ความพร้อมของแรงงานเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อทุกประเทศถูกจู่โจมด้วยการระบาดของไวรัสโควิด-19 มาตรการล็อกดาวน์และการเว้นระยะห่างทางสังคมตลอดช่วงที่ผ่านมา ยิ่งส่งผลโดยตรงต่อการเตรียมความพร้อมให้แก่คนวัยทำงานอย่างยิ่ง การมองหาแนวทางการแก้ไขไปจนถึงการฟื้นฟูความเสียหายในตลาดแรงงานหลังการระบาดทุเลาลงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรให้ความสนใจ
เวทีเสวนา ‘โควิด 19 : ความท้าทายใหม่กับการพัฒนาทักษะและความพร้อมให้แก่ประชากรวัยแรงงานของไทย’ จัดโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อร่วมพูดคุยถึงความท้าทายใหม่ที่เยาวชนหรือคนวัยทำงานทุกคนกำลังเผชิญ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดความเสียหายต่อขีดความสามารถและทักษะของแรงงานเป็นอย่างมาก
เป้าหมายของการเสวนาครั้งนี้ คือการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลง เพิ่มการบูรณาการณ์ทางความรู้ระหว่างกลุ่มภาคการศึกษาและตลาดแรงงาน และสร้างเครือข่ายการทำงานนโยบายด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเวทีนี้มุ่งขยายผลมาตรการใหม่ๆ เพื่อจะหาทางออกจากปัญหาร่วมกัน
ทักษะที่ขาดหายและความไม่พร้อมของคนวัยทำงาน
การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ขนาดของปัญหาด้านความพร้อมทางทักษะแรงงานขยายวงกว้างมากขึ้น แน่นอนว่าผลกระทบที่กำลังเกิดอาจจะยังไม่สามารถประเมินได้ง่ายนัก ด้วยเหตุนี้ ‘โครงการวิจัยสำรวจทักษะความพร้อมของประชากรกลุ่มวัยแรงงาน’ (Adult Skills Assessment on Thailand) ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กสศ. ธนาคารโลก สำนักงานสถิติแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมุ่งหาข้อมูลระดับทักษะความพร้อมในหลายด้านของประชากรวัยแรงงาน
ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) กล่าวถึงการศึกษาในโครงการว่า ปัจจุบันมีเยาวชนที่เป็นแรงงานนอกระบบถึง 1.3 ล้านคน จากประชากรแรงงานทั้งหมดประมาณ 20 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงประมาณร้อยละ 65 เนื่องจากมีปัญหาท้องในวัยเรียนจนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา แน่นอนว่าจากตัวเลขจำนวนมหาศาลเหล่านี้จะพบว่ามีปัญหาแรงงานขาดทักษะจำนวนมากเช่นเดียวกัน
กลุ่มตัวอย่างของการศึกษาคือ ประชากรวัยแรงงานช่วงอายุระหว่าง 15-64 ปี จำนวนประมาณ 9,000 คน จากพื้นที่ทั้งหมด 45 จังหวัด 6 ภูมิภาค โดยมีการประเมินทั้งหมด 3 ด้าน คือ ทักษะการอ่าน ทักษะด้านอารมณ์ และทักษะด้านสังคม นอกจากนี้ยังมีการเก็บข้อมูลปูมหลังของผู้ตอบแบบสอบถาม เช่น ระดับการศึกษา สถานะครอบครัว อาชีพ ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อีกด้วย
ข้อมูลชุดนี้ ภูมิศรัณย์ระบุว่า จะเก็บรวบรวมให้เสร็จสิ้นในช่วงเดือนเมษายน 2565 ซึ่งจะช่วยให้การกำหนดมาตรการเชิงนโยบายของรัฐแม่นยำต่อปัญหามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์ตลาดแรงงานทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปหลังการระบาด จุดนี้สอดคล้องกับการนำเสนอของ ประสาร ไตรรัตน์วกุล ประธานกรรมการบริหาร กสศ. ที่ระบุว่า ทักษะการทำงานจะเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จในการประกอบอาชีพ ซึ่งอาจจะสำคัญมากกว่าหรือเท่ากับการมีวุฒิการศึกษาในยุคปัจจุบันเสียอีก
ประสารยกข้อมูลการสำรวจของ World Economic Forum 2019 ที่ระบุว่า งานกว่า 1,100 ล้านตำแหน่ง จะถูกเทคโนโลยีเข้าไปเปลี่ยนแปลงอย่างหนัก ซึ่งใน 141 ประเทศที่ได้มีการสำรวจ พบว่าไทยมีแรงงานทักษะสูงเพียงร้อยละ 14 เท่านั้นจากแรงงานทั้งหมด และร้อยละ 70 ของประชากรแรงงานไทยมีระดับการศึกษาอยู่ที่ชั้นประถมเท่านั้น ดังนั้นการเร่งสนใจปัญหาด้านการยกระดับความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงานหลังโควิด-19 จึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน
การพยายามนำข้อมูลจากโครงการศึกษาเพื่อมาต่อยอดเชิงนโยบายในการผลักดันแรงงานให้ออกจากกำแพงด้านทักษะนั้น ตรงกับที่นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ณัฐสิฏ รักษ์เกียรติวงศ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ระบุเอาไว้เช่นกัน ว่าประเทศไทยมีแผนการที่จะพัฒนาหลายภาคส่วน ทั้งกระทรวงแรงงานหรือกระทรวงศึกษาธิการ เช่น เทคโนโลยีดิจิทัลหรือความเท่าทันการเงินแบบไฮเทค เป็นต้น ทว่าจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะชี้ขาดว่านโยบายนั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ณัฐสิฏระบุว่าอยู่ที่ระดับการพัฒนาทักษะพื้นฐาน ซึ่งประเทศไทยต้องระบุและหาทางแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของช่องว่างทางทักษะพื้นฐานที่เกิดขึ้นหลังการระบาดของโควิด-19 ให้ได้
ดูเหมือนว่าการทักษะพื้นฐานจะเป็นหัวใจสำคัญและทรงพลังเป็นอย่างมากในฐานะสารตั้งต้นของการพัฒนาคนวัยทำงาน ทว่าทักษะพื้นฐานเหล่านี้ทรงพลังและจำเป็นแค่ไหน ตัวแทนจากธนาคารโลกจะเป็นผู้ให้คำอธิบายในส่วนต่อไป
ทักษะพื้นฐาน ความจำเป็นสำหรับความพร้อมที่จะมีอาชีพที่ดี
ในการพัฒนาทักษะพื้นฐาน โทบี ลินเดน (Toby Linden) ผู้จัดการแผนกการศึกษา จากธนาคารโลก กล่าวไว้ว่า ทักษะพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญต่อการวางรากฐานของอาชีพต่อไปในอนาคต เนื่องจากประเทศไทยพยายามจะก้าวสู่ยุค ‘ไทยแลนด์ 4.0’ ซึ่งต้องการงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และการสร้างนวัตกรรม เพื่อเป็น ‘สมาร์ทไทยแลนด์’ ทักษะที่จำเป็นสำหรับการไปถึงจุดนี้ได้จึงต้องย้อนกลับมาที่การเตรียมทักษะพื้นฐานของวัยแรงงาน
โทบี ลินเดน (Toby Linden) สมภพ มานะรังสรรค์
ความจำเป็นในการเตรียมความพร้อมทักษะพื้นฐานเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่ใช่แค่กับประเทศไทยเท่านั้น แต่ในระดับโลกก็มีความเห็นไปในทิศทางที่คล้ายกันอีกด้วย โดยเขาได้ยกตัวอย่างงานสำรวจขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ในปี 2015 ที่ระบุว่า ร้อยละ 92 ของผู้ประกอบการที่ตอบแบบสอบถามมีความเห็นตรงกันว่า ความสามารถในด้านการแก้ไขปัญหาและความสามารถในการสื่อสารอย่างชัดเจน มีความสำคัญมากกว่าหรือเท่ากับความสามารถเชิงเทคนิค ในขณะเดียวกัน การสำรวจในประเทศแคนาดายังพบหลักฐานเชิงประจักษ์อีกว่า รายรับของวัยแรงงานอายุ 25 ปี มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นตามระดับทักษะพื้นฐานที่แรงงานมี และยังส่งผลต่อสุขภาวะในด้านต่างๆ อีกด้วย
ปัญหาใหญ่ของการขาดทักษะพื้นฐาน ลินเดนระบุว่า จากการสำรวจความสามารถในการอ่านและเข้าใจข้อความทั่วไปของเด็กวัย 10 ขวบ ในทวีปเอเชียตะวันออก พบว่า ประเทศไทยมีเด็กวัยดังกล่าวที่ไม่สามารถอ่านหรือเข้าใจข้อความพื้นฐานถึงร้อยละ 23.46 จากจำนวนทั้งหมด โดยถูกจัดลำดับเป็นประเทศที่มีปัญหาด้านนี้มากเป็นอันดับที่ 4 รองจากประเทศฟิลิปปินส์ กัมพูชา และอินโดนีเซีย และหากขยับขึ้นมามองปัญหาในเด็กอายุ 15 ปี จะพบว่าประเทศไทยมีจำนวนเด็กที่ไม่มีความคล่องแคล่วในการอ่านข้อความและคำนวณตัวเลขทางคณิตศาสตร์ทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 59.5 และร้อยละ 52.7 ตามลำดับ โดยถูกจัดอันดับความชุกของปัญหามากเป็นอันดับที่ 4 เช่นกัน
ลินเดนระบุว่า การเสริมสร้างทักษะพื้นฐานจะได้ผลดีอย่างมากในช่วงวัยเด็ก คือ ตั้งแต่อายุ 10 ปีลงไป หรือแม้แต่ 15 ปีลงไปก็ทำได้เช่นกัน ถึงแม้ว่ากระบวนการสร้างทักษะพื้นฐานจะควรทำอย่างต่อเนื่องตลอดแต่ละช่วงของชีวิต ทั้งทักษะการสื่อสาร การอ่าน หรือการแก้โจทย์คณิตศาสตร์ แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า วัยทำงานที่มีการเสริมสร้างทักษะพื้นฐานมาตั้งแต่วัยเด็กจะมีความสามารถในการปรับตัวได้สูงกว่าผู้ที่เพิ่งเริ่มสร้างเสริมทักษะหลังพ้นวัยเด็กไปแล้ว
การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทักษะพื้นฐานหรือการเตรียมความพร้อมในการมีทักษะเหล่านี้เป็นอย่างมาก โดยเขาได้ยกตัวอย่างจากข้อมูลการตกงานในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2562-2564 ซึ่งพบว่า เยาวชนมีแนวโน้มที่จะตกงานสูงกว่าผู้ใหญ่อย่างเห็นได้ชัดในช่วงโควิด-19 รวมไปถึงอัตราการถดถอยทางการเรียนรู้เมื่อเทียบกับปีที่เรียน โดยพบว่านักเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการเรียนรู้อะไรเพิ่มเลยในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 และมีปัญหาหนักหน่วงมากเป็นอันดับที่ 5 รองจากประเทศกัมพูชา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเมียนมา
ดังนั้นสิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันในการฟื้นฟูศักยภาพความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงานของเยาวชนไทย จึงต้องมีทั้งมาตรการเฉพาะหน้าอย่างความปลอดภัยในโรงเรียน และมาตรการระยะยาวอย่างการหาทางลดจำนวนเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา การเตรียมรับมือกับสภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอยจากวิกฤติโควิด-19 และการเสริมความเข้มแข็งของระบบการเรียนรู้ทางไกลตลอดระยะเวลาการระบาด
อย่างไรก็ตาม การปรับรูปแบบการศึกษาเป็นระบบทางไกลยังคงมีปัญหาอยู่ไม่น้อย โดย สมภพ มานะรังสรรค์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาทั้งหมด 3 ด้าน คือ 1) ความพร้อมของอุปกรณ์ในการจัดการเรียนการสอน ทั้งในฝั่งของสถาบันการสอนและตัวผู้ใช้ 2) ปัญหาด้านโปรแกรมที่อาจจะยังไม่เอื้อต่อระบบการศึกษาระยะไกลในปัจจุบัน และ 3) ปัญหาด้านมนุษย์ เช่น อาจารย์ยังปรับตัวไม่ได้กับการสอนหนังสือในห้องเรียนที่ว่างเปล่าเพื่ออัดคลิปการเรียนการสอน
แน่นอนว่าปัญหาด้านการฟื้นฟูทักษะสำหรับการประกอบอาชีพในอีกหลายสาขาวิชาก็ยังคงไม่มีวิธีการที่แน่นอน เช่น สาขาที่ต้องใช้งานอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ หรือสาขาที่เกี่ยวข้องการกับฝึกอาชีพโดยตรง เป็นต้น
สำรวจและทบทวนข้อมูล เพื่อประกอบสร้างกระบวนการทางนโยบาย
กระบวนการแก้ไขปัญหาทักษะพื้นฐานที่ไม่เพียงพอต่อโลกของการทำงานยุคใหม่ ซ้ำด้วยวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ช่องทางการแก้ไขปัญหาด้วยมาตรการทางเชิงนโยบายจำเป็นต้องเริ่มนำกลับมาพูดคุยกันใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ให้มากกว่าเดิม
ณัฐสิฏ จาก TDRI ระบุว่า ในประเด็นด้านการศึกษาของไทยเพิ่งตื่นตัวไม่นาน การศึกษาในประเด็นดังกล่าวให้ครบถ้วนรอบด้านอาจต้องใช้เวลานาน 5-10 ปีกว่าจะเห็นผล ปัจจุบันจึงเป็นเรื่องที่ยังไม่สามารถตัดสินได้ว่านโยบายใดบ้างที่ได้ผลสำเร็จจริง แม้ว่าอาจจะมีบางนโยบายได้ผลในระดับนำร่องบ้างก็ตาม ประเด็นสำคัญต่อมาคือ ยังไม่มีการนำโครงการเหล่านั้นมาขยายผลให้มากขึ้นเท่าที่ควร
นฎา วะสี ภัทรพร เล้าวงค์
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้มีการนำข้อมูลมาใช้ในภาคปฏิบัติมากขึ้น ดังที่ นฎา วะสี ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER) ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ระบุว่า ข้อมูลมักถูกนำมาใช้ในลักษณะของการ input เข้าสู่กระบวนการออกแบบนโยบายมากกว่าการนำไปใช้ในรูปแบบอื่น
ตัวอย่างสำคัญของวิธีการใช้ข้อมูลในลักษณะนี้ คือ การศึกษาวิธีการทำงานของต่างประเทศเพื่อนำมาเป็นแนวคิดในการออกนโยบาย ซึ่งเป็นการตอบโจทย์เชิงนโยบายด้วยข้อมูล ทำให้ประเทศไทยสามารถระบุเป้าหมายในการออกนโยบายได้ง่ายขึ้น แต่ในต่างประเทศจะใช้ข้อมูลในฐานะการประเมินนโยบายที่ออกไปมากกว่า ว่าได้ผลมากน้อยแค่ไหน ตรงนี้จะเป็นจุดสำคัญที่แตกต่างจากแนวคิดของประเทศไทย เนื่องจากภาครัฐไทยเน้นการเก็บข้อมูลเพื่อประเมินผลนโยบายผ่านการตอบแบบสอบถามของผู้เข้าร่วมโครงการเท่านั้น
ดังนั้นหากโครงการวิจัยสำรวจทักษะความพร้อมของประชากรกลุ่มวัยแรงงานชิ้นนี้สำเร็จ การนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการออกแบบนโยบายจะกลายเป็นประโยชน์อย่างมากในการระบุเป้าหมายที่ครอบคลุมมากขึ้น ดังที่ ภัทรพร เล้าวงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนพัฒนาสังคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ระบุเอาไว้ว่า การสำรวจเพื่อจัดทำข้อมูลเรื่องทักษะของคนวัยทำงานขนาดใหญ่เช่นนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งหากได้ข้อมูลชุดนี้มานอกจากจะสามารถนำไปต่อยอดได้แล้ว ยังสามารถใช้เพื่อประเมินผลนโยบายภาครัฐย้อนหลังได้อีกด้วย เช่น การสืบย้อนกลับไปว่าแรงงานที่มีทักษะพื้นฐานที่ดีและไม่ดีนั้นผ่านระบบการศึกษาแบบใดมาบ้าง หรือนโยบายภาครัฐของทั้งฝั่งกระทรวงแรงงานและกระทรวงศึกษาธิการตอบโจทย์ด้านการพัฒนาทักษะของแรงงานจริงมากน้อยเพียงใดตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา