งานเสวนา ‘เปิดประตูสู่ความเหลื่อมล้ำ’ โดยความร่วมมือระหว่างไทยพีบีเอสและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 จัดขึ้นภายใต้จุดประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง อันมุ่งไปสู่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
หนึ่งในหัวข้อสำคัญของการเสวนาคือ ‘ปลดล็อกความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ ซึ่งเปรียบเสมือนหล่มใหญ่ในสังคมไทยที่ยังไม่อาจก้าวพ้นได้โดยง่าย และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน วาระการเสวนาในครั้งนี้จึงเป็นพื้นที่การแลกเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการเพื่อสร้างแนวทางการทลายความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
คืนเด็กสู่ระบบการศึกษา ฟื้นฟูทักษะและเยียวยาสุขภาพ
ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่าสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายิ่งชัดเจนขึ้น โดยสถิติในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาพบว่า เด็กที่หลุดออกจากการศึกษาในพื้นที่ กทม. มีจำนวนกว่า 200,000 คน ซึ่งสอดคล้องกับปัญหาการเลิกจ้างและการขาดรายได้ของประชาชนใน กทม.
ไกรยสเน้นย้ำว่า ปัญหาเหล่านี้ยังรวมไปถึงเรื่องโภชนาการและการเข้าถึงสถานศึกษา ซึ่งแม้ว่าประเทศไทยจะมีโครงการเรียนฟรี 15 ปี แต่ก็ไม่สามารถชดเชยค่าใช้จ่ายส่วนที่ผู้ปกครองของเด็กต้องแบกรับได้ อีกทั้งนโยบายดังกล่าวยังไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน หากไม่ได้รับการแก้ไขก็จะมีเด็กหลุดออกจากการศึกษาอีกจำนวนมาก อีกทั้งยังโยงไปถึงปัญหา ‘learning loss’ เนื่องจากเด็กที่หลุดออกจากระบบมักต้องเข้าสู่เส้นทางของการทำงานหาเลี้ยงชีพ
แนวทางที่ถูกเสนอในเวทีเสวนาคือ การพาเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากลับเข้าระบบให้ได้ ต้องตรวจสอบดูแลสุขภาพกาย สุขภาพจิต และทักษะด้านการเรียนรู้ รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างครอบครัวและโรงเรียน
คุณภาพการเรียนการสอน ปัญหาที่ไม่อาจมองข้าม
ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ใช่แค่ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบเท่านั้น อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าปัญหาคุณภาพการเรียนรู้จากการเรียนออนไลน์ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องเร่งแก้ไข เนื่องจากมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่แม้จะยังอยู่ในระบบการศึกษา แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยปัจจัยหลายประการ เช่น ปัญหาสุขภาพจากโควิด-19 การแบ่งเวลาในการเรียนเพื่อไปหาเลี้ยงครอบครัว รวมไปถึงการขาดผู้ปกครองที่จะช่วยติดตามดูแลการเรียน
อรรถพลให้ความเห็นว่า โรงเรียนและครูจะต้องช่วยกันสอดส่องดูแลปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะการประสานงานกับเครือข่ายต่างๆ เพื่อรับข้อมูลและสร้างแนวทางการดูแลนักเรียนร่วมกัน โดยระบุว่าครูควรได้รับการสนับสนุนให้เกิดการปรับตัวเพื่อรองรับสถานการณ์ทางการศึกษาในสภาวะปัจจุบัน ทั้งนี้ได้ยกตัวอย่างการทำงานของ ‘เครือข่ายครูพญาไท’ ที่มีออกแบบการทำงานร่วมกันในการเก็บข้อมูลและติดตามเด็กนักเรียน และ ‘บางรักโมเดล’ ที่มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับวิธีการสอนของเครือข่ายครูผ่านการประสานงานกับสำนักงานเขตบางรัก
สร้างทางเลือกของการเรียนรู้ สร้างพื้นที่การพัฒนา
นอกจากปัญหาการโอบรับและเรียกคืนเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข ขณะเดียวกัน ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มองว่าความไม่สอดคล้องและไม่ตอบโจทย์ของหลักสูตรการศึกษาก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กหลุดออกจากการศึกษาในช่วงที่ผ่านมา โดยศานนท์ได้ให้ความเห็นว่า การเรียนรู้สามารถออกแบบให้แตกต่างเพื่อให้เข้ากับตัวผู้เรียนได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เด็กจำนวนไม่น้อยต้องประสบปัญหาการเข้าไม่ถึงการศึกษาในระบบหลัก ทั้งปัจจัยด้านค่าใช้จ่ายและสภาพความเป็นอยู่
ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ กทม. ได้เสนอให้มีการศึกษาแบบทางเลือกสำหรับเด็กที่ไม่สามารถเข้าสู่การศึกษาในโรงเรียนได้ รวมทั้งควรส่งเสริมไปถึงระดับพื้นที่และชุมชนเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงสู่ครอบครัวเด็ก ทำให้เกิดการเรียนรู้และแก้ปัญหาร่วมกันได้ โดยนโยบายหนึ่งที่ถูกยกขึ้นมาอภิปรายในเวทีเสวนาคือ การพัฒนาการศึกษา 3 ระยะ ได้แก่ ปลดล็อก-ปรับปรุง-เปลี่ยนแปลง ซึ่งจะเริ่มจากการปลดล็อกครู โรงเรียน และหลักสูตรให้สอดคล้อง และส่งเสริมพัฒนาการด้านการศึกษาให้เด็กอย่างเต็มที่ ลดภาระบางอย่างที่ไม่จำเป็นต่อการสอนของครู สร้างหลักสูตรที่รองรับความต้องการด้านการศึกษาของเด็ก ปรับปรุงพื้นที่ในโรงเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยในช่วงหลังเลิกเรียน (after school) รวมถึงในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์
สนับสนุนงบการศึกษาให้ถึงมือเด็กทุกคน
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร หัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบาย กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวว่าการแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากการศึกษาคือปัญหาที่เร่งด่วน เนื่องจากพัฒนาการทางการเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัยของเด็กนั้นมีความแตกต่างกัน หากเลยช่วงวัยใดไปจะทำให้การแก้ไขยากยิ่งขึ้น และอาจนำไปสู่การเสียโอกาสทางสังคมในอนาคต
ประเด็นปัญหาสำคัญที่พบในขณะนี้คือ งบประมาณยังไม่ถูกจัดสรรสำหรับการพัฒนาด้านการศึกษามากนัก โดยวิโรจน์ระบุว่า จากข้อมูลด้านงบประมาณของ กทม. พบว่ามีการจัดสรรเป็นทุนการศึกษาสำหรับเด็กที่มีผลการเรียนดีประมาณ 1.5 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนเด็กในวัยเรียนกว่า 200,000 คน ในพื้นที่ กทม. แล้วนับว่าเงินจำนวนดังกล่าวอาจยังไม่เพียงพอ ทั้งยังไม่ปรากฏงบประมาณด้านการฟื้นฟูการศึกษา ทุนสำหรับเด็กที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา และเงินอุดหนุนให้แก่เด็กที่อยากเรียนแต่ไม่เข้าเกณฑ์จะได้รับทุนเรียนดี
ในช่วงท้าย วิโรจน์ได้เสนอให้ กทม. พิจารณาจัดสรรงบงบประมาณด้านการศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา และปรับเปลี่ยนการมอบทุนผ่านศูนย์การศึกษาไปเป็นทุนที่ถึงมือเด็กโดยตรง