“สิ่งที่มันเปลี่ยนไม่ใช่แค่ว่าเรียนที่ไหน แต่ว่าสภาพแวดล้อม ความรู้สึก บริบทในการเรียนการสอนของเด็กก็เปลี่ยน ถ้าครูมี Empathy ครูจะมองภาพออกว่าถ้าตัวเองเป็นเด็กต้องเจอกับอะไร พอครูเข้าใจตรงนี้ การเรียนการสอนหรือว่ารูปแบบวิธีการสื่อสารของครู การวางแผนก็จะเปลี่ยนไป ทำให้เราวางแผนได้ตรงจุดมากขึ้น ไม่ใช่แค่ยกการสอนแบบเดิมในห้องเรียนมาอยู่ในรูปแบบออนไลน์ โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนไปตามบริบทเลย”
‘ครูพิม’ ณัฏฐณี สุขปรีดี นักจิตวิทยาเด็ก
คำพูดของ ‘ครูพิม’ ณัฏฐณี สุขปรีดี นักจิตวิทยาเด็ก แสดงให้เห็นว่าหากผู้สอนมีความเข้าใจและความสามารถในการมองภาพของผู้เรียนออกว่า ผู้เรียนต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือมีความรู้สึกในช่วงเวลาขณะนั้นอย่างไร ก็จะส่งผลดีต่อผู้เรียน ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องการเรียนที่จะถูกปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับความต้องการและบริบทมากขึ้น แต่อาจหมายถึงปัญหาเรื่องราวในชีวิตประจำวันที่อาจถูกแก้ไขด้วยความช่วยเหลือของผู้สอนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความสมดุลทางจิตใจ มีความพร้อมและพัฒนาการอย่างเหมาะสม อีกทั้งเกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้เรียนและผู้สอน ซึ่งส่งผลต่อความสุขในการเรียน
Empathy คืออะไร
ถ้าเปรียบเป็นสุภาษิตก็เหมือนกับการเอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆนั่นก็คือ ความสามารถที่จะเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นโดยสมมติว่า ถ้าหากตัวเองอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นจะรู้สึกอย่างไร หากเรารู้สึกอย่างไร ผู้อื่นที่อยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นก็จะรู้สึกเช่นนั้นเหมือนกัน
ทำไม Empathy จึงสำคัญสำหรับผู้สอน?
Empathy คือหนึ่งในทักษะที่ผู้สอนจำเป็นต้องมี ซึ่งมีความสำคัญใน 3 มิติ มิติแรก หากผู้สอนไม่เข้าใจบริบทของผู้เรียนก็จะวางแผนการเรียนการสอนตามมุมมองของผู้สอนเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับความต้องการและความพร้อมของเขา โดยเฉพาะเมื่อผู้เรียนต้องเรียนผ่านสถานการณ์โควิด-19 ที่สิ่งแวดล้อมรอบบ้าน รวมถึงความรู้สึกไม่เหมือนอยู่ที่โรงเรียน จึงต้องมีวิธีจัดการเรียนการสอนและวิธีการสื่อสารกับผู้เรียนที่ไม่ได้อยู่ใกล้ๆ ไม่ได้มีการสัมผัสที่แตกต่างกันออกไป การที่ Empathy เข้ามามีบทบาท ก็มีผลทำให้ผู้สอนเข้าใจในความรู้สึกของผู้เรียน และนึกภาพออกว่าเขาน่าจะต้องการอะไร นอกจากแค่ยกการเรียนการสอนแบบธรรมดามาอยู่บนออนไลน์ แล้วนำไปวางแผนการสอนเพื่อปรับให้เข้ากับผู้เรียนมากที่สุด
มิติที่2 ทำให้ผู้สอนสื่อสารกับผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะการใช้คำพูดที่สะท้อนว่าเรามี Empathy ก็สำคัญ บางครั้งผู้สอนอาจพูดในประเด็นที่สร้างความกระทบกระเทือนจิตใจให้แก่ผู้เรียนหรืออาจพูดในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในบริบทของผู้เรียน เช่น “ทำไมเธอถึงไม่ตั้งใจฟังเลย” โดยที่บริบทของผู้เรียนอาจไม่มีลำโพงขยายเสียงหรือเสียงนอกบ้านดังมากๆ การที่เราไปตัดสินเลยว่าเขาไม่ได้ตั้งใจฟัง นั่นอาจหมายถึงว่าเรายังไม่ได้เอาตัวเองเข้าไปในมุมมองของเขาและปัญหาที่แท้จริงก็จะไม่ถูกแก้ไข
มิติสุดท้าย การมี Empathy ทำให้เราสร้างความสัมพันธ์หรือความเข้าใจอันดีระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนได้ เพราะผู้เรียนจะมีปฏิสัมพันธ์หรือรู้สึกดีกับเรา ใกล้ชิดเราได้ ถ้าเราพูดได้ตรงกับความรู้สึกหรือความคิดของเขา หากเปรียบเป็นสถานการณ์ในที่ทำงาน เมื่อเรานั่งอยู่ซึ่งมีท่าทีง่วงนอน แล้วมีคนมาถามเราว่า “ไม่ค่อยได้นอน งานเยอะหรอ” เราก็จะรู้สึกว่าเขาเข้าใจเรา ในทางกลับกันถ้าอีกคนเดินมาบอกว่า “ทำไมไม่รู้จักนอนมาให้พอ มัวแต่ดูซีรีส์หรอ” ซึ่งความเป็นจริงเราอาจไม่ได้เป็นอย่างนั้น เราก็จะรู้สึกว่าคนนี้ไม่ได้เข้าใจเราเลย ในกรณีของผู้สอนกับผู้เรียนก็เหมือนกัน การที่เราพูดแล้วแสดงออกว่าเราเข้าใจผู้เรียน เขาก็จะรู้สึกอยากเปิดใจให้กับผู้สอน เมื่อเขามีปัญหาก็กล้าที่จะเข้ามาปรึกษาจนเกิดความรู้สึกไว้วางใจและเห็นผู้สอนเป็นที่พึ่งพิงในยามทุกข์
Empathy เกิดได้จากประสบการณ์ไม่ใช่การบอกกล่าว
‘ประสบการณ์ตรง’จะช่วยให้เรามี Empathy ได้ง่ายกว่า ‘การบอกว่าให้เรามี Empathy’ เพราะไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ใช่ความรู้ ไม่ใช่สิ่งที่อธิบายแล้วจะเข้าใจเลย อาศัยผ่านการมีประสบการณ์หรือการเห็นภาพจริง ดังคำกล่าวที่ว่า “คนที่เห็นโลกมาเยอะก็จะเข้าใจโลกเยอะ”
ในงานวิจัยบางงานก็มองว่า Empathy พัฒนามาตั้งแต่เล็กในลักษณะที่ควบคู่กับโครงสร้างหนึ่งทางสมอง ซึ่งทำหน้าที่ในการสะท้อนพฤติกรรม ทำให้เด็กเล็กๆเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่แล้วสะท้อนออกมาเป็นความต้องการของตัวเองได้ เช่น ยิ้มให้รู้ว่ามีความสุข ร้องไห้ถ้าอยากกินนม ซึ่งเป็นพื้นฐานของ Empathy คือการรู้ว่าการแสดงออกแบบนี้เพื่อสื่อสารให้คนอื่นรับรู้ว่าตัวเองกำลังรู้สึกอย่างไร สำหรับการมี Empathy ในระดับสูง จะมีรายละเอียดที่ลึกลงไปมากกว่านั้น จึงต้องผ่านการมีประสบการณ์ในชีวิตจริงต่างๆ ผู้สอนจะพัฒนา Empathy ของตัวเองได้โดยสร้างประสบการณ์ให้กับตัวเองมากขึ้นและพยายามนึกภาพของตัวเองในมุมมองที่หลากหลาย
วิธีการที่ง่ายที่สุดที่จะสร้าง Empathy ในกรณีที่ผ่านประสบการณ์มาน้อย อาจใช้เรื่องเล่า การอ่านหนังสือหรือดูซีรีส์ นิยายที่มีการบรรยายของอารมณ์และความรู้สึก จะช่วยให้เข้าใจมุมอื่นๆได้ดีมากขึ้นและเกิดความพยายามฉุดความคิดของตัวเอง การฝึกสมาธิก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่สามารถช่วยได้ บางทีการที่เรามุ่งเป้าไปที่การเข้าใจคนอื่นเลย แต่ไม่เคยทำความรู้จักหรือสื่อสารกับตัวเราเอง สุดท้ายแล้วก็จะเข้าใจคนอื่นยาก
Mindset ส่งผลต่อการมี Empathy
ผู้สอนที่มี ‘Growth Mindset’ หรือกรอบความคิดแบบพัฒนาได้ จะส่งผลให้เกิด Empathy มากกว่าผู้สอนที่มี ‘Fixed Mindset’ หรือกรอบความคิดแบบตายตัว เพราะกรอบความคิดแบบตายตัวจะทำให้ผู้สอนมองในมุมมองของตัวเองเพียงฝ่ายเดียว แต่สำหรับผู้สอนที่มี Growth Mindset จะมีความยืดหยุ่นทางความคิด เช่น การที่ผู้สอนมองว่าไม่จำเป็นต้องมีทางเลือกเดียว หรือวิธีการเดียว หรือรูปแบบเดียวในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง พอผู้สอนมีความยืดหยุ่น ผู้เรียนก็จะรู้สึกผ่อนคลายที่จะเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนหรือการค้นหาคำตอบมากขึ้น
เทคนิคการสื่อสารที่จะช่วยสร้างความสุขแก่ผู้เรียน
เมื่อเรียนออนไลน์การสื่อสารแบบรายบุคคลค่อนข้างเป็นเรื่องยาก แต่สิ่งที่ผู้สอนสามารถพูดได้ในภาพรวม คือ การเช็คอารมณ์และความรู้สึกของผู้เรียนในช่วงต้นหรือท้ายคาบเรียน การสะท้อนอารมณ์หรือความรู้สึกของผู้เรียนแต่ละคนเท่าที่สังเกตได้ เช่น “วันนี้ทุกคนเป็นอย่างไรบ้าง”, “เด็กทุกคนมีความสุขไหม พร้อมที่จะเรียนไหม คนไหนยังไม่พร้อมบอกครูได้” เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการตอบรับอะไรบางอย่างกับผู้สอน คำถามเหล่านี้จะทำให้เราได้ข้อมูลจากผู้เรียนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ไม่สามารถบอกปัญหาหรือความต้องการที่จะให้ผู้สอนช่วยเหลือได้อย่างชัดเจน การมีคำถามนำก็จะช่วยในส่วนนี้ หรือถ้าผู้สอนมีความใกล้ชิดกับผู้เรียนแล้วเห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ก็สามารถใช้คำพูดสะท้อนอารมณ์ของเขาได้ เช่น “ทำไมหน้าเศร้าจังเลยลูกมีอะไรรึเปล่า” แม้ว่าคำตอบที่ได้รับกลับมาจะเป็นสิ่งที่ผู้สอนไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เขาจะรู้สึกว่าผู้สอนมีความเห็นอกเห็นใจเขาแล้ว สุดท้ายผู้สอนควรทิ้งท้ายด้วยการเปิดช่องทางติดต่อขอความช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้เวลาที่ผู้สอนสอนไม่ได้มีแค่วิชาการ อาจมีการเล่าเรื่องอื่นๆที่สะท้อนอะไรบางอย่างออกมาด้วย ซึ่ง ‘ครูพิม’บอกว่าเป็นจุดหนึ่งที่ควรจะต้องระวัง
“สิ่งหนึ่งที่ครูต้องระมัดระวังคือเวลาเราสะท้อนอารมณ์ ความรู้สึกอะไรเราต้องไม่ทำให้เด็กดูน่าสงสารหรือแสดงจุดอ่อนหรือจุดที่ต้องการความเห็นอกเห็นใจ จริงๆแล้วเด็กอาจต้องการความช่วยเหลือ แต่ไม่ต้องการให้เป็นที่รับรู้ในเชิงสาธารณะ”
‘ครูพิม’ ณัฏฐณี สุขปรีดี นักจิตวิทยาเด็ก
สิ่งสำคัญคือไม่ควรใช้คำพูดที่เป็นเหมือนกับการตัดสิน เช่น คำว่า “ไม่ดี ไม่ตั้งใจ ไม่ได้เรื่อง โง่” คำพูดปลอบในเชิงกว้างๆ เช่น “ไม่เป็นไรๆชั่งมัน เดี๋ยวมันก็โอเคเองแหละ”(แต่จริงๆเป็นนะ) ซึ่งต้องดูบริบทและน้ำเสียงประกอบ หรือ “แค่นี้เองไม่เป็นไรหรอก ไม่เห็นจะต้องเสียใจ ไม่เห็นจะต้องโวยวายเลย” คำพูดที่เหมือนกับสะท้อนว่าปัญหาเขาช่างเล็กซะเหลือเกินก็เป็นคำพูดที่ต้องระวัง รวมถึงคำพูดเชิงเปรียบเทียบที่ทำให้เขารู้สึกด้อยค่าและคำพูดบูลลี่ต่างๆ ก็ไม่ควรจะสื่อสารออกมาในห้องเรียน ส่วนคำพูดที่ควรจะใช้ในห้องเรียน คือการพูดคำชมตามความเป็นจริง ยิ่งชมแบบเฉพาะเจาะจงผู้เรียนจะมองว่าเราใส่ใจเขาและการชมของเราจะมีน้ำหนักมากขึ้น เพราะบางทีการบอกว่า “ดีมาก เก่งมาก” ผู้เรียนจะไม่รู้ในรายละเอียด โดยเราสามารถมองหาข้อดีที่เขามีแล้วนำมาชมได้ เช่น เขาอาจเป็นที่เขียนหนังสือไม่สวยแต่ระบายสีสดใสชัดเจน เราอาจบอกว่า “ครูชอบสีที่หนูใช้มากเลยหนูเลือกใช้สีได้สดใสตลอดเลย”
สุดท้ายการมี Empathy จะช่วยลดความรู้สึกทางลบหรือว่าอารมณ์หงุดหงิดออกไปโดยไม่จำเป็น ทำให้เกิดความสมดุลของจิตใจ หากไม่สร้างความสมดุลก็อาจเกิดความเครียด ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนและความสุขในห้องเรียนตามมา