[DE Q&A] Q: “ประเมิน DE แล้วได้อะไร?” A: เราจะได้เต้นไปด้วยกัน!
การจะเข้าใจการประเมินเชิงพัฒนา (Developmental evaluation) หรือ DE จำเป็นจะต้องใช้เวลาในการปฏิบัติและการมีส่วนร่วม เพราะการประเมินนี้เป็นการประเมินที่แตกต่างจากประเมินแบบดั้งเดิม กรอบการคิด วิธีการมองสิ่งต่างๆ จะแตกต่างไปจากเดิม ผู้ที่คุ้นเคยอยู่กับการประเมินแบบเดิมจึงอาจเกิดข้อสงสัยได้
ต่อไปนี้เป็นคำถามที่เกี่ยวกับ DE โดยส่วนหนึ่งเป็นบทสนทนาพูดคุยระหว่าง ดร. นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพและนักวิจัยอาวุโสผู้ก่อตั้งโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือ HITAP ในฐานะที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับ DE และ นพ. สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในฐานะหนึ่งในทีมบริหารที่มองหาเครื่องมือที่จะช่วยพัฒนาองค์กรอยู่ตลอดเวลา เราได้รวบรวมคำถาม – คำตอบเหล่านี้เพื่อสร้างความเข้าใจให้มากยิ่งขึ้นต่อทุกคนที่สนใจที่จะพัฒนา
รู้จักการประเมินเชิงพัฒนาหรือ DE ได้อย่างไร ?
DE แม้จะไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่บอกว่าถูกหรือผิด แต่ก็ช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้ ผมขออนุญาตเล่าถึงประสบการณ์ที่ HITAP ในอดีตนี้เราได้รับทุนวิจัยจากมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ 100 ล้านบาทแล้วเขาก็ส่งคนจากองค์กรประเมินจากประเทศอังกฤษมาประเมิน DE ตั้งแต่เริ่มทำงาน ตอนแรกเราก็งงว่าจะมาประเมินอะไร เรายังไม่ได้เริ่มทำงานเลย ปรากฏว่าการที่เขามาประเมิน เราได้อะไรมากกว่าที่คิด เขาไม่ได้มาบอกว่าเราทำถูกหรือผิด แต่มาทำให้เข้าใจว่าเราทำอะไร และจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไรไปพร้อมกับที่เราทำงาน
ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้น เมื่อไม่นานมานี้เรามีบทความตีพิมพ์ชื่อ “it takes two to tango[1]” พูดถึงการทำงานที่ผ่านมาของกระบวนการประเมินยา เราทำวิจัยประเมินยาเหมือนเราไปตัดสินการทำงานของบริษัทยา กลายเป็นการปะทะกันเพราะบริษัทยาก็ลงทุนคิดค้นพัฒนายาใช้เวลานานกว่าจะออกมา เงินลงทุนก็ใช้ไปมากมาย พอมาถึงขั้นตอนการประเมินความคุ้มค่า เรากลับบอกเขาไม่ผ่านตามผลการศึกษา เราจึงลองเปลี่ยนวิธีคิด งั้นเรามาประเมินความคุ้มค่ากันตั้งแต่ตอนพัฒนายาเลยดีกว่า ถ้าเราบอกเกณฑ์ไปก่อนว่าคุณผลิตยาได้แบบนี้ถึงจะผ่านเกณฑ์ เพราะเราเชื่อว่าประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจคล้ายเราอีกเยอะ ถ้าบริษัทพัฒนายามาแล้วไม่ผ่านเกณฑ์เหล่านี้ก็ไม่ต้องลงทุนต่อ เปลี่ยนไปดูเทคโนโลยีอื่น ศึกษาทางอื่น ซึ่งขั้นตอนตรงนี้จะช่วยลดการปะทะลงได้เหมือนกับการเต้นแทงโก้ที่เราจะเต้นไปด้วยกัน การประเมินความคุ้มค่าก็เช่นกันที่ควรจะเกิดไปพร้อมกับการพัฒนายา
กลับมาที่การประเมินเชิงพัฒนา ก็เหมือนการเต้นแทงโก้ แม้ว่าเราไม่ได้เก่ง แต่เราจะมาชวน กสศ. เต้นไปด้วยกัน การประเมินเชิงพัฒนาคือการประเมินไปร่วมกัน ทีมประเมินจะทำงานร่วมกับ กสศ. เป็นทีมเรียนรู้ เราจะไม่ชี้ว่าถูกหรือผิด แต่เราจะสะท้อนการทำงานของ กสศ. ให้เข้าใจว่าสิ่งที่ กสศ. ทำนั้นเป็นอย่างไร แล้วจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร
การประเมินเชิงพัฒนาทำแล้วได้อะไร ?
อย่างแรก เราเห็นถึงความชัดเจนของสิ่งที่เราทำ เดิมทีผมมีเป้าหมายเพียง เราทำการประเมินเพื่อสนับสนุนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน การรับทุนนี้คือเราจะเข้าไปช่วยทำให้ประเทศอื่น ๆ มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ใช้จ่ายเงินไม่เจ๊ง ไม่ล้มละลายได้อย่างไร ทีมประเมินเข้ามาดูวิธีการทำงานจนสรุปการทำงานทั้งหมดของเราออกมาได้เป็นประโยคสั้น ๆ คือ “better decision, better health” เราทำงานให้ประเทศตัดสินใจได้ดีขึ้น ทำให้ได้สุขภาพดีขึ้น ทีม DE ได้มาร่วมสร้าง TOC (Theory of Change) ของเรา ซึ่งจริง ๆ สิ่งที่เราทำนั้นไปไกลมากเลยนะ เรื่องผลกระทบด้านสุขภาพเพราะเป็นเสมือนต้นน้ำของการตัดสินใจว่ายาไหน เครื่องมือแพทย์ไหน ควรจะนำมาใช้หรือไม่ใช้ ใช้ในราคาเท่าไหร่ สิ่งนี้ทำให้ผมและทีมเห็นความชัดเจนของงานที่เราทำ เอาไปต่อยอดได้ว่า ถ้าเราอยากจะขยายต่อยอดกิจกรรมที่เราทำ อะไรบ้างที่น่าจะทำให้เราประสบความสำเร็จมากขึ้น อะไรบ้างที่เราเคยทำ คิดว่าเราควรจะเริ่มทำระหว่างทาง
อย่างต่อมา คือผมคิดว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการสื่อสารได้ง่ายขึ้นนะ การประเมินเชิงพัฒนาช่วยในการสื่อสารกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่จะให้ทุนเราต่อมาในอนาคต และ
ท้ายที่สุดผมคิดว่าการประเมินเชิงพัฒนาในครั้งนั้น เป็นกระจกที่ส่องตัวเรา
ตอนเราไปทำงานกับประเทศอื่น ๆ ทุกคนอยู่ต่อหน้าเรา รู้สึกพูดกับเราดีหมด ดังนั้นการมีทีมอื่นไปช่วยฟังแทนเรา ไม่มีเราไปนั่งด้วย สิ่งที่เราได้อ่านจากรายงานด้วยใจที่เป็นกลาง ผมคิดว่า ถ้าเราไปขอความเห็นจากเพื่อนที่เราทำงานด้วยจะไม่ได้ความเห็นอย่างนี้ แต่คนที่มารายงานกับเรา เขาไม่ได้บอกว่าคนโน้นพูดกับเราไม่ดี แต่เขาบอกว่าคนโน้นเห็นแบบนี้เพราะอะไร และทำให้มีทางออกทางเลือกที่ทำให้เราดีขึ้นได้
โดยหลักการคนที่ประเมิน สุดท้ายไม่ได้บอกเกรดว่า ผ่านหรือสอบตก ไม่ได้บอกด้วยว่า เราทำดีหรือไม่ดี ฟังดูเหมือนไม่ได้ประเมิน แต่บอกว่าที่เราทำแบบนี้มา ได้มาแบบนี้เพราะอะไร ถ้าจะทำให้ดีขึ้น ทำได้มั้ย ทำอย่างไร อันนึงที่สำคัญมากเลยคือ เขาสอนให้เรารู้จักออกจากเซฟโซน เช่น การจะพัฒนาคนต้องอบรมเท่านั้น ผมเลิกทำอบรมเลยตั้งแต่ประเมินแล้วพบข้อมูลว่าการอบรมไม่ได้ช่วยอะไร
กรอบการประเมินจะอยู่ตรงไหน?
กรอบการประเมินขึ้นอยู่กับทีมเรียนรู้เลยครับ การทำงานร่วมกันของผู้ประเมินกับผู้ถูกประเมินกลายเป็นทีมเรียนรู้ เราแลกเปลี่ยนพูดคุยกันว่าเราจะมีกรอบอยู่ที่ไหน อยากตีกรอบอยู่ที่โครงการเดียวก็ได้ แต่ต่อให้เราหยิบเรื่องเดียวมาประเมิน ผมเชื่อว่าสุดท้ายทุกเรื่องเชื่อมโยงกันหมด อย่างไรก็ตาม กรอบจะอยู่ตรงไหนขึ้นอยู่กับความพอใจและการตกลงร่วมกันของทีมเรียนรู้ เราสามารถตีกรอบเพียงเฉพาะตัว กสศ. ก็ได้ เฉพาะการศึกษา หรือจะไปถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมก็ได้
หากผู้อ่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับ DE สามารถส่งเข้ามาได้ที่ kanchanok.s@hitap.net หรือ praewa.k@hitap.net
[1] Archer RA, Kapoor R, Isaranuwatchai W, Teerawattananon Y, Giersing B, Botwright S, et al. ‘It takes two to tango’: Bridging the gap between country need and vaccine product innovation. PLOS ONE. 2020;15(6):e0233950.