การให้ความดูแลเป็นพิเศษกับเด็กอ่อนก่อนวัยเรียนไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม แต่การดูแลพวกเขาเป็นพิเศษต่างหากที่จะช่วยให้ความเหลื่อมล้ำในหลายมิติหดแคบลงได้ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่กำลังประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างกรุงเทพมหานครที่ควรหันกลับมาใส่ใจประเด็นนี้ให้มากกว่าที่ผ่านมา
สิ่งนี้ไม่ใช่การกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย แต่ยืนยันได้จากผลการวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ศาสตราจารย์เจมส์ เจ. เฮกแมน (James J. Heckman) แห่ง University of Chicago พบว่า หากมีการลงทุนเพื่อส่งเสริมให้เด็กได้รับพัฒนาการที่สมวัยในช่วง 5 ปีแรกของชีวิต จะให้อัตราผลตอบแทนมากถึงร้อยละ 7-10 ตัวอย่างสูตรการคำนวณนี้มาจากการประมวลผลที่ว่า หากมีการลงทุนในเด็กปฐมวัยตั้งแต่แรกเกิดถึง 5 ปีแรกช่วงปี พ.ศ. 2559 จะได้รับผลตอบแทนตามมามากถึงร้อยละ 13
ปัจจุบันเมืองใหญ่ที่กำลังประสบปัญหาอย่างกรุงเทพฯ ยังไม่สามารถบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กอ่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะตามทันปัญหา ด้วยเหตุนี้ การย้อนกลับไปสำรวจสถานการณ์วิกฤตอย่างจริงจัง อาจเป็นทางออกที่สำคัญสำหรับการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำในอีกหลายมิติในอนาคตได้อีกด้วย
ปัญหาของเมืองใหญ่ กับความเหลื่อมล้ำในเด็กและเยาวชน
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าเส้นความยากจนของประชากรไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน และพบมีครัวเรือนยากจนถึง 1.4 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 5.51 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด นอกจากนี้วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังส่งผลให้กลุ่ม ‘คนยากจนมาก’ มีจำนวนถึง 1.61 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึงร้อยละ 26
หากมองลึกลงไปที่ระดับนักเรียนใน กทม. ข้อมูลจาก ‘Dashboard นักเรียนยากจนพิเศษ’ ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่า ในปีการศึกษา 2562 มีนักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 1,195 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 1 ของนักเรียน กทม. ทั้งหมด โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อคนในครอบครัวเพียง 2,287 บาทต่อเดือน เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า ในจำนวนเด็กยากจนพิเศษทั้งหมดล้วนมีปัญหาด้านการถือครองทรัพย์สิน โดยร้อยละ 93 ของนักเรียนยากจนพิเศษทั้งหมดมีปัญหาด้านสภาพการอยู่อาศัย ร้อยละ 74 มีปัญหาด้านภาวะพึ่งพิง และร้อยละ 5 มีปัญหาด้านการเข้าถึงสาธารณูปโภค
หากแบ่งเด็กออกเป็น 3 ช่วงวัย คือ กลุ่มปฐมวัย (0-4 ปี) กลุ่มวัยเรียนตอนต้น (5-14 ปี) และกลุ่มวัยเรียนระดับมัธยมปลาย (15-17 ปี) พบว่ากลุ่มที่มีปัญหายากจนที่สุดคือกลุ่มปฐมวัย ซึ่งงานวิจัยของเฮกแมนที่กล่าวถึงข้างต้นได้ระบุว่า เด็กปฐมวัยคือวัยที่มีพัฒนาการทางสมองที่จะส่งผลต่อเนื่องไปยังอนาคตของเด็กมากที่สุด นั่นหมายความว่าหากมีการลงทุนในเด็กปฐมวัยหรือเด็กอ่อนมาก อนาคตความเหลื่อมล้ำของ กทม. ก็จะบรรเทาลงไปได้ในอีกหลายปีข้างหน้า ในทางกลับกัน หากไม่มีการลงทุนที่ดีพอหรือปล่อยปละละเลยก็จะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายมิติของ กทม. ประสบปัญหาหนักขึ้นกว่าเดิมอย่างแสนสาหัส
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่กำหนดให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นสถานศึกษา ซึ่งต้องมีหลักสูตรส่งเสริมพัฒนาการเด็ก แต่ปัจจุบันนี้ กทม. มีศูนย์พัฒนาเด็กอ่อนอยู่เพียง 292 แห่งเท่านั้น และด้วยจำนวนศูนย์ฯ ที่ไม่สัมพันธ์กันกับขนาดของปัญหา ยิ่งทำให้ประสบความติดขัดในการดำเนินงานอีกหลายประการเช่นกัน
ศูนย์พัฒนาเด็กอ่อนที่กำลังประสบปัญหา
ในเวทีระดมข้อเสนอแก้ปัญหาด้านการศึกษา ครั้งที่ 1 หัวข้อ ‘ปลดล็อกกรุงเทพ: เมืองแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ จัดโดย กสศ. ร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (OKMD) ภาคีด้านการศึกษา และไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2565 ระบุว่าศูนย์พัฒนาเด็กอ่อนของ กทม. จำนวน 292 แห่ง มีหน้าที่ต้องบริหารดูแลเด็กถึง 19,000 กว่าคนด้วยกัน และจำนวนศูนย์ฯ ดังกล่าวก็ไม่ได้กระจายไปยังชุมชนอย่างทั่วถึงอีกด้วย
อัตราการกระจุกตัวของศูนย์พัฒนาเด็กอ่อน กทม. ทั้ง 292 แห่ง ตั้งอยู่ในเขตมีนบุรีและเขตหนองจอก 30-40 แห่ง และมีบุคลากรในศูนย์ฯ จำนวนร้อยละ 15 ที่จบปริญญาตรีด้านปฐมวัย บุคลากรกลุ่มน้อยนี้มีรายได้อยู่ที่ 15,000 บาทต่อเดือน ขณะที่บุคลากรส่วนมากสำเร็จการศึกษาสูงสุดที่มัธยมศึกษาปีที่ 6 และมีรายได้เพียง 7,000 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่สมเหตุสมผลกับความรู้ความสามารถในการทำหน้าที่ดูแลเด็กอ่อน และไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพใน กทม.
ปัญหาด้านบุคลากรยังพบว่า บุคลากรทั้งหมดไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนตลอดอายุงาน รวมถึงมีการหักเงินเดือนครูที่หยุดงาน และในบางครั้งเงินเดือนออกไม่ตรงกันอย่างสม่ำเสมออีกด้วย ซึ่งหากมองให้ลึกลงไปมากกว่านั้น ยังพบว่าศูนย์ฯ บางส่วนที่ถูกถ่ายโอนมายังความดูแลของ กทม. ภายใต้สำนักพัฒนาสังคม ก็มีภารกิจอื่นที่นอกเหนือไปจากการดูแลเด็กอ่อน แต่ครอบคลุมไปถึงผู้สูงอายุ ทำให้ภาระงานของบุคลากรกว้างมากไปกว่าความเชี่ยวชาญที่พวกเขามี
แม้จำนวนเด็กยากจนพิเศษที่ต้องการการดูแลเร่งด่วนจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นดังตัวเลขที่กล่าวไปแล้วก่อนหน้า ทว่าการประสานงานด้านข้อมูลของศูนย์ฯ กลับยังไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างเป็นระบบ ข้อมูลบางอย่างไม่สามารถพิสูจน์ได้ หรือบางศูนย์ฯ อาจจะไม่ได้เก็บประวัติเด็กเอาไว้ ทำให้การส่งต่อไปยังสถานศึกษาไม่สอดคล้องกับความต้องการหรือปัญหาที่เด็กคนนั้นกำลังเผชิญ
ปัญหาทั้งหมดนี้ส่งผลให้คะแนนการประเมินจากองค์กรภายนอกที่เกี่ยวข้อง มีผลการประเมินอยู่ที่ระดับ ‘ดีมาก’ เพียงร้อยละ 20 จากจำนวนศูนย์ฯ ทั้งหมด ส่วนกลุ่มที่อยู่ในระดับ ‘พอใช้ ปรับปรุง และปรับปรุงเร่งด่วน’ มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 50 ซึ่งหากแยกกลุ่มหลังออกมาให้ลึกลงไปอีก จะพบว่ามีกลุ่มที่ได้รับผลการประเมินในระดับที่ต้อง ‘ปรับปรุงเร่งด่วน’ อยู่ถึงร้อยละ 5 จากจำนวนศูนย์ฯ ทั้งหมดอีกด้วย
ในเวทีระดมข้อเสนอดังกล่าวได้ข้อสรุปในการแก้ไขปัญหาเอาไว้ 5 ข้อด้วยกัน ได้แก่
- โอนศูนย์พัฒนาเด็กอ่อนของชุมชนให้เข้าไปอยู่ในความดูแลของ กทม.
- ผู้ดูแลเด็กและอาสาสมัครต้องมีความรู้ด้านเด็กปฐมวัยมากยิ่งขึ้น
- ค่าตอบแทนและสวัสดิการของบุคลากรต้องสามารถกระตุ้นให้มีความสุขและความภูมิใจในการทำงาน
- ข้อมูลจากศูนย์ฯ ต้องได้รับการบันทึกอย่างเป็นระบบและส่งต่อได้ง่าย
- เพิ่มเวลาครอบครัวให้มากขึ้น ขณะเดียวกันต้องลดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ลง
อย่างไรก็ตาม แนวทางการรับมือกับปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยการปรับปรุงคุณภาพของศูนย์พัฒนาเด็กอ่อนคงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ด้วยตัวชี้วัดเพียง 5 ข้อดังกล่าว เนื่องจากการต่อสู้กับปัญหาความเหลื่อมล้ำในระยะยาวของเมืองยังประกอบไปด้วยอีกหลายมิติที่ต้องการการใส่ใจ เช่น การกระจายอำนาจ การเข้าถึงองค์ความรู้และหนังสือ การเพิ่มจำนวนศูนย์ฯ และขยายระยะเวลาของการดูแล ไปจนถึงการบริหารงบประมาณสนับสนุนด้านอาหารของเด็กปฐมวัยภายใต้ความดูแลของ กทม. อีกด้วย
ย้อนกลับไปยังงานศึกษาของเฮกแมนที่มีข้อสังเกตสำคัญว่า หากมีการลงทุนในเด็กอ่อนระยะ 5 ปีแรกอย่างเหมาะสม ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นในอนาคตอาจจะเป็นเมล็ดพันธุ์ขจัดความเหลื่อมล้ำที่ส่งต่อระหว่างรุ่นสู่รุ่นของคนเมือง ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนของเมืองที่ต้องเริ่มลงมือแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้ เพื่ออนาคตที่ดีกว่าเมื่อวานของทุกคน
ที่มา: