เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 Equity lab โดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ บริษัท SEA ประเทศไทย ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าออนไลน์ Shopee และเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติ ร่วมจัดงานประกาศรางวัลและจัดนิทรรศการแสดงผลงานที่นักเรียนร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ ภายใต้ “โครงการขยายผลและพัฒนาความร่วมมือสร้างเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” หรือ Equity Partnership’s School Network ปีที่ 5 บริเวณลานโปรโมชั่นชั้น G ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ ชูความสำเร็จ “โมเดลลดความเหลื่อมล้ำด้วยแนวคิดนวัตกรรมสถานศึกษา” เกิดเป็นต้นแบบการพัฒนา ทักษะอาชีพ ทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่ยั่งยืน โดยอาศัยกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างสถานศึกษา ครูและนักเรียนทุนเสมอภาคจากโรงเรียนขยายโอกาสในเครือข่ายของ กสศ. กับโรงเรียนนานาชาติ สร้างพื้นที่การเรียนรู้สิ่งใหม่ ใช้เวลาแลกเปลี่ยนชุดประสบการณ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า จำหน่ายจริงบนแพลตฟอร์ม Shopee สร้างรายได้ให้กับโรงเรียนและชุมชน
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวถึงนวัตกรรมที่เกิดขึ้น จากความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชนในการระดมความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ มาเติมเต็มการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ ตลอดระยะเวลา 5 ปี เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเสมอภาคมากขึ้น
“จากผลวิจัยการประเมินความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน (Career Readiness) ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งเป็นความร่วมมือของ กสศ. กับคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า หากเด็กๆ มีทักษะ soft skill เช่น ทักษะความร่วมมือกัน ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะความคิดสร้างสรรค์ จะส่งผลดีต่ออนาคตของพวกเขาในการทำงาน และเป็นทักษะติดตัวที่จะทำให้พวกเขาพร้อมเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและความความท้าทายใหม่ๆ”
โดยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มีเครือข่ายนักเรียนและคุณครูโรงเรียนนานาชาติและโรงเรียนไทยมากกว่า 500 คน ผลิตชิ้นงานมากกว่า 140 ชิ้นงาน สร้างยอดขายผ่านเครือข่าย shopee และเครือข่ายต่างๆ มากกว่า 1,600,000 บาท โดยรายได้ทั้งหมดจากโครงการได้นำไปสนับสนุนการพัฒนาเด็กและเยาวชนในโรงเรียนเครือข่ายชนบท
นางสาวพุทธวรรณ สุภัทรนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท SEA (ประเทศไทย) ในฐานะ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าออนไลน์ Shopee กล่าวถึงความประทับใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างพลังให้กับการศึกษา โดยได้ส่งเสริมทักษะดิจิทัล (Digital Skill) การตลาดออนไลน์ (Digital Marketing) สอนการเล่าเรื่องผลิตภัณฑ์ (Storytelling) การสร้างแบรนด์ให้แก่น้องๆนักเรียน ผ่านการลงมือทำจริงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของ Shopee
“ดีใจมากที่ได้เป็นพื้นที่ให้น้องๆ ได้ลงมือขายสินค้าบน Shopee น้องๆจะได้เรียนรู้จากการลงมือทำจริง และตลอดการเรียนรู้ คือ เข้าใจว่าน้องๆทุกคนผ่านอุปสรรค ความท้าทาย หรือปัญหาต่าง ๆ มา ตลอดเส้นทางที่ผ่านมามีความหมายมาก เพราะว่าพวกเราได้เรียนรู้และทำงานร่วมกัน”
Mr. Greg Threlfall โรงเรียนนานาชาติรักบี้ Rugby School Thailand กล่าวถึงความภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนของโรงเรียนนานาชาติ และสิ่งสำคัญที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทำให้นักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติได้มีพื้นที่แลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกับนักเรียนโรงเรียนขยายโอกาสที่มีความแตกต่างหลากหลาย จนเกิดทักษะการทำงานเป็นทีมและมีความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่าง พร้อมที่จะเติบโตได้ในทุกที่
นอกจากนี้ Mr. Greg ยังเปิดเผยว่า มีโรงเรียนจากต่างประเทศในเครือข่าย FOBISIA ได้แสดงความสนใจ และอยากเข้ามาศึกษากระบวนการทำงานในโครงการ ทั้งยังมองถึงความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และโอกาสใหม่ๆ
นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กล่าวว่า นวัตกรรมความร่วมมือนี้เป็นต้นแบบให้กับกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาการเรียนรู้ทักษะอาชีพ สร้างรายได้ให้กับเด็กๆ ทั้งสนับสนุนการเข้าถึงโอกาสการศึกษาในระดับสูงขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย และมองว่าพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะนำไปสู่สังคมแห่งความเสมอภาคและไม่มีเด็กคนไหนถูกทิ้งไว้ข้างหลังพร้อมชื่นชมและยินดีกับทุกท่านที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมตลอด 5 ปี ทุกคนได้สร้างการเรียนรู้ที่มีชีวิตให้เกิดขึ้น ต้นทุนเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ต่อยอดชีวิต สร้างประโยชน์กับเด็ก ๆ รวมถึงส่งเสริมชุมชนและสังคมให้เติบโตต่อไป
ในปีนี้มีเครือข่ายโรงเรียนไทยจากโรงเรียนขยายโอกาสสังกัด สพฐ. จํานวน 10 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ้านท่านหญิงวิภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โรงเรียนวัดท่าโสม (คุณสารราษฎร์บำรุง) จังหวัดตราด โรงเรียนบ้านม่วงนาดี จังหวัดอุบลราชธานี โรงเรียนขุนยวมวิทยา จังหวัดแม่ฮ่องสอน โรงเรียนดงสวรรค์วิทยา จังหวัดหนองบัวลำภู โรงเรียนบ้านนาเลา จังหวัดมหาสารคาม โรงเรียนบ้านยะพอ จังหวัดตาก โรงเรียนเพียงหลวง 1 (บ้านท่าตอน) จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนบ้านทุ่งโฮ้ง (อภิวังวิทยาลัย) จังหวัดแพร่ โรงเรียนบ้านนห้วยลึก จังหวัดเชียงราย จับคู่เครือข่ายโรงเรียนนานาชาติ 5 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี (Shrewsbury International School) โรงเรียนนานาชาติรักบี้ (Rugby School Thailand) โรงเรียนนานาชาติเซนต์ แอนดรูว์ส (St. Andrews International School) โรงเรียนสาธิตประสานมิตร (International Program) และโรงเรียนนานาชาติแอสคอท (Ascot International School) ทำกิจกรรมร่วมกันผ่านออกแบบผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น และการจัดจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ผ่านแคมเปญ “ให้โอกาสเป็นของขวัญ” ทาง Shopee ภายใต้ 10 แบรนด์ที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์
สำหรับการตัดสินรางวัล มีเกณฑ์วัดตลอดทั้งโครงการ แบ่งเป็น การตลาดและการขาย (Marketing / Selling) ประกอบด้วยยอดขาย เทียบต้นทุนกำไร การนำเสนอเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ ช่องทางและวิธีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ การทำงานเป็นทีม (Teamwork) เกี่ยวกับความร่วมมือของสมาชิกในกลุ่มและการประสานงานที่ดี มีกำหนดขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน การยอมรับความคิดเห็น เข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่าง และความคิดสร้างสรรค์ ผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ (Creative / Innovation) ซึ่งทีมที่ได้รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม “เนรมิตร”จากโรงเรียนบ้านนาเลา จังหวัดมหาสารคาม ร่วมกับโรงเรียนสาธิตประสานมิตรภาคอินเตอร์ ที่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์กระถางปูนเปลือยพิมพ์ลายใบไม้ แบรนด์ “Sang Aeng สร้างเอง” โดยมีแนวคิดว่า ใบไม้ทุกชนิดมีประโยชน์ มีคุณค่า คุณสมบัติ รวมถึงลวดลายที่สวยงามแตกต่างกัน จึงนำมาสร้างสรรค์เป็นส่วนหนึ่งในผลิตภัณฑ์ปูนปั้นที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนบ้านนาเลา ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 เป็นของทีม “Bhan Rak บ้านรัก” จากโรงเรียนบ้านทุ่งโฮ้ง (อภิวังวิทยาลัย) จังหวัดแพร่ ร่วมกับโรงเรียนนานาชาติรักบี้ ได้ร่วมกันพัฒนากระเป๋าผ้าขนาดพกพา และรองเท้าสลิปเปอร์ โดยใช้ผ้ามัดย้อมจากชุมชนที่มีต้นกำเนิดมาจากวัฒนธรรมของชาวไทพวนและแหล่งผลิตผ้าหม้อฮ่อมที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดมาทำผลิตภัณฑ์ และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ตกเป็นของทีม “DrewDee” จากโรงเรียนบ้านม่วงนาดี จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับโรงเรียนนานาชาติเซนต์แอนดูรว์ ได้ร่วมกันผลิตโจ๊กข้าวกล้องงอกกึ่งสำเร็จรูป ภายใต้แบรนด์ “งอกงาม” ที่ใช้วัตถุดิบจากแหล่งธรรมชาติในชุมชน โดยคัดสรรข้าวกล้องเต็มเมล็ด และผักท้องถิ่นที่ช่วยสนับสนุน ส่งเสริมชาวนาและน้องๆบ้านม่วงนาดี
ในขณะที่ช่วงสุดท้ายของงาน มีการแลกเปลี่ยนผ่านเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในหัวข้อ“อนาคต equity partnership”เพื่อถอดบทเรียนการพัฒนานวัตกรรมจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ตลอดระยะเวลา 5 ปี รวมถึงแนวคิดการขยายความร่วมมือที่จะนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนในปีที่ 6โดยเน้นให้ความสำคัญและการสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ พัฒนาการเรียนรู้รอบด้าน สร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เป็นมิตร รวมถึงผลักดันให้เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนในอนาคต