ถ้าบอกว่า ความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษา (school readiness) คือ ความสำเร็จก้าวแรกทางการเรียนของเด็ก แล้วความพร้อมที่ว่านี้ ควรวัดอย่างไร และวัดโดยใคร?
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นหนึ่งในความท้าทายด้านการศึกษาที่ประเทศไทยยังแก้ไม่ตก ภารกิจสำคัญนี้ถูกส่งต่อมายังกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้โจทย์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ลดลง
หลังจากที่ กสศ. ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยแก่สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยพบว่า หากมีการประเมินความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของผู้เรียน (school readiness) จะช่วยคลี่คลายปัญหาและทำให้มองมิติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับสถานที่ศึกษา ผู้เรียน ผู้สอน รวมถึงสภาพแวดล้อมอื่นๆ ได้อย่างเป็นระบบ
Early Development Instrument (EDI) คือ ชุดเครื่องมือที่นิยมใช้เก็บข้อมูลความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาสำหรับเด็กระดับประถมศึกษา เครื่องมือนี้ถูกพัฒนาขึ้นในประเทศแคนาดา โดยเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวเด็กใน 4 ด้านหลัก คือ
- ทักษะด้านร่างกาย (physical well-being)
- ทักษะด้านภาษาและสติปัญญา (language and cognitive skills)
- พัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม (social and emotional development)
- ปัญหาหรือข้อกังวลเกี่ยวกับตัวเด็ก (special concerns)
ชุดการสำรวจนี้เป็นที่ยอมรับและถือได้ว่าละเอียดและครอบคลุมปัจจัยที่ส่งผลต่อความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กได้ดีพอสมควร เห็นได้จากการขยายผลด้วยการนำไปใช้ในอีกหลายประเทศทั่วโลก เช่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา จีน เป็นต้น นอกจากนั้นข้อมูลที่ได้จากชุดเครื่องมือ EDI มักได้รับความสนใจจากนักการศึกษาทั่วโลก โดยมีงานวิจัยจำนวนไม่น้อยใช้ข้อมูลที่สำรวจจากเครื่องมือ EDI มาเป็นสารตั้งต้นเพื่อต่อยอดประเด็นอื่นๆ
ตัวอย่างงานวิจัยของ Brownell et al., (2016) ที่ใช้ประโยชน์จากการเก็บข้อมูลโดยเครื่องมือ EDI ในประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่มาก เชื่อมโยงกับข้อมูลด้านการแพทย์ ข้อมูลสภาพเศรษฐกิจและสังคม เพื่อศึกษาผลกระทบต่อพัฒนาการด้านสติปัญญาและภาษาของประชากรส่วนใหญ่
ผลการวิจัยชิ้นนี้สะท้อนว่า ปัจจัยที่มีบทบาทมากที่สุดต่อเด็กคือ ความเสี่ยงของครอบครัว (family risk) โดยวัดจากระดับรายได้ของครัวเรือน การเป็นแม่วัยรุ่น การมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดบุตร การต้องรับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ การอาศัยอยู่ในครอบครัวที่มีเด็กตั้งแต่ 4 คนขึ้นไป ส่วนปัจจัยอื่นไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมในชุมชน สุขภาพของแม่ในช่วงก่อนคลอด หรือสุขภาพของเด็กตอนคลอด พบว่าก็มีผลต่อความพร้อมทางด้านการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน
จะเห็นได้ว่าจุดเด่นของ EDI คือชุดเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเก็บข้อมูล ทำให้สามารถเก็บข้อมูลระดับประชากรได้โดยใช้ต้นทุนที่ไม่สูงจนเกินไป ทว่าเครื่องมือนี้ยังมีจุดอ่อนอยู่ที่การไม่สามารถประเมินในส่วนของสภาพแวดล้อมทางการศึกษาได้ เช่น ความพร้อมและการให้การสนับสนุนของโรงเรียน ครอบครัว และชุมชน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นข้อมูลจำเป็นที่ต้องใช้พิจารณาร่วมกับข้อมูลของตัวเด็ก เพื่อประเมิน ติดตาม และส่งเสริมความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น
การประเมินความพร้อม ต้องไม่ทิ้งครู
ข้อเท็จจริงหนึ่งของการเก็บข้อมูลแบบ EDI คือ ใช้การเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ครูเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจจะตามมาด้วยปัญหาเรื่องความถูกต้องแม่นยำ จึงได้มีความพยายามหาตัวช่วยบางอย่างเข้ามาเติมเต็มให้ได้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาอิทธิพลของครูที่ทำการประเมินผลเด็กปฐมวัย โดยใช้ข้อมูลการสำรวจพัฒนาการเด็กปฐมวัยที่เข้าเรียนในสถานศึกษา เพื่อเปรียบเทียบระหว่างเด็กที่ถูกประเมินพัฒนาการโดยใช้วิธีการวัดตรง (direct assessment) กับเด็กที่ถูกประเมินพัฒนาการโดยใช้การสังเกตจากครูผู้สอน ซึ่งเครื่องมือที่ใช้วัดโดยตรงจะเป็นการวัดผลในด้านทักษะต่างๆ เช่น
- Learning Express หรือ LE วัดพัฒนาการด้านการรู้หนังสือ ด้านภาษา ด้านคณิตศาสตร์
- Peabody Picture Vocabulary Test-III หรือ PPVT-III วัดพัฒนาการด้านการรับรู้ภาษา
- Oral and Written Language Scales หรือ OWLS วัดพัฒนาการด้านความเข้าใจในการฟัง สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 3 ขวบ ไปจนถึงช่วงวัยรุ่น
- Test of Early Mathematics Ability-Third Edition หรือ TEMA-3 วัดพัฒนาการด้านคณิตศาสตร์สำหรับเด็กอายุ 3 ขวบ จนถึง 8 ปี
ส่วนการประเมินโดยใช้วิธีการสังเกตของครูผู้สอน จะใช้เครื่องมือวัด ดังต่อไปนี้
1. Preschool Child Observation Record หรือ COR เป็นเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นเพื่อวัด 8 ประเด็นหลัก ได้แก่
- ด้านการสร้างกระบวนการเรียนรู้ (approach to learning)
- ด้านอารมณ์และสังคม (social and emotional development)
- ด้านร่างกายและสุขนิสัย (physical development and health)
- ด้านภาษาการรู้หนังสือและการสื่อสาร (language, literacy and communication)
- ด้านศิลปะสร้างสรรค์ (creative arts)
- ด้านคณิตศาสตร์ (mathematics)
- ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (sciences and technology)
- ด้านการเรียนรู้สังคม (social studies)
2. Dynamic Indicators of Basic Early Literacy Skills หรือเรียกสั้นๆ ว่า DIBELS เป็นเครื่องมือวัดที่ใช้ประเมินทักษะด้านภาษาและการรู้หนังสือสำหรับชั้นอนุบาลไปจนถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 6
ทั้งหมดทั้งมวลจึงสรุปได้ว่า หากเราตั้งคำถามถึงความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของประเทศไทยควรวัดอย่างไรและวัดโดยใคร? – เราอาจจะหาคำตอบได้โดยใช้เครื่องมือจากบทเรียนที่ได้กล่าวไป
สำหรับการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาโดยเฉพาะเด็กปฐมวัย นับว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกกล่าวถึงในวงการศึกษามาโดยตลอด โจทย์คือเราจะออกแบบเครื่องมือวัดผลอย่างไรที่เหมาะสมและสร้างความพร้อมอย่างไรให้เด็กปฐมวัยสามารถผ่านเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างไร้รอยต่อ
บทเรียนที่ได้จากการสำรวจเครื่องมือต่างๆ ช่วยสะท้อนได้ว่า ไม่ว่าคุณจะประเมินนักเรียนด้วยเครื่องมือใดก็ตาม อย่าลืมว่าครูผู้สอนมีบทบาทต่อผลการประเมินพัฒนาการของเด็กเสมอ ดังนั้นประเด็นหนึ่งที่น่าคำนึงในการออกแบบเครื่องมือวัดผล จึงจำเป็นต้องระมัดระวังการใช้ข้อมูลที่มาจากการประเมินโดยผู้สอนเพียงอย่างเดียว อย่าละทิ้งการประเมินสภาพแวดล้อมทางการศึกษาควบคู่ไปด้วย เพราะสภาพเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนล้วนมีผลต่อความพร้อมของเด็กปฐมวัยด้วยเช่นกัน
ดังนั้นประเทศไทยจึงสมควรจะมีการเก็บข้อมูลความพร้อมฯ ให้เป็นระบบ รอบด้าน เชื่อมโยงไปถึงข้อมูลด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อประเมินคุณภาพการเรียนรู้ของเยาวชนไทย และช่วยปิดช่องว่างปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ต้นทางก่อนที่เด็กจะเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ