ปัจจุบันปัญหาสุขภาพจิตในเด็กเบียดขึ้นมาเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของสังคมโลกไปเสียแล้ว แทนที่ปัญหาที่ดำรงอยู่มายาวนานหลายศตวรรษอย่างเรื่องอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงลิบในเด็ก
หากจะตอบว่าเหตุใดสภาวะสุขภาพจิตที่ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญ บทความเรื่อง A Global Framework for Youth Mental Health จากที่ประชุม World Economic Forum WEF 2020 ให้คำตอบว่าเป้าหมายที่สำคัญของสังคมอย่างหนึ่งคือ การสร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กสามารถพัฒนาไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี มีชีวิตที่สมบูรณ์พร้อม สามารถมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย
น่าเสียดายที่ในหลายๆ สังคมมักไปไม่ถึงเป้าหมายนี้ ทั้งด้วยความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ไม่เอื้อให้เด็กมีพัฒนาการทางสุขภาพจิตที่ดีอย่างเพียงพอ
มากไปกว่านั้น เมื่อเด็กไม่ได้โตมาในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต้องประสบภาวะเจ็บป่วยทางจิต ก็ไม่อาจมั่นใจได้ว่าเด็กรายดังกล่าวจะได้รับการรักษาที่เหมาะสมหรือไม่ ทั้งจากอุปสรรคในการเข้าถึงการรักษา หรือจากบริการทางสุขภาพที่ไม่มีประสิทธิภาพพอ
ผลจากสุขภาพจิตที่ย่ำแย่
เป็นความจริงที่ทั้งเจ็บปวดและน่าเศร้าที่ว่า ความเจ็บป่วยทางจิตของคนหนุ่มสาวส่งผลต่ออาการหมดเรี่ยวหมดแรง สิ่งที่ตามมาคือ ผลสัมฤทธิ์ของชีวิตด้านต่างๆ ก็ตกต่ำลง
ผลกระทบของความเจ็บป่วยทางจิตนี้แพร่ระบาดไม่ต่างไปจากการระบาดของ COVID-19 เริ่มจากปัจเจกบุคคลขยายไปสู่การกัดกินระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม บทความชิ้นนี้รายงานว่า ในบรรดาโรคไม่ติดต่อ (Non-Communicable Desease; NCD) ทั้งหมด ปัญหาสุขภาพจิตในหมู่คนหนุ่มสาวเป็นภาระหลักที่คอยฉุดรั้งค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ สะท้อนให้เห็นจากการขาดผลตอบแทนจากการลงทุนระหว่างที่ปัญหานี้เกาะกินสังคมอยู่
อาการเริ่มต้นของความเจ็บป่วยทางจิตมักรบกวนให้กระบวนการพัฒนาต่างๆ ในช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่หยุดชะงัก เช่น การสร้างอัตลักษณ์เฉพาะตัว การจบการศึกษา การสมัครงาน การก่อร่างสร้างความสัมพันธ์ฉันมิตร หรือความสัมพันธ์ที่ลึกล้ำยิ่งยวดกว่านั้นกับใครสักคน
สภาวะชะงักงันเหล่านี้คอยกร่อนเซาะศักยภาพสูงสุดเท่าที่ปัจเจกบุคคลหนึ่งจะทำได้ ทั้งในแง่ศักยภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ ยานอวกาศของเหล่าบุคคลที่บอบช้ำจึงมักร่อนลงไปไม่ถึงดาวดวงที่ปรารถนา
การป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ คือทางออก
บทความข้างต้นเสนอไว้ว่า ยิ่งปล่อยปัญหาไว้นาน อาการเจ็บป่วยทางจิตจะยิ่งเรื้อรังและต้องรักษาด้วยต้นทุนแพงลิบลิ่ว ทั้งต้นทุนการรักษาทางการแพทย์ ต้นทุนสวัสดิการสังคม ภาษีที่ควรจะเก็บได้จากแรงงานวัยหนุ่มสาวกลับต้องสูญเสียไปเพราะศักยภาพที่ลดลงจากอาการป่วย การเลี้ยงไข้ให้ปัญหาสุขภาพจิตเรื้อรังยังอาจนำไปสู่ปลายทางอย่างสถานพินิจเด็กและเยาวชนหรือเรือนจำ
วิธีการหนึ่งที่เป็นประโยชน์คือ จำลองสถานการณ์ให้ประเทศหนึ่งเป็นประเทศรายได้สูง และอีกประเทศหนึ่งรายได้ต่ำ จากนั้นนำไปวิเคราะห์ผลตอบแทนของการลงทุนงบประมาณด้านสุขภาพจิต เพื่อช่วยทำให้ผู้บริหารที่มีอำนาจตัดสินใจสามารถเปรียบเทียบว่าควรลงทุนไปที่สุขภาพจิตของคนหนุ่มสาวหรือเรื่องอื่นๆ เช่น การศึกษา การอัดฉีดงบประมาณครัวเรือน หรือการพัฒนาอุตสาหกรรม การวิเคราะห์ในลักษณะนี้เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับผู้กำหนดนโยบายในบางประเทศ
ท้ายที่สุดบทความชิ้นนี้เสนอไว้ว่า การป้องกันและเข้าแทรกแซงปัญหาเสียแต่เนิ่นๆ อาจทำได้ในรูปแบบการปลูกฝังการรับรู้ปัญหาสุขภาพจิต การให้ความรู้เรื่องสุขภาพจิต การไม่ตีตราผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรับการรักษา การสนับสนุนให้กำลังใจและการรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสม และการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อเข้าถึงตัวผู้ป่วยหรือให้ความรู้
น่าผิดหวังว่าแต่ไหนแต่ไรการรักษาอาการเจ็บป่วยทางจิตมักถูกมองว่าเป็นเรื่องฟุ่มเฟือย ส่งผลให้ประเทศลงทุนในประเด็นนี้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น