่เด็กบางรายอยู่บ้านจนชิน เมื่อต้องไปโรงเรียนอาจเกิดการกลัวการไปโรงเรียน เด็กขาดระเบียบวินัยความรับผิดชอบ โดยเฉพาะในเด็กระดับอนุบาล และประถมศึกษา ที่ขาดการพัฒนาทักษะการเข้าสังคม และทักษะด้านวิชาการอ่าน เขียน
ด้าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและประธานอนุกรรมการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ ระบุถึงภาวะการเรียนรู้ถดถอยไว้ใน งานเสวนาออนไลน์ โรงเรียนเปลี่ยนใหม่ ปิด Gap ห้องเรียนยุคโควิดว่า เด็กนักเรียนแต่ละคน มีพื้นฐานที่แตกต่างกัน มีเด็กจำนวนหนึ่งที่ไม่บรรลุเป้าหมายในการเรียนรู้ และไม่ได้รับการดูแล ทำให้เกิดช่องว่างทางการศึกษา โดยที่ผ่านมา ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยก็มีมาช้านาน เมื่อเจอกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดช่องว่างมากยิ่งขึ้น แม้นโยบายทางการศึกษาจะต้องการให้เกิดความเท่าเทียมกันก็ตาม แต่วิธีปฏิบัติจริงกลับเป็นการสร้างความแตกต่าง ตั้งแต่เรื่องงบประมาณของแต่ละโรงเรียน ที่ให้ทุกโรงเรียนเท่ากันหมด ในขณะที่ความต้องการของแต่ละโรงเรียนแตกต่างกัน จึงเป็นการสร้างความด้อยโอกาสให้กับโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล เกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นเมื่อต้องใช้อุปกรณ์ในการเรียนเพิ่ม รวมไปถึงการจัดการศึกษาที่ต่างกันของโรงเรียนขนาดใหญ่ ที่มีความพร้อมมากกว่าโรงเรียนขนาดเล็ก ทำให้เด็กส่วนหนึ่งต้องประสบกับปัญหาภาวะถดถอยทางการศึกษามากขึ้น
ดังนั้น การจะฟื้นฟู Learning Loss หรือภาวะการเรียนรู้ถดถอย เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กได้อย่างครอบคลุมให้ได้นั้น ต้องทำเป็นรายบุคคล เพราะภาวะการถดถอยของนักเรียนแต่ละคนแตกต่างกัน ครูและสถานศึกษาจะต้องนำผลการเรียนรู้ที่นักเรียนควรจะได้รับ ไปเปรียบเทียบกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง แล้วนำมาวิเคราะห์ เพื่อสนับสนุนให้ตรงกับความต้องการของนักเรียนแต่ละราย ส่วนการลดเนื้อหาในการเรียนสิ่งที่ไม่จำเป็น และเพิ่มวิธีการเรียนรู้โดยการใช้เครื่องมือที่หลากหลายก็เป็นอีกทางเลือกสำคัญในการรับมือกับความต้องการของเด็กนักเรียนแต่ละคนที่แตกต่างกัน
ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ประธานมูลนิธิโรงเรียน สตาร์ฟิชคันทรีโฮม เคยแนะ 5 มาตรการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยไว้ ในกิจกรรรมอบกล่อง Learning Box ว่า จะต้องเริ่มจากการประเมินสภาพแวดล้อมของเด็กและครอบครัว ช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคล ต้องวางแผนของโรงเรียนทั้งระบบ สนับสนุนเครื่องมือและการพัฒนาครู ติดตามและปรับปรุงในระยะสั้นเพื่อแก้ปัญหาให้ทัน
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องประสบปัญหาด้านคุณภาพการศึกษามาโดยตลอด สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.)ได้มีการสนับสนุนงานวิจัยต่างๆเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาพบว่าการจะยกระดับคุณภาพการศึกษาให้กลับมาเท่าเดิมนั้น ควรต้องมีการปฏิรูปตั้งแต่โครงสร้างและนโยบาย ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทำงานร่วมกัน เพราะเด็กถือว่าเป็นความหวังและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป.