เป็นชุดเครื่องมือที่ทำขึ้นเพื่อช่วยสนับสนุนการแสดงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากกว่า 4 ล้านคนทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย ซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสทั้งในและนอกระบบการศึกษา ระบบ iSEE นี้จะช่วยให้การทำงานของหน่วยงานสถานศึกษาและครูทั่วประเทศกว่า 400,000 คน สามารถช่วยสนับสนุนการทำงานให้ ‘กสศ.’ ได้ง่ายขึ้น เครื่องมือนี้ช่วยติดตามผลการจัดสรรเงินของนักเรียนเป็นรายบุคคลได้อย่างต่อเนื่อง จนพวกเขาสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ช่วงสร้างความเสมอภาคให้มีประสิทธิภาพและรูปธรรมอย่างแท้จริง โดยถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่าย สามารถทำงานผ่านสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต และรองรับในคอมพิวเตอร์ทุกระบบ การเก็บข้อมูลนี้จะถูกทำโดยไม่ใช้กระดาษเลย (Paperless)
‘iSEE’ จะถูกพัฒนาให้สมบูรณ์แล้วเสร็จภายในปี 2565 เมื่อระบบนี้สมบูรณ์ภายในจะประกอบไปด้วย ข้อมูลของเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์กว่า 4 ล้านคน เชื่อมโยงผ่านเลขประจำตัว 13 หลักของเด็กกับครอบครัว ซึ่งจะถูกลิงค์ไปยังฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของรัฐ 6 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ประกอบไปด้วยข้อมูลสำคัญ เช่น รายได้ผู้ปกครอง สถานะครัวเรือน ภาพถ่ายสภาพบ้านเรือน ข้อมูลเด็กด้านสุขภาพ ความต้องการด้านการเรียน ความช่วยเหลือ เป็นต้น ถือเป็นการสร้าง Big DATA อันเป็นประโยชน์ในการลดความเหลื่อมล้ำเรื่องการศึกษาในประเทศไทยที่สำคัญอย่างยิ่ง
670,000 คน คือตัวเลขเฉลี่ยต่อปีที่กลุ่มเด็กนักเรียนจากครอบครัวยากจน ที่มีแนวโน้มออกจากโรงเรียนกลางคันหรือหลุดจากระบบการศึกษา ถ้าดูข้อมูลจากบัญชีรายจ่ายการศึกษาแห่งชาติ ในหนึ่งโรงเรียนจะมีนักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจนมีรายได้เฉลี่ยไม่ถึง 3,000 บาทต่อเดือนหรือไม่ถึง 30,600 ต่อปี ซึ่งค่าเล่าเรียนคิดเป็น 22% ของรายได้ครัวเรือน ถือเป็นภาระที่ต้องแบกรับกว่า 4 เท่าสำหรับครอบครัวเหล่านี้ พวกเขาจึงเลือกออกจากโรงเรียนแทนที่จะได้เรียนต่อ
เมื่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทย ยังเป็นปัญหาที่ถูกช่วยเหลือได้ไม่ตรงจุด แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีงบประมาณจัดสรรมาให้สำหรับนักเรียนยากจน ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่ความจริงนักเรียนแต่ละคนมี ‘ปัญหา’ และ ‘ความต้องการ’ ที่แตกต่างกันไป
กสศ. สพฐ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จึงทำการวิจัยร่วมกันเพื่อ ‘ปรับปรุง’ การจัดสรรงบประมาณให้ตรงความต้องการของ ‘นักเรียน’ เป็นรายบุคคล เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยเริ่มก้าวแรกในโรงเรียนสังกัดของ สพฐ. เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้แก่นักเรียนที่ยากจนที่สุดในระบบการศึกษา