แต่ละวันเด็ก ๆ ต้องใช้เวลาอยู่ในสถานศึกษาไม่น้อยกว่า 5-6 ชั่วโมง ซึ่งบุคคลที่ต้องทำหน้าที่ดูแล ให้ความรู้ และรับมือกับเด็กนักเรียนจำนวนมากก็คือ “ครู” ขณะเดียวกันสังคมก็คาดหวังว่า ครูจะทำหน้าที่พ่อพิมพ์ แม่พิมพ์ของชาติได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ครูจำนวนมากจึงแบกรับทั้งความคาดหวังของสังคมและสะสมความเครียดจากการทำงานโดยไม่รู้ตัว
“ผมเป็นนักจิตวิทยาทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและให้การบำบัดให้กับผู้คนหลากหลายอาชีพแต่น่าแปลกที่อาชีพครูไม่เคยมาหาผมตั้งคำถามกับตัวเองว่าครูไม่มีปัญหาความเครียดหรือซึ่งครูเป็นอาชีพที่อยู่กับความคาดหวังของสังคมค่อนข้างมากแต่เพราะหน้าที่ของครูอยู่ในสถานะผู้ให้การดูแลและให้คำปรึกษาเด็กๆครูอาจจะชินกับปัญหาและทำหน้าที่โดยไม่รู้ตัวว่าตัวเองสะสมความเครียดไว้”
คุณสมภพ แจ่มจันทร์ นักจิตวิทยาการปรึกษา โครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียน ในสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. และวิทยากรกิจกรรมพัฒนาศักยภาพครูด้านการดูแลช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มเฉพาะ หัวข้อ “ค้นหาคุณค่าภายใน เสริมสร้างกำลังใจความเป็นครู” เปิดเผยถึงเหตุผลหนึ่งของการเริ่มดำเนินโครงการดังกล่าว
คุณสมภพ เล่าถึงแนวคิดในการดำเนินโครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือฯ ว่า ครูก็มีความเครียดไม่ต่างจากอาชีพอื่น ๆ และเมื่อครูเครียดก็ส่งผลกระทบไปถึงเด็กนักเรียนด้วย ดังนั้น เรื่อง “สุขภาพใจ” ของครูจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ควรได้รับการดูแล นอกเหนือจากการพัฒนาความสามารถทางวิชาการหรือทักษะการเรียนการสอน แต่เรื่องดังกล่าวกลับถูกมองข้ามไป อีกทั้งเมื่อครูอยู่กับปัญหาต่าง ๆ จนกลายเป็นความชาชิน ก็ทำให้ไม่รู้ว่าตัวเองมีความเครียดสะสม ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพจิตของครู เพื่อนร่วมงาน และนักเรียน
“ก่อนเริ่มโครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือฯ ได้มีโอกาสลงพื้นที่กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงเห็นว่าครูควรได้รับการเสริมสร้างในมิติด้านจิตใจเพิ่มเติมนอกเหนือจากด้านวิชาการ เพราะที่ผ่านมาเราอาจจะถามว่าครูมีปัญหาอะไร แต่คำตอบที่ได้อาจไม่ชัดเจนว่ามีปัญหาอะไรบ้าง แต่เรานำกระบวนการทางจิตวิทยาเข้าไปทำกิจกรรมภายในโรงเรียน โดยไม่ได้มุ่งให้ครูตอบถึงปัญหา แต่ทำให้ครูเปิดใจ รู้สึกปลอดภัยที่จะพูด พร้อมบอกเล่าประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ก็จะทำให้เราทราบถึงปัญหาที่แท้จริงจากการถ่ายทอดของครู รวมทั้งความคาดหวังที่ครูต้องการ โดยเฉพาะครูในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์และโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ที่ทำงานโดยตรงกับกลุ่มเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาส ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ กสศ. ต้องการเข้าไปดูแล โดยโครงการนี้นำร่องทำกิจกรรมในโรงเรียนศึกษาสงเคราะและโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 5 โรงเรียน ในพื้นที่จังหวัดสตูล ลพบุรี ตาก บุรีรัมย์ และเชียงราย ครอบคลุมทุกภูมิภาค โดยคาดหวังว่าจะเห็นรูปแบบของปัญหาในแต่ละภูมิภาคว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร” คุณสมภพกล่าว
คุณสมภพ กล่าวต่อไปอีกว่า เมื่อสำรวจและทำความเข้าใจปัญหาของครูที่แท้จริงแล้ว ทางโครงการฯ จะมาออกแบบกระบวนการที่จะช่วยเหลือครูทั้งในแง่ของการจัดอบรม และสร้างระบบที่เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ในรูปแบบเว็บไซต์รวบรวมองค์ความรู้และให้คำปรึกษา โดยครูสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ ทั้งกลุ่มครูที่เคยผ่านการอบรมมาแล้ว และครูที่ยังไม่เคยเข้าร่วมอบรมก็สามารถใช้เครื่องมือดังกล่าวได้เช่นกัน ซึ่งระหว่างที่โครงการยังดำเนินการอยู่ถึงสิ้นปี 2563 จะจัดให้นักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาผ่านทางแพลตฟอร์มดังกล่าว เสมือนเป็นผู้ช่วยครู นอกจากนี้จะรวบรวบประมวลผลถึงปัญหาและความต้องการของครูเป็นข้อเสนอต่อ กสศ. เพื่อให้การช่วยเหลือหรือเชื่อมโยงความช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ ต่อไป
“ในเบื้องต้นจากการทำกระบวนการทางจิตวิทยาพบว่า ครูส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลเรื่องความมั่นคงในหน้าที่การงาน ซึ่งเกิดขึ้นกับกลุ่มครูอัตราจ้างที่มีอยู่จำนวนมาก เมื่อมีปัญหาที่ต้องหาทางแก้ไขให้ตัวเอง ครูกลุ่มนี้ก็จะเหลือพื้นที่ในการช่วยเหลือผู้อื่นได้น้อยลง ขณะเดียวกันครูที่อยู่ในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์และโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ก็ต้องทุ่มเททำงานอย่างหนัก ใช้เวลาส่วนใหญ่ของตนเองไปกับการดูแลนักเรียน ก็เกิดคำถามถึงความยุติธรรมของการเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะเมื่อทุ่มเททำงานไม่ต่างกับครูโรงเรียนอื่น แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่เหมือนกัน เช่น ความก้าวหน้าน้อยกว่า ก็ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ยุติธรรม
“แต่สิ่งที่เราพบว่าเป็นพลังด้านบวกของครูคือ ผลลัพธ์ที่ได้จากที่ครูได้เห็นเด็ก ๆ ประสบความสำเร็จ เป็นสิ่งที่ครูหลายคนพูดตรงกันว่าไม่เคยคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำจะมีผลต่อชีวิตเด็กขนาดนี้ ผมคาดหวังว่า โครงการนี้จะทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันของครูในโรงเรียน เพื่อส่งพลังบวกให้แก่กันและให้ครูรู้ว่า มีเพื่อนครูร่วมทำในสิ่งเดียวกัน และพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือสนับสนุน เพราะที่ผ่านมาครูมักจะทำงานกันแบบต่างคนต่างทำงาน ไม่มีการคุยถึงปัญหาหรือความต้องการของแต่ละคน เมื่อเปิดใจก็ทำให้เข้าใจกันมากขึ้น ความตึงเครียดก็จะลดน้อยลง” คุณสมภพกล่าว
นางสาวปนัดดา จันทวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 51 จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า “ขอบคุณที่มามอบประสบการณ์อันล้ำค่า ให้ครูของเรา เมื่อมนุษย์เป็นสัตว์สังคม การพูดคุย เปิดใจกันจะทำให้เราอยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข โรงเรียนของเราเป็นโรงเรียนที่มีภาระงานหนัก ที่ต้องดูแลเด็กด้อยโอกาส 10 ประเภท เช่น เด็กถูกบังคับให้ขายแรงงาน เด็กเร่ร่อน เด็กที่อยู่ในธุรกิจทางเพศหรือโสเภณีเด็ก เด็กที่ถูกทอดทิ้งหรือกำพร้า เด็กที่ถูกทำร้ายทารุณ เด็กยากจน (มากเป็นพิเศษ) เด็กในชนกลุ่มน้อย เด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับสารเสพติด เด็กที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์หรือโรคติดต่อร้ายแรงที่สังคมรังเกียจ เด็กในสถานพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นเด็กที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก มีชีวิตความเป็นอยู่ด้อยกว่าเด็กปกติทั่วไป จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีพัฒนาการที่ถูกต้องเหมาะสมกับวัย และสามารถบรรลุศักยภาพขั้นสูงสุด ดังนั้น การที่ครูเปิดใจให้กัน ให้อภัยกัน ทุกอย่างจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้นเลย เมื่อครูได้เข้าอบรมในครั้งนี้ ก็ขอให้ครูนำไปต่อยอด เพื่อเด็กนักเรียนของเรา ซึ่งมีต้นทุนชีวิตต่ำ ดังนั้น เมื่อผู้อำนวยการเป็นนิ้วโป้ง ครูเป็นนิ้วแต่ละนิ้วที่มาประกอบกันเป็นมือที่จะคอยโอบอุ้มช่วยกันนำความรู้ที่ได้รับ นำไปต่อยอดให้กับลูก ๆ ของเราให้มีความคิดเชิงบวก เพื่อเติบโตอยู่ในสังคมอย่างเป็นสุข”
ครูต่าย นายวิฑูรย์ ทรงงาม ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 51 จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า
“เพราะเป็นครูที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาในทุกระยะของชีวิต ตั้งแต่เรียน ป.4 และ ม.3 ด้วยความเกเร ผิดพลาดในการดำเนินชีวิตมาก่อน” การที่รอดพ้นมาได้เพราะครูให้โอกาส ด้วยพื้นฐานรักดี รู้ตัวว่าเราทำผิดเรื่องอะไร และรู้จักตัวตนของเราว่าชอบอะไร ดังนั้น ด้วยความชอบทางดนตรี ครูที่สอนดนตรีจึงให้โอกาสได้เรียนต่อ ส่งเสียค่าเล่าเรียนให้จนจบ ม.5 หลังจากนั้นได้สอบเรียนต่อเอกดนตรีที่วิทยาลัยครู จนจบประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง ก็สอบเข้าบรรจุครูได้จนเป็นครูมาถึงปัจจุบัน
“ผมเป็นครูที่ รร.ราชประชานุเคราะห์ 51 มาตั้งแต่ปี 2527 ด้วยความขาดโอกาส ยากจนมาก่อน เราเป็นเด็กเกเร เวลาเล่นกับเพื่อน พ่อแม่ของเด็กที่ดีก็ไม่ให้มาเล่นกับเรา ผมทำผิดซ้ำซาก ติดยาเสพติด ดมทินเนอร์ จบ ม.3 ไม่มีเงินเรียนจะต้องออกจากโรงเรียน แต่ผมโชคดีได้โอกาสจากครูสอนดนตรี ครูช่วยเด็กทุกคนในวงดุริยางค์ทั้งหมด จ่ายค่าเทอมให้ “ครูคือครูในดวงใจ” เมื่อต้องมาเป็นครู ผมเข้าใจการที่เด็กต้องพูดซ้ำซาก ทำผิดพลาดมาตลอด ก็เหมือนมองเห็นตัวผมเองที่ผ่านมา 36 ปีที่อยู่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และ 10 กว่าปี กับการทำตามคำสั่ง ไม่เคยได้พูดกัน เห็นหน้า เห็นตากัน หน้างานใครก็หน้างานมัน เมื่อได้มาเปิดใจ ก็เพิ่งรู้ว่าเราคือทีมเดียวกัน เมื่อเป็นหนึ่งเดียวก็จะเกิดการทำงานเป็นทีมร่วมกันได้”
กิจกรรมพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนฯ เป็นกิจกรรมที่ดีมาก เพราะบางเรื่องราวอยู่ในหัวอกคนเป็นครูแต่ละคน แต่เราไม่เคยระบายออกมาเลย เมื่อมีนักจิตวิทยามาจัดกิจกรรมให้ เราก็เกิดการระบาย แชร์ความคิด เล่าปัญหา สาเหตุ จากเพียงคำถามง่าย ๆ แต่เมื่อถอดรหัสจากคำถาม อะไรทำให้ประทับใจ เสียใจที่สุดเรื่องอะไร ดีใจที่สุดเรื่องอะไร เราจึงพบจิตใจของเพื่อนครู ซึ่งกิจกรรมที่จัดมีการวางกลไกที่แยบยล สามารถนำตัวอย่างไปประยุกต์ใช้ ประโยชน์ที่เด็กต้องศึกษา ตามหลักพุทธเจ้า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ปัญหาต่าง คนต่าง ปัจจัยแวดล้อมต่าง เปรียบเหมือนบัว 4 เหล่า คือคนปกติ แต่คนที่ไม่ปกติ อีก 4 เหล่า พฤติกรรมหลากหลาย ทั้งจรจัด ถูกกระทำ ซึ่งไม่เหมือนคนทั่วไป ซึ่งเด็กนักเรียนของเราอยู่ต่ำกว่า 4 ข้อนี้ ครูต้องอดทน แต่ครูคือคนปกติจึงต้องได้รับการฝึกฝน อดทน ความเพียร สติ เมื่อเราเจอเด็กที่ทำผิดบ่อย เราก็ต้องอดทน ให้อภัยให้โอกาส เด็กไม่ได้รับการอบรมมาเลย ถูกทอดทิ้ง พ่อแม่แยกทาง และสังคมมีเรื่องยาเสพติดเข้ามาอีก ดังนั้น การวิเคราะห์ตัวผู้เรียนสำคัญมาก เด็กบางคนก้าวร้าว สูบบุหรี่ เด็กมีความกดดัน บางคนเกลียดครู ฉะนั้น การใช้จิตวิทยาคุยกับเด็ก เพื่อการแก้ปัญหา อย่าไปใช้การลงโทษ คืนคนดีสู่สังคมให้ได้ อย่าให้เด็กหลุดออกไปจากระบบการศึกษา
ครูเตือน สุรัชนาพรมภมร โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 51 จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า
“เมื่อรับทราบว่าจะต้องเข้าร่วมอบรมในโครงการฯ ความรู้สึกแรกเบื่อ เซ็ง แต่เมื่อเริ่มเข้าร่วมกิจกรรมก็อึ้ง เพราะที่เคยอบรมมาคือการทำชาร์ต การทำแผน การเข้าร่วมกิจกรรม 2 วันนี้ จึงเป็นกระบวนการที่ชอบ ตรงกับที่ต้องการ เป็นการละลายพฤติกรรม การทำงานมา 13 ปี เพิ่งจะมารู้จักกันใน 2 วันนี้ เป็นมิติใหม่ของการเข้าอบรม ซึ่งชอบเทคนิคการเปิดใจ จะนำไปใช้กับเด็ก ขอบคุณวิทยากรที่ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กับครูทุก ๆ คน”
เช่นเดียวกับ ครูวิ วิจิตรา สุภตานนท์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 51 จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า “เมื่อเข้าอบรม เกิดความเห็นใจกัน การพูดคุยกันก็ยิ่งเหมือนพี่น้องกัน ความรู้สึกต่าง ๆ พอได้เปิดใจกันแล้วก็ผ่อนคลาย ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นคือเราไม่ได้พูดคุยกันเลย เป็นครูที่นี่มา 25 ปี เรามีผู้บริหารที่รับฟังเปิดใจ ไม่ได้ใส่อารมณ์ เพราะเราอยู่กับปัญหาของนักเรียนมากแล้ว โดยความจริงโรงเรียนของเราไม่ได้อยู่ในภาวะนักเรียนบกพร่องเท่านั้น ตัวครูเองก็บกพร่อง จากนี้ ครูทุกคนจะก้าวข้ามไปได้ เพราะมีกำลังใจจากเพื่อนครูทุกคน”
ครูต่าย จ.ส.อ.หญิงวันทนา บัลลังก์ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่จัน จังหวัดเชียงราย เปิดเผยความรู้สึกหลังได้เข้าร่วมกิจกรรมว่า โครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนฯ มีกิจกรรมที่ช่วยละลายพฤติกรรมครูในโรงเรียนได้เป็นอย่างดี และเหมาะสมกับสถานการณ์ของโรงเรียนในปัจจุบัน สาเหตุหนึ่งของความเครียดมาจากปัญหาเรื่องความก้าวหน้าและเจริญเติบโตในหน้าที่การงานที่ไม่เท่าเทียมกัน ทุกคนต่างรู้สึกว่าตัวเองทำงานหนักหมด แต่ได้ผลตอบแทนต่างกัน ทำให้ไม่มีขวัญกำลังใจในการทำงาน แต่เมื่อได้เข้าร่วมทำกิจกรรมที่มีกระบวนการให้ผู้เข้าร่วมทุกคนเปิดใจ พูดคุยกัน แบ่งปันปัญหาที่แต่ละคนประสบให้กันฟัง ทำให้มุมมองและความคิดที่เรามีต่อเพื่อนร่วมงานบางคนเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และพร้อมให้การช่วยเหลือ นั่นเพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยเปิดใจคุยกัน แต่เรามองและตัดสินเขาด้วยตัวเราเอง ซึ่งกิจกรรมที่ทำนี้จะทำให้บรรยากาศในการทำงานดีขึ้น และเกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือกันทำงาน ทำให้ครูมีพลังบวกเพิ่มขึ้น จึงอยากให้มีกิจกรรมแบบนี้อีกและอยากให้ครูในโรงเรียนที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมได้เข้าร่วมด้วย
“ครูจะนำรูปแบบกิจกรรมที่นักจิตวิทยาทำ ไปใช้กับนักเรียนในห้องเรียน เพื่อให้นักเรียนได้เปิดใจคุยกัน ได้ขอโทษกัน เพราะเด็กก็มีปัญหากับเพื่อนร่วมชั้นเรียนเช่นกัน อีกทั้งเด็กจะได้เรียนรู้การรับฟังและการให้ความช่วยเหลือผู้อื่นด้วย” ครูต่ายกล่าว
ครูจตุพร บุญมา โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่จัน จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า “ดีใจที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เพราะได้รับแนวทางในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหา และการสร้างภูมิกันในตัวเองที่ดี ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้เราได้เห็นคุณค่าในตัวเอง ได้เกิดความเชื่อมั่นว่า เมื่อมีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรเราจะสามารถฟันฝ่าไปได้เสมอ นอกจากนี้รูปแบบกิจกรรมยังให้เราได้ร่วมกันแบ่งปันปัญหาของตัวเองและวิธีการแก้ปัญหาของแต่ละคน ทำให้ได้รับทราบปัญหาของคนอื่น และได้รู้ว่าเราจะให้ การช่วยเหลือคนที่มีปัญหาได้อย่างไร”
“รูปแบบกิจกรรมที่ทำ สามารถนำไปใช้สอนนักเรียนได้ จะช่วยเสริมสร้างกำลังใจให้นักเรียนได้อย่างดี นอกจากนี้ครูที่มาเข้าร่วมการอบรมก็ยังสามารถขยายผลไปให้กับกลุ่มครูที่ยังไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมต่อไปได้ด้วย สำหรับผมไม่เคยรู้สึกท้อถอยในการทำงานในหน้าที่ครู เป็นอาชีพที่ผมภาคภูมิใจ การได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้ง ทำให้ผมมีกำลังใจในการทำงาน และทำให้ทำงานได้อย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น” ครูจตุพร กล่าว
เมื่อครูไม่มีความเครียด แต่เปี่ยมไปด้วย “พลังบวก” สุขภาพใจแข็งแรง เด็กนักเรียนก็ย่อมได้รับสิ่งดี ๆ จากคุณครูอย่างแน่นอน