Equity lab โดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ร่วมกับ นวัตกร องค์การบริหารส่วนตำบลหนองสนิท หอการค้าไทย YEC จังหวัดสุรินทร์ เกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงไก่โคราชตำบลหนองสนิท จังหวัดสุรินทร์ เปิดศูนย์การเรียนรู้เลี้ยงและเพาะพันธุ์ไก่เนื้อ ‘หนองสนิท’ ภายใต้โครงการทดลองขยายผลและส่งต่อนวัตกรรมสังคมในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อเป็นแหล่งฝึกทักษะอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาในตำบลหนองสนิท จังหวัดสุรินทร์ โดยมีเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมทั้งหมด กว่า 10 คน
ศูนย์การเรียนรู้เลี้ยงและเพาะพันธุ์ไก่เนื้อ ‘หนองสนิท’ เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ทดลองขยายผลจากโครงการวิจัยสนับสนุนและเชื่อมโยงเครือข่ายการบ่มเพาะนวัตกรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ในปี 2565 ภายใต้การแก้ไขปัญหาเพื่อตอบโจทย์ การฝึกอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่เด็กนอกระบบในจังหวัดสุรินทร์ จากฐานข้อมูลการคัดกรองนักเรียนยากจนพิเศษของกสศ. ในปี 2565 พบว่า ปัญหาเด็กนอกระบบในจังหวัดสุรินทร์ ส่วนใหญ่มีสาเหตุหลักมาจากความยากจนของครอบครัว ซึ่งส่งผลให้เด็กและเยาวชนต้องทำงานในช่วงวัยเรียนเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัว ประกอบกับการเรียนต่อในระดับที่สูงกว่าการศึกษาภาคบังคับจำเป็นจะต้องใช้ทุนทรัพย์จำนวนมาก ด้วยความท้าทายทางการเงินเหล่านี้ จึงทำให้การศึกษากลายเป็นภาระที่ครอบครัวฐานะยากจนไม่สามารถแบกรับได้ อีกทั้งการศึกษาในระบบยังไม่ตอบโจทย์กับชีวิตปัจจุบัน เด็กและเยาวชนมองไม่เห็นเป้าหมายการเรียนต่อและอาชีพในอนาคต ส่งผลให้เด็กเยาวชนและผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการเรียนน้อยลง จนนำไปสู่การตัดสินใจเลิกเรียนในที่สุด
จากข้อมูลของกสศ. ในปี 2566 จังหวัดสุรินทร์มีเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษากว่า 26,646 คน คิดเป็น 14.77% ของจำนวนเด็กทั้งหมดในพื้นที่และมีแนวโน้มที่เด็กกลุ่มนี้จะมีอายุน้อยลงเรื่อยๆเมื่อหลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้วก็มักเผชิญข้อจำกัดในชีวิตที่หลากหลาย ทำให้การกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาเป็นเรื่องยาก แม้พวกเขาจะสามารถหารายได้รายวันได้ แต่การขาดโอกาสในการศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา ส่งผลให้ไม่มีโครงข่ายรองรับทางสังคม อีกทั้งยังขาดต้นแบบด้านการเรียนหรืออาชีพ ส่งผลให้พวกเขาขาดเป้าหมายในชีวิต ไม่มีโอกาสสร้างอาชีพที่มั่นคงและมีรายได้เพียงพอที่จะหลุดพ้นจากความยากจน ประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ตลาดแรงงานมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะขั้นสูงเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในขณะที่ 70% ของแรงงานยังคงอยู่ในกลุ่มทักษะปานกลาง-ต่ำ ซึ่งแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
ดังนั้นพวกเขาจำเป็นที่จะต้องได้รับโอกาสในการเรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพที่เป็นที่ต้องการในปัจจุบันและอนาคต และเข้าถึงทรัพยากรที่ช่วยให้พวกเขาสามารถประกอบอาชีพเหล่านี้ได้ รวมถึงการสร้างแรงจูงใจและเป้าหมายทางอาชีพเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน
Equity lab ร่วมกับนวัตกร จึงได้ออกแบบและพัฒนานวัตกรรม “Do The Dream” ระบบนิเวศที่สนับสนุนการตั้งเป้าหมายทางอาชีพและการลงมือทำเพื่อความสำเร็จ โดยจัดกิจกรรมวางแผนเป้าหมายชีวิต จัดค่ายฝึกทักษะอาชีพ พร้อมทั้งหาที่ปรึกษาที่ให้คำแนะนำเพื่อไปสู่เป้าหมายอาชีพนั้น ซึ่งภายหลังจากการทดลองนำร่อง พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการสร้างแรงจูงใจและการตั้งเป้าหมาย ได้แก่ สภาพแวดล้อมหรือบริบทที่เป็นกรอบข้อจำกัด ทำให้แรงจูงใจในการสร้างเป้าหมายชีวิตในอนาคตมีน้อย ขาดต้นแบบทางการเรียนหรืออาชีพที่ดี ที่หลากหลายและเข้าถึงได้ ทำให้มองไม่เห็นความเป็นไปได้ของตัวเองในอนาคต การหาที่ปรึกษาหรือบุคคลต้นแบบจากนอกพื้นที่เข้าไป ทำให้การเรียนรู้และการพัฒนาทักษะไม่ต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่มีความยั่งยืน
ในปี 2567 จึงทดลองขยายผลนวัตกรรม โดยการเปิดศูนย์การเรียนรู้อาชีพเลี้ยงและเพาะพันธุ์ไก่เนื้อซึ่งเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีความต้องการสูงในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ รวมถึงมีเกษตรกรผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มผู้เลี้ยงไก่โคราชตำบลหนองสนิทที่เป็นบุคคลต้นแบบในพื้นที่ ร่วมจัดหลักสูตรการเรียนการสอนแก่เด็กและเยาวชนที่มีความสนใจ ผ่านกลไกการทำงานร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลหนองสนิทและเครือข่ายในพื้นที่ ในการตั้งศูนย์การเรียนรู้นี้ เพื่อให้เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษามีพื้นที่ในการเรียนรู้อาชีพผ่านการลงมือทำจริงมีทักษะทางอาชีพ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น รวมถึงสร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้
ปารมี อินทรชุมนุม ในฐานะนวัตกร กล่าวว่า ในการสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การสร้างแรงจูงใจและการตั้งเป้าหมายในชีวิตและอาชีพในอนาคตแก่เด็กและเยาวชนนอกระบบ จำเป็นต้องอาศัยการคลุกคลี เพื่อให้เกิดความเข้าใจปัญหา บริบทของกลุ่มเป้าหมาย และทดลองซ้ำๆ ซึ่งพบว่าการสร้างรายได้สร้างอาชีพเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด จึงได้ทดลองนำโมเดล Learn to Earn หรือกิจกรรมเสริมสร้างทักษะให้ผู้เรียนสามารถนำไปสร้างรายได้ให้กับตนเอง มาปรับใช้กับการแก้ปัญหาในพื้นที่โดยทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ใกล้ตัว ทำแล้วเห็นผลเลย แม้ว่าโมเดลนี้จะเป็นการสร้างรายได้และเห็นผลลัพธ์ในระยะสั้น แต่เป็นจุดเริ่มต้นให้กับเด็กและเยาวชนเหล่านี้เกิดแรงบันดาลใจและเป็นสารตั้งต้นให้พวกเขาลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตนเอง มาลองเรียนรู้ทักษะอาชีพผ่านทดลองลงมือทำจริง เกิดการรู้จักตนเอง และมองเห็นเป้าหมายที่อยากจะเรียนต่อหรือไปต่อ พร้อมๆไปกับการสร้างรายได้ที่จะสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ในปัจจุบัน
สิ่งสำคัญคือการลงทุนกับการเรียนรู้ของพวกเขา เด็กและเยาวชนเหล่านี้มีศักยภาพที่จะเติบโตได้ แต่ต้องให้โอกาสแล้วสนับสนุนพวกเขา สำหรับศูนย์การเรียนรู้ที่สร้างขึ้นมาเป็นเหมือนพื้นที่นึงที่ให้เด็กและเยาวชนที่ไม่มีโอกาสได้ทดลองเรียนรู้ในอาชีพนี้ ซึ่งพวกเขาสามารถล้มเหลวได้ ไม่ชอบอาชีพนี้ได้ และถ้าไม่ชอบจะได้ไปเรียนรู้อาชีพอื่นๆ แต่การที่พวกเขามีความรู้ติดตัว มีทักษะที่เกิดจากการทำงานตรงนี้มากพอที่จะไปต่อยอดในชีวิตได้ และสามารถเลี้ยงตนเองได้ ก็อาจเป็นอีกหนึ่งเส้นทางการเรียนรู้ของพวกเขา
สมเกียรติ สาระ หัวหน้าสำนักงานปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลหนองสนิท จังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า ศูนย์การเรียนรู้เลี้ยงและเพาะพันธุ์ไก่เนื้อนี้ เป็นหนึ่งในนวัตกรรมจาก กสศ. ที่เข้ามาช่วยเติมเต็มการดำเนินงานในส่วนงานพัฒนากลุ่มเด็กและเยาวชน ด้านการพัฒนาอาชีพ ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาชุมชนของอบต. หนองสนิท โดยมีการจัดทำระบบข้อมูลเด็กนอกระบบการศึกษาเพื่อการพัฒนา มีกลไกการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับ
หน่วยงานอื่นๆในพื้นที่ รวมทั้งมีแผนส่งเสริมเส้นทางโอกาสแก่เด็กและเยาวชนครอบคลุมทั้งในและนอกระบบการศึกษา สำหรับกลุ่มในระบบและกลุ่มเสี่ยงหลุดออกจากระบบจะมีการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ หาแนวทางการเรียนที่เหมาะสม และส่งเสริมให้สามารถเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ สำหรับกลุ่มนอกระบบการศึกษามีการจัดทำแผนการศึกษารายบุคคล แนวทางการเรียนต่อ เช่น ศูนย์การเรียนรู้ สารพัดช่าง และแผนพัฒนาอาชีพรายบุคคล เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะอาชีพและสามารถประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
ธวัชชัย พวงจันทร์ ประธานเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงไก่โคราชตำบลหนองสนิทและหัวหน้าเครือข่ายกลุ่มผู้ เลี้ยงไก่โคราชจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ศูนย์การเรียนรู้นี้เสมือนเป็นพื้นที่ในการเติมเต็มความรู้และฝึกทักษะอาชีพให้แก่เด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา โดยใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญของตนเองเข้ามาช่วยจัดหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อสร้างทักษะแก่เด็กและเยาวชนที่มีความสนใจในการเลี้ยงและเพาะพันธุ์ไก่เนื้อ ให้มีความรู้ ทักษะและประสบการณ์ทางอาชีพติดตัว “บางคนมีครอบครัว ไปต่างถิ่น แล้วไม่รู้ว่าจะประกอบอาชีพอะไร อย่างน้อยก็ได้วิชาชีพตรงนี้ไปประกอบวิชาชีพ หล่อเลี้ยงตนเอง จากจุดนี้เราก็จะใช้วิชาชีพในการเพิ่มรูปแบบการศึกษา ให้เขามีวุฒิการศึกษาในวิชาชีพที่เขาทำอยู่ และตรงนี้ก็เป็นรายได้ให้กับเยาวชนได้หล่อเลี้ยงตัวเอง หล่อเลี้ยงครอบครัว เป็นอาชีพที่สามารถเติมเต็มช่องว่างรายได้ที่ขาดหายไป”
นอกจากนี้นายธวัชชัย ยังกล่าวอีกว่า หลังจากเด็กและเยาวชนเหล่านี้มาเรียนรู้ทักษะในระยะหนึ่งแล้ว หากพวกเขาสนใจที่จะต่อยอด ก็จะมีการสนับสนุนให้เป็นเจ้าของฟาร์ม ประกอบกับในพื้นที่มีความต้องการสูงอยู่แล้ว อีกทั้งมีการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยร่วมกับปศุสัตว์จังหวัด ดังนั้นจะเป็นจุดที่จะช่วยสร้างรายได้แก่พวกเขาเพิ่มขึ้นอีก
ด้าน น้องโชคและผู้ปกครอง หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ เล่าว่าด้วยฐานะทางการเงินของครอบครัวที่ค่อนข้างยากจน ประกอบกับคุณแม่เป็นผู้พิการ ทำให้เงินไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายและเรียนหนังสือ น้องโชคจึงต้องออกจากโรงเรียนและไปทำงานหารายได้รายวันเลี้ยงตนเองและดูแลคุณแม่ไปด้วย แต่หลังจากได้มาเข้าร่วมในโครงการนี้ ก็ทำให้ตนเองมีรายได้เพิ่มขึ้นสามารถนำไปใช้จ่ายค่าอาหารให้ตนเองและคุณแม่ได้ โดยไม่ต้องออกไปทำงานไกลบ้าน และเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มีความรับผิดชอบต่อการทำงาน มีแรงบันดาลใจและเป้าหมายที่อยากจะมาทำงานหรือร่วมเรียนรู้ทักษะอาชีพเลี้ยงและเพาะพันธุ์ไก่เนื้อจากศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้