ความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบล่าสุด ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแบบกราฟรูปตัว K หรือ K-shaped ซึ่งเป็นรูปแบบการฟื้นตัวที่ขาดสมดุล กราฟรูปตัว k สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางการเรียนรู้ที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างคนรวยและคนจน ในช่วงระยะเวลาที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้น เด็กทุกคนต่างเกิดการสูญเสียการเรียนรู้ พอเข้าสู่ช่วงการฟื้นฟูการเรียนรู้เด็กที่มีฐานะร่ำรวยสามารถปรับตัวและฟื้นฟูการเรียนรู้ได้รวดเร็วกว่าเด็กที่มีฐานะยากจน เพราะมีทรัพยากรเพียงพอที่จะสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ในวิธีอื่นๆ แต่สำหรับเด็กที่มีฐานะยากจนกลับสูญเสียการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้นจนหลุดออกจากระบบการศึกษาไป นอกจากนี้ในช่องว่างระหว่างเด็กที่มีฐานะร่ำรวยและยากจนยังพบปัญหาอื่นๆร่วมด้วย เช่น ปัญหาสุขภาพสายตา จากข้อมูลของสมาคมนักทัศนมาตรศาสตร์ไทย ในการเรียนออนไลน์จะมีค่าสายเปลี่ยนแปลงมากกว่าการเรียนปกติถึง 2.5 เท่าตัว
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้กล่าวในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2021 The Great Reform: Thailand’s Tipping Point for a Sustainable Future ในหัวข้อ “K-SHAPED RECOVERY: RESOLVING THAI INEQUALITY ความเหลื่อมล้ำไทยทำอย่างไร ไม่ให้มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”ว่า การศึกษาเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นโจทย์ระยะยาวของประเทศ เป็นเรื่องการพัฒนาทุนมนุษย์ส่งผลต่อเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) มองบทบาทของตัวเองเป็น Tech Company ที่ใช้ข้อมูลในการขับเคลื่อนเพื่อดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องของความเสมอภาคทางการศึกษาได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ยังกล่าวอีกว่า คนจนที่สุดต้องจ่ายค่าเน็ตมากที่สุดเพื่อเรียนออนไลน์และจากการสำรวจพบว่าเด็กนักเรียนเกือบครึ่งหลุดออกจากระบบการศึกษาไปตั้งแต่ ม.3 ส่งผลให้สังคมไทยเต็มไปด้วยแรงงานที่มีทักษะต่ำ ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจ
จากข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) พบว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้มีจำนวนเด็กยากจนพิเศษ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของกสศ. ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อเทอม 5-10% จากภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 และไม่พบข้อมูลเรียนต่อของเด็กทุนเสมอภาคช่วงชั้นรอยต่อ ใน 5 สังกัด คิดเป็นร้อยละ 14.6 ได้แก่ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตำรวจตระเวณชายแดน (ตชด.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีโอกาสน้อยมากที่เด็กที่มีฐานะยากจนจะสามารถศึกษาต่อได้
แนวทางที่จะเปลี่ยน K-Shaped Recovery ไปสู่ V-shaped Recovery
เราคาดหวังจะให้เศรษฐกิจฟื้นฟูแบบ V-Shaped Recovery คือทุกคนสามารถกลับมามีชีวิตปกติและดีขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับการศึกษาที่เราคาดหวังให้สถานการณ์กลับมาดีขึ้น มีการฟื้นคืนการเรียนรู้ คือ อัตราการเรียนรู้ถดถอยลดลง ตามกราฟเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2019 ก่อนโควิด-19 ซึ่งหนทางที่เราจะก้าวไปสู่การฟื้นฟูแบบ V-shaped Recovery เริ่มได้ด้วยการ
1.ฉีดวัคซีนเพื่อลูกหลาน
การที่ผู้ปกครองได้รับการฉีดวัคซีน คือ เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ลูกหลานได้ไปโรงเรียน เนื่องจากเด็กต้องคลุกคลีและใช้ชีวิตประจำวันอยู่กับครอบครัว หากผู้ปกครองหรือคนในครอบครัวคนใดคนนึงติดเชื้อ ก็ทำให้เด็กมีโอกาสติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้เช่นกัน
2.กายพร้อม ใจพร้อม เรียนรู้
การคัดกรองสุขภาพกาย-ใจเป็นรายบุคคลช่วงเปิดเทอมเพื่อเตรียมเด็กและเยาวชนให้พร้อมกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา
3.สอนชดเชย เติมสิ่งที่ขาด
ในช่วงที่โรงเรียนต้องปิดตัวลงทำให้เด็กเกิดการสูญเสียการเรียนรู้ไปเป็นระยะเวลานาน หลังเลิกเรียนหรือปิดเทอมใหญ่จึงควรจะเปิดสอนเสริมให้กับเด็กๆเพื่อชดเชยช่วงเวลาที่หายไป ภายในระยะเวลา 1-2 ปีเพื่อปิดช่องว่างทางการเรียนรู้ระหว่างเด็กฐานะร่ำรวยกับเด็กฐานะยากจนในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา
4.ติดตามเด็กและเยาวชนที่ยังไม่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา
มีเด็กเยาวชนวัย 3-15 ปี มากกว่า 43,000 คนยังไม่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาในเทอมที่ 1 ปีการศึกษา 2564 จึงต้องมีการช่วยเหลือและติดตามเด็กกลุ่มนี้ให้กลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษา
5.All for Education
ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม บทบาทในกระบวนการฟื้นฟูเด็กเยาวชนไทยได้อย่างยั่งยืน