“การลงทุนพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ให้ผลตอบแทนแก่สังคมดีที่สุดในระยะยาว” คือถ้อยคำของ ศาสตราจารย์ ดร.เจมส์เจ เฮกแมน จากมหาวิทยาลัยชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา หากแปลความหมายอย่างตรงไปตรงมา ความคุ้มค่าที่ได้จากการลงทุนในการพัฒนาเด็กปฐมวัย ให้ผลลัพธ์ปลายทางคือ ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพของประเทศในอนาคต
หนึ่งคำถามที่สำคัญคือ สถานศึกษามีความพร้อมระดับใดในการรองรับเด็กปฐมวัยเข้าสู่ระบบการศึกษา
ในรายงานวิจัย ‘โครงการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย สำหรับประเทศไทย ระยะที่ 2’ จัดทำโดย สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้นิยามเกี่ยวกับความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษา (school readiness) หมายถึง ความพร้อมที่เด็กปฐมวัยจะสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพเมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาที่เป็นทางการในระดับประถมศึกษา
แน่นอนว่า ความพร้อมของสถานศึกษานั้นส่งผลต่อพัฒนาการและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาโดยตรง โดยมีตัวเลขทางสถิติและงานวิจัยมากมายรองรับความจริงในข้อนี้ นั่นแปลว่า เด็กปฐมวัยควรได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมตามวัยและมีคุณภาพ
จากการสำรวจความพร้อมเพื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย ระยะที่ 2 โดยเครื่องมือ Measuring Early Learning and Quality and Outcomes หรือ MELQO และเก็บข้อมูลใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ศรีสะเกษ กาญจนบุรี ระยอง และภูเก็ต ทั้งจากเด็กกลุ่มตัวอย่าง ครู ครอบครัว สถานศึกษา ห้องเรียน ฯลฯ พบว่า ในด้านความพร้อมของสถานศึกษายังอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจ ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้ความพร้อมของเด็กอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ
…ครูจำนวนไม่น้อยยังลงโทษเด็กปฐมวัยด้วยการตี
จากงานวิจัยชุดนี้สะท้อนให้เห็นว่า ห้องเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ยังขาดความพร้อมในด้านรอยต่อระหว่างอนุบาลและประถมศึกษา (transition)
หากลงลึกไปยังการสำรวจความพร้อมของสถานศึกษา ทีมวิจัยได้วิเคราะห์ออกมา 5 ด้านด้วยกัน ได้แก่
หนึ่ง ความพร้อมด้านโภชนาการ สุขอนามัย และความปลอดภัย (nutrition, sanitation and safety) พบว่า มีสถานศึกษากว่าร้อยละ 7 ในจังหวัดกาญจนบุรีและระยองที่ใช้น้ำดื่มที่ไม่ผ่านการต้ม การกรอง หรือเป็นน้ำดื่มที่ซื้อมา ซึ่งน่าจะสะท้อนถึงระดับความพร้อมด้านโภชนาการและสุขอนามัยที่ไม่ค่อยดีนัก และทั้งสองจังหวัดที่มีความเจริญค่อนข้างสูงกลับมีความเปราะบางในความพร้อมด้านโภชนาการ สุขอนามัย และความปลอดภัย นี่คือประเด็นที่น่าคิด
สอง ความพร้อมด้านสิ่งแวดล้อมในห้องเรียน (learning environment) จากการสำรวจพบประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ‘การจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียนระดับปฐมวัย’ ทีมวิจัยได้สังเกตสภาพห้องเรียนเพื่อดูว่าห้องเรียนมีการจัดแบ่งมุมประสบการณ์เป็นสัดส่วนหรือไม่ เช่น มุมหนังสือ มุมศิลปะ พบว่า มีห้องเรียนปฐมวัยจำนวนมากที่ไม่มีการจัดแบ่งมุมประสบการณ์เป็นสัดส่วน ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย
สาม ความพร้อมด้านการเรียนการสอน (pedagogy) พบว่า สถานศึกษาส่วนใหญ่จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยของชาติโดยไม่ได้นำเอานวัตกรรมหรือแนวทางใหม่มาใช้ เช่น หลักสูตรไฮสโคป หลักสูตรมอนเตสเซอรี หลักสูตรวอลดอร์ฟ หลักสูตรวิถีพุทธ เป็นต้น
อีกประเด็นสำคัญคือ การลงโทษเมื่อเด็กทำผิด ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากการสังเกตห้องเรียนพบว่า ครูจำนวนไม่น้อยเลือกลงโทษเด็กปฐมวัยด้วยการตี ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในศตวรรษนี้ นอกจากนี้ ครูปฐมวัยจำนวนมากยังใช้การลงโทษโดยการตำหนิด้วยวาจา ซึ่งก็เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวของโดยเฉพาะสถาบันผลิตครูจะต้องร่วมกันให้ความรู้กับครูปฐมวัยให้มีแนวทางในการปรับพฤติกรรมของเด็กที่มีประสิทธิภาพและถูกต้องตามหลักวิชาการมากขึ้น
สี่ ความพร้อมด้านรอยต่อระหว่างอนุบาลและประถมศึกษา (transition) โดยหลักสำคัญของข้อนี้คือ สภาพแวดล้อมในห้องเรียนประถมศึกษาปีที่ 1 ควรจะมีบางส่วนที่คล้ายคลึงกับห้องเรียนระดับอนุบาล 3 เพื่อช่วยให้เด็กรู้สึกคุ้นเคยและช่วยให้เด็กสามารถปรับตัวได้อย่างราบรื่น
ผลการสังเกตและสำรวจสภาพห้องเรียนดังกล่าวพบว่า มีห้องเรียนระดับ ป.1 เพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีการจัดมุมประสบการณ์คล้ายกับห้องเรียนระดับอนุบาล ซึ่งข้อมูลชุดนี้ได้ชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงอย่างหนึ่งคือ รอยต่อระหว่างอนุบาลและประถมศึกษาเป็นปัญหาที่สำคัญ ห้องเรียนชั้น ป.1 ยังไม่มีการปรับตัวเพื่อรองรับและสนับสนุนเด็กปฐมวัยให้สามารถปรับตัวเข้ากับการเรียนที่เป็นทางการในระดับประถมศึกษาได้มากเท่าที่ควร
ด้านสุดท้าย ความพร้อมด้านบุคลากร (personnal) ประเด็นแรกที่น่าสนใจคือ สัดส่วนนักเรียนต่อครู จากงานวิจัยพบว่า ครู 1 คนนั้นมีนักเรียนในความดูแลในอัตราที่สูง เมื่อเทียบกับมาตรฐานในต่างประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาที่กำหนดสัดส่วนนักเรียนต่อครูในระดับก่อนอนุบาล (pre-kindergarten) อยู่ที่ประมาณ 1:10 ขณะที่อัตราส่วนของนักเรียนต่อครูในระดับ อนุบาล 2 และอนุบาล 3 ใน 5 จังหวัดตัวอย่าง อยู่ระหว่าง 16.8-19.8
นอกจากนี้ การวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า จังหวัดภูเก็ตยังเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนครูประจำชั้นระดับอนุบาล 2 และอนุบาล 3 ที่จบการศึกษาปฐมวัยมากที่สุด (คิดเป็นร้อยละ 84.4) ส่วนจังหวัดที่มีสัดส่วนต่ำสุดคือจังหวัดศรีสะเกษ (คิดเป็นร้อยละ 47.4)
ความพร้อมของสถานศึกษานั้น ควรจะต้องจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยให้มีความเหมาะสมตามวัยและพัฒนาการของเด็กทั้งในด้านของสิ่งแวดล้อม สภาพห้องเรียน กระบวนการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ และสามารถช่วยให้รอยต่อระหว่างการศึกษาระดับปฐมวัยและระดับประถมศึกษา (transition) เป็นไปได้อย่างราบรื่น ซึ่งจากการสำรวจพบข้อกังวลในหลายเรื่องและหลายด้านด้วยกัน
ทีมวิจัยได้ให้ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ กสศ. และสถาบันการศึกษา ให้ทำการวิจัยหรือสนับสนุนการวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรอยต่อระหว่างอนุบาลและประถมศึกษาอย่างจริงจัง เพราะข้อมูลชุดนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า ห้องเรียนระดับชั้น ป.1 จำนวนมาก ยังไม่มีการปรับตัวเพื่อรองรับและสนับสนุนเด็กปฐมวัยให้สามารถปรับตัวเข้ากับการเรียนที่เป็นทางการในระดับประถมศึกษาได้ดีเท่าที่ควร