ข้อมูลระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 15 พฤษภาคม 2564 เผยตัวเลขการเก็บตัวอย่างส่งตรวจ (SWAB) เพื่อหาเชื้อ COVID-19 เชิงรุก ในชุมชนเขตคลองเตย จำนวน 27,509 ราย พบผลติดเชื้อ 1,400 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.09 ของจำนวนผู้ตรวจเชื้อทั้งหมด
คลองเตยเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ ประกอบด้วย 46 ชุมชนรายรอบ มีจำนวนประชากรจริงและประชากรแฝงเกือบ 200,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงาน มีรายได้วันต่อวัน การระบาดของโควิด-19 นับแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบันที่ล่วงมาเกือบปีครึ่ง จึงถือเป็นช่วงเวลาที่ ประไพ สานุสันต์ ผู้ประสานงานชุมชนและสิทธิชุมชน มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคลในชุมชนคลองเตย มองว่า เป็นเรื่องสาหัสสำหรับคนในชุมชน ไม่ว่าจะเรื่องสุขภาพ เศรษฐกิจ ปากท้อง สภาพจิตใจ ไปจนถึงการศึกษาของเด็กๆ ในชุมชน
ประไพ สานุสันต์ วัย 47 ปี เธอเกิด เติบโต และทำงานด้านการพัฒนาชุมชนคลองเตยมาร่วม 25 ปี หน้างานของประไพเกาะเกี่ยวในหลายประเด็น ทั้งปัญหาผู้สูงอายุ และกิจกรรมด้านเด็กและเยาวชน
“คนคลองเตยส่วนใหญ่มีพื้นเพจากชนบท และย้ายรกรากมาขายแรงงานในเมือง มาบุกเบิกพัฒนาพื้นที่ สร้างเมือง คนคลองเตยมีศักยภาพที่หลากหลายต่างคนต่างฐานะไม่ดี เป็นผู้มีรายได้น้อย หาเช้ากินค่ำ เขาจึงรับรู้ถึงหัวอกของความเป็นผู้ยากไร้ ผู้ลำบากด้วยกัน และเห็นถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน”
คลองเตยในช่วงเวลานี้ถูกพูดถึงในวงกว้างของสังคม ไม่ว่าจะแง่มุมความเป็นอยู่ของชุมชนภายใต้บ้านเรือนหลังคาสังกะสีที่เบียดเสียดกันกว่า 12,000 ครัวเรือน (ซึ่งประไพบอกว่าตัวเลขครัวเรือนในความเป็นจริงอาจมีมากกว่านั้น) ปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่อยู่อาศัย ตลอดจนปัญหาการศึกษาของเด็กๆ จากการปรากฏตัวของ School Town King สารคดีที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่านชีวิตของวัยรุ่น 2 คน จากชุมชนคลองเตย
เราชวนประไพสนทนาตั้งต้นจากประเด็นการศึกษา เพื่อคลี่ให้เห็นสถานการณ์เศรษฐกิจของคนในชุมชน ทั้งในช่วงสถานการณ์ปกติ ไปจนถึงผลกระทบจากโรคระบาด ซึ่งเสมือนวิกฤติใหม่ที่เข้ามาซ้ำเติมปัญหาเดิมของคนคลองเตย
เมื่อเมืองเป็นอัมพาต
สารพัดปัญหาในคลองเตย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเด็กเข้าไม่ถึงการศึกษา เด็กต้องช่วยหารายได้จุนเจือครอบครัว ปัญหายาเสพติด ผู้สูงอายุที่ต้องอยู่ลำพัง หรือเด็กๆ ที่อาศัยอยู่กับผู้สูงอายุเพราะผู้ใหญ่วัยทำงานต้องออกไปหาเงิน ฯลฯ
คลองเตยเผชิญปัญหาหลายด้านมายาวนาน นั่นจึงทำให้ชุมชนมีเครือข่ายการทำงานที่ถือเป็นจุดแข็ง ไม่ว่าจะเครือข่ายผู้นำชุมชน สภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตย มูลนิธิและหน่วยงานต่างๆ ที่เชื่อมโยงการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน กระทั่งในสถานการณ์โควิด ณ ปัจจุบันก็เช่นกัน
‘การศึกษา’ คือหนึ่งในภารกิจสำคัญของพวกเขา
ประไพบอกกับเราว่า ทุกคนในชุมชนให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษา เพราะแน่นอนว่า พวกเขาอยากเห็นเด็กและเยาวชนมีตัวเลือกในอนาคตที่มากกว่ารุ่นพ่อแม่ แต่ถึงอย่างนั้น เงื่อนไขชีวิตและโอกาสทางเศรษฐกิจของคนในชุมชนก็ถือเป็นตัวแปรสำคัญในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กกลุ่มนี้
ในประเด็นการศึกษา เครือข่ายชุมชนมีโจทย์ใหญ่ๆ อยู่ 4 ข้อคือ
หนึ่ง เด็กต้องได้เรียน แม้ไม่มีเอกสารยืนยันตัวตน
สอง เด็กต้องได้ดื่มนม มีข้าวปลาอาหารกิน
สาม เด็กต้องได้รับความปลอดภัย
สี่ เด็กต้องมีคนดูแลระหว่างที่ผู้ปกครองไปทำงาน
แม้การศึกษาไทยจะมีนโยบายเรียนฟรี แต่สำหรับประไพ คำว่า ‘ฟรี’ นั้นไม่ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายรายทางที่ครอบครัวยังต้องจ่าย มากกว่านั้น ปัญหาเศรษฐกิจของครัวเรือนยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กคนหนึ่งไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้
“เด็กบางคนมีภาระหน้าที่ บางวันตอนเช้าต้องช่วยผู้ปกครองหารายได้ก่อนจะไปโรงเรียน ฉะนั้น เราจึงย้ำนักหนาว่าเรื่องปากท้องมันสำคัญ ไม่ใช่ว่าเราไม่เห็นความสำคัญของการศึกษานะ แต่ปากท้องมันสำคัญกว่า การไม่มีกินมันสำคัญกว่า จึงทำให้เกิดช่องว่าง”
หรือแม้กระทั่งการศึกษานอกระบบก็ตาม ยังมีเยาวชนจำนวนไม่น้อยต้องหลุดจากระบบการศึกษากลางคันเพื่อออกไปทำงาน ซึ่งเงื่อนไขที่พวกเขาจะสามารถขยับตำแหน่งหรือปรับอัตราเงินเดือนขึ้นได้นั้น เกี่ยวพันกับวุฒิการศึกษา นั่นแปลว่าเด็กกลุ่มนี้ต้องเรียนควบคู่กับการทำงาน เพราะการเรียนในระบบไม่เอื้ออำนวยให้พวกเขาทำได้
“พอเด็กมาเรียน กศน. เรียนเฉพาะวันอาทิตย์ แล้ววันอื่นๆ เขาก็ไปทำงานได้ แต่มันก็ยังมีเรื่องของกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เด็กยังต้องมาทำกิจกรรมวันจันทร์ อังคาร พุธ ซึ่งไม่เอื้อให้เด็กๆ ที่เรียน กศน. แล้วต้องหยุดงานเพื่อมาทำกิจกรรมเหล่านี้ รวมไปถึงเรื่องกิจกรรมเข้าค่ายพักแรม คนวัยทำงานที่ไปเรียน กศน. บางครั้งเขาก็ไม่สามารถที่จะลางานเพื่อมาทำกิจกรรมตรงนี้ได้”
อีกกลุ่มคือ เด็กที่หลุดจากระบบ และเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบในไม่ช้า จากปัจจัยทางเศรษฐกิจของครอบครัว นั่นทำให้โรงเรียนยานุส ที่ก่อตั้งโดยมูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล ต้องจัดการศึกษาให้สอดคลองกับความต้องการของเด็กและครอบครัว
“บางบ้านผู้ปกครองบอกว่า เด็กต้องช่วยงานให้ผู้ปกครองมีรายได้ ถ้ามาโรงเรียนเขาก็จะขาดรายได้ ขาดข้าวปลาอาหาร โรงเรียนยานุสก็ต้องอะลุ่มอล่วยให้เด็กมาเข้าเรียนสัก 10 โมงเช้า ช่วยงานที่บ้าน 2 ชั่วโมงก่อนแล้วค่อยมาเรียน แล้วช่วงเย็นก็กลับบ้านไวหน่อย มีอาหารกลางวันของโรงเรียนที่เหลืออยู่เอากลับไปบ้านได้ บางทีเราต้องช่วยเด็กๆ แบบนี้ด้วย ยืดหยุ่นให้เข้ากับเงื่อนไขชีวิตของเขาด้วย”
ในหลายครอบครัว ปู่ย่าตายายที่มีรายได้ยังชีพเพียงเบี้ยเงินชราจากรัฐ และการรับจ้างเล็กๆ น้อยๆ ในชุมชน ต้องกลายเป็นผู้ปกครองของเด็ก จากการหย่าร้างและแยกทางกันของพ่อแม่ ความเปราะบางของครอบครัวจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา สู่การออกไปเผชิญชีวิตตามพื้นที่สาธารณะ และมีโอกาสตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพ
“ผู้นำในชุมชน ครูข้างถนน คนทำงานในพื้นที่จะต้องเข้าไปโอบอุ้มเด็กๆ เหล่านี้ เพื่อไม่ให้พวกเขาหลุดไปสู่วงจรเหล่านี้ เราไม่ได้มีหน้าที่ปราบปราม เรามีหน้าที่ป้องกัน” ประไพว่า
ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในพื้นที่คลองเตยนั้นมีมายาวนานและถ่างกว้างขึ้นในสถานการณ์โควิด ในประเด็นนี้ ประไพเล่าผ่านเสียงสะท้อนของคนคลองเตยจากการทำงานในพื้นที่ว่า
“หนึ่ง-เด็กๆ ที่เรียนจบแล้ว ออกไปสมัครงานข้างนอก แต่พอบอกว่าเป็นคนคลองเตย ก็ถูกปฏิเสธงาน สอง-คนที่ทำงานด้านการส่งของ เขาก็ถูกเลือกปฏิบัติ นี่คือสิ่งที่พี่น้องสะท้อนออกมา
“รวมถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เด็กคลองเตยถูกตีตราไปแล้ว เราพยายามจะส่งเสียงว่า มองเราสักนิด ฟังเราสักหน่อย เราไม่เคยงอมืองอเท้ารอความช่วยเหลือ ปัญหาที่เกิดขึ้น เราสู้ เราดิ้น เราช่วยกันเองก่อนแล้วจึงมีหน่วยงานมาเสริม”
ยิ่งเด็กหลุดจากระบบไปนานเท่าไหร่ ยิ่งกลับมายากเท่านั้น
“คนคลองเตยประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่านั้น คือแรงงานที่หล่อเลี้ยงเมืองกรุงเทพฯ ทำงานในภาคบริการกรุงเทพฯ เป็นป้าแม่บ้าน เป็น รปภ. และอีกจำนวนไม่น้อยเป็นลูกจ้างหลายวัน ที่อาจเรียกได้ว่าหามื้อชนมื้อ เมื่อพวกเขาส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างรายวัน เขาจึงหยุดทำงานไม่ได้ เพราะการหยุดหมายถึงรายได้ที่หายไปในแต่ละวัน ทั้งๆ ที่ค่าใช้จ่ายมันมีอยู่ทุกวัน นี่คือภาพที่สะท้อนให้เห็นความเปราะบางและความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจน”
อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้ดูแลโครงการเด็กนอกระบบในกรุงเทพมหานคร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ฉายภาพปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องที่มาพร้อมกับโรคระบาด ซึ่งส่งผลต่อการศึกษาของเด็กโดยตรง โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ยากจน ในชุมชนแออัด เด็กบนท้องถนน และเด็กในแคมป์คนงานก่อสร้าง ทั้งในชุมชนคลองเตยและชุมชนแออัดอื่นๆ ในกรุงเทพมหานคร
ปัญหานี้เรื้อรังมานาน ประกอบกับการจ้างงานและความต้องการแรงงานแบกหามในท่าเรือคลองเตยน้อยลง เพราะใช้เครื่องจักรมากขึ้น ร้านรวงต้องปิดตัวลงจากมาตรการล็อคดาวน์ และการถูกเลือกปฏิบัติจากสังคมด้วยเหตุผลเพราะเป็นกลุ่มคนจากพื้นที่เสี่ยง
“ในบางกรณี หากคุณมาจากคลองเตย นายจ้างจะให้หยุดงานไปก่อน ซึ่งส่วนมากก็เป็นลูกจ้างรายวัน การหยุดงานนั่นหมายความว่าเขาขาดรายได้ในวันนั้น มันเป็นอะไรที่ค่อนข้างหนัก
“ผมเคยคุยกับหลายๆ บ้าน เขาบอกว่า ช่วงเปิดเทอมเขาจะต้องมีเงินอย่างต่ำประมาณ 3,000 บาท เพื่อจ่ายค่าเทอม บางบ้านมีลูก 3 คน ก็เกือบหมื่นเลย นี่คือประเด็นว่า แล้วเราจะช่วยน้องๆ เขาได้อย่างไร”
ฤดูกาลเปิดเทอมใหญ่ในวันที่ 1 มิถุนายน ที่จะถึงนี้ จึงมีโจทย์ที่อนรรฆชวนขบคิดอยู่หลายข้อ นั่นคือ หนึ่ง-การเปิดเทอมนั้นมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองต้องแบกรับ และสอง-บางครัวเรือนอาจไม่สามารถส่งลูกหลานเรียนต่อได้จากพิษเศรษฐกิจ
“ปัญหาเฉพาะหน้า แน่นอนว่าคือเรื่องอาหารการกิน เรื่องเด็กเล็กที่ต้องมีนมให้ดื่ม ยังไม่รวมถึงเด็กที่ติดเชื้อด้วย หรือบางกรณีที่ติดเชื้อโควิดแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ แล้วใครจะดูแล พ่อแม่บางคนก็ต้องยอมติดเชื้อเป็นเพื่อนน้องด้วย
“อย่าลืมว่า ตอนนี้งานมันหายไปหมด จึงเป็นประเด็นท้าทายว่า เขาจะอยู่รอดกันได้อย่างไร”
ช่วงการระบาดในรอบแรก ประเด็นการศึกษาและปัญหาทางการเรียนรู้ที่เด็กๆ ในหลายพื้นที่ต้องเผชิญ ถูกหยิบยกมาพูดถึงไม่น้อย ทว่าการระบาดครั้งปัจจุบัน อนรรฆมองว่า ประเด็นเรื่องการศึกษาในคลองเตยยังไม่ถูกชูขึ้นมาเท่าที่ควร เนื่องจากความเร่งด่วนด้านสาธารณสุขและปัญหาปากท้องถือเป็นวิกฤติเร่งด่วนที่ต้องรับมือเฉพาะหน้า แต่อย่าลืมว่า หากการระบาดยังคงลากยาวไปอีกใน 1-2 เดือน สภาพการศึกษาและความเป็นอยู่ของเด็กๆ อาจเป็นปัญหา หากเรายังไม่ขบคิดเรื่องการศึกษาตั้งแต่วันนี้
“ผมคิดว่านี่คือโจทย์สำคัญที่ต้องเริ่มพูดกันแล้วว่าจะเอายังไง แน่นอนว่าเด็กเขาอยากเรียนในระบบอยู่แล้ว แต่ด้วยสถานการณ์ที่ยากลำบากแบบนี้ เขาจะเรียนได้อย่างไรโดยที่ไม่เป็นภาระต่อตัวเขาเอง มันจะมีระบบใดที่มาซัพพอร์ตเขาในช่วงเปิดเทอมที่จะถึงนี้”
โจทย์แรกสุด อนรรฆเสนอมุมมองไว้ว่า สถานศึกษา หน่วยงานทางการศึกษา ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครเอง และกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีข้อมูลของเด็กอยู่ในมือ จำเป็นต้องมีการสำรวจสภาวะทางเศรษฐกิจของเด็กและครัวเรือนของเด็กว่าเขาเหล่านั้นกำลังประสบปัญหาอะไร เพื่อค้นหาปัจจัยที่ส่งผลให้เด็กไม่อาจเข้ารับการศึกษาต่อได้
“โรงเรียนมีรายชื่อเด็กอยู่แล้ว เขาน่าจะพอทำได้ แล้วสิ่งที่ควรทำต่อจากการสำรวจเด็กก็คือ ระดมเรื่องความช่วยเหลือทั้งในแง่ของความช่วยเหลือเฉพาะหน้า และการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในด้านการศึกษา ผมคิดว่านี่คือประเด็นหลัก”
โจทย์ต่อมา ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในระยะกลางและระยะยาว นั่นคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดูแลให้เด็กกลุ่มนี้สามารถอยู่ในระบบการศึกษาต่อไปได้ นั่นหมายถึงการดูแลทั้งในแง่ของครัวเรือน การสนับสนุนทุนการศึกษา และเชื่อมต่อฐานข้อมูลเด็กยากจนและเด็กยากจนพิเศษกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อที่จะสามารถจัดหาทุนมารองรับเด็กเหล่านี้ได้ นอกเหนือจากความช่วยเหลือต่างๆ ที่ กทม. จัดสรรอยู่
“ตอนนี้มีแนวโน้มที่เด็กจะหลุดออกจากระบบการศึกษาค่อนข้างมาก ซึ่งเราจะรู้ก็ต่อเมื่อเปิดเทอมแล้วว่าเด็กจะหลุดไหม หรือเปิดเทอมไปแล้วสักเดือนสองเดือน พ่อแม่จ่ายไม่ไหว เด็กก็ต้องหลุดออกไป ผมคิดว่าจำเป็นมากๆ ที่จะต้องคัดกรองและติดตามเด็กตั้งแต่บัดนี้จนถึงหลังจากเปิดเทอมไปแล้วว่า มีเด็กหลุดหรือเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบมากน้อยแค่ไหน”
ยิ่งเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาไปนาน นั่นหมายความว่า โอกาสในการกลับเข้าสู่ระบบยิ่งยากเท่านั้น โดยเฉพาะเด็กวัยหัวเลี้ยวหัวต่อที่สามารถหารายได้เอง เมื่อพวกเขาเข้าสู่ระบบแรงงาน การกลับสู่ห้องเรียนจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
“ตอนนี้เรื่องปากท้องเราก็เริ่มคิดแล้ว สาธารณสุขเราก็เริ่มคิดแล้ว แต่เรื่องสถานะทางเศรษฐกิจในระยะยาวและการศึกษา เป็นสิ่งที่ต้องคิดเพิ่มเข้ามา” อนรรฆกล่าวทิ้งท้าย