ปิดเรียนภาคฤดูร้อนในเดือนกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ทิมได้รับโอกาสให้เข้าร่วมฝึกงานที่ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ภายใต้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยและเป็นองค์กรที่ทิมชื่นชมในเป้าหมายการทำงานมาโดยตลอด
แม้ว่าทิมจะเคยร่วมงานกับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ของกสศ.ผ่านโครงการเพื่อสังคมKRU ของทิม และการทำงานก็ประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ แต่ก่อนที่จะเริ่มฝึกงาน ทิมรู้สึกตื่นเต้นมากเกี่ยวกับสิ่งที่จะได้เรียนรู้ในการทำงานครั้งนี้ สำหรับเด็กนักเรียนมัธยมอย่างทิม ทิมไม่เคยฝึกงานที่องค์กรใดนานกว่าหนึ่งสัปดาห์ จึงตั้งคำถามบวกกับท้าทายตัวเองว่า ทิมจะสามารถทำอะไรหรือแม้กระทั่งจะมีประโยชน์ แม้เพียงเล็กน้อยอย่างไร ในการสนับสนุนองค์กรฯ
ในวันแรกของการฝึกงาน ทิมรู้สึกขอบคุณ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล และ วสศ. อย่างมากที่ต้อนรับทิมอย่างอบอุ่น วันที่ทิมเริ่มงานตรงกับวันที่มีการประชุม “Town Hall” ประจำเดือนกรกฎาคมของ กสศ. ทำให้ทิมได้สัมผัสกับ spirit ขององค์กรที่มีอยู่อย่างแรงกล้าตั้งแต่วันแรก ทิมได้รับการแนะนำให้รู้จักกับสมาชิกทั้งหมดในทีมวิจัยฯ พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ขององค์กรฯด้วย
ตลอดเวลาที่ทิมฝึกงาน ทิมมีโอกาสทำงานในโครงการที่หลากหลาย ทิมสามารถถ่ายทอดได้อย่างจริงใจว่าทิมไม่เคยรู้สึกเบื่อเลย ในช่วงสองสัปดาห์แรกของการฝึกงาน ทิมได้รู้จักกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development (OECD)) ซึ่งเป็นองค์กรที่ วสศ. ทำงานร่วมด้วยอย่างใกล้ชิด ทิมมีโอกาสวิเคราะห์ผลคะแนนการคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking Score) PISA 2022 ซึ่งเผยแพร่ในเดือนมิถุนายนปี 2567 และนำเสนอผลการวิเคราะห์ของทิมต่อทางแผนก อีกโครงการหนึ่งที่ทิมได้มีส่วนร่วมในช่วงสัปดาห์แรกของการฝึกงานคือโปรเจกต์ UNESCO Learning Coin ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมการรักในการอ่านของนักเรียน ทิมมีโอกาสเข้าร่วมประชุมออนไลน์ กับตัวแทนจาก UNESCO ซึ่งนำเสนอผลการศึกษาและเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงโครงการในอนาคต
ในช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายของการฝึกงาน ทิมได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบฐานข้อมูล Q-info ซึ่งกสศ. ได้พัฒนาขึ้นร่วมกับพันธมิตรหลายฝ่าย ให้ทำงานสะดวกขึ้น ในส่วนของการบันทึกข้อมูลนักเรียน นอกจากนี้ ทิมยังได้ศึกษาและวิเคราะห์รายงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะพื้นฐานของประชาชนไทย สถิติที่น่าเป็นห่วงอาทิเช่น 75% ของคนไทยขาดทักษะด้านดิจิทัล และ 30% ของคนไทยมีปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะทางสังคมและอารมณ์ เป็นเหตุให้ กสศ. จำเป็นต้องเร่งเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้
นอกเหนือจากนี้ ทิมได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับนโยบาย Thailand Zero Dropout (TZD) ของ กสศ. ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการอนุมัติโดยตรงจากนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในขณะนั้น ในฐานะที่ได้ร่วมเป็นส่วนเล็กๆส่วนหนึ่งของโครงการนี้ ทิมได้ทำการค้นคว้าและวิเคราะห์ในเชิงลึกเกี่ยวกับวิธีการที่จะส่งเสริมให้ภาคเอกชนสนับสนุน TZD ทิมได้เรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงินต่างๆ รวมถึง นโยบายการคลังของรัฐบาลจากทั่วโลกที่ได้ส่งเสริมสนับสนุนและกระตุ้นให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาด้านการศึกษาในระดับประเทศ
อาทิเช่น นโยบายการสร้างแรงจูงใจทางภาษีให้กับภาคเอกชนที่ใช้ในสิงคโปร์และฟินแลนด์รวมถึงพันธบัตรทางการเงินที่รัฐบาลทำขึ้นมาเพื่อระดมทุนช่วยเหลือโครงการที่แก้ไขปัญหาต่างๆทางสังคม (social impact bond) ที่มีอยู่ในสหรัฐอเมริกา
การได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับเด็กนักเรียนอย่างทิม และเปิดโลกทัศน์ของทิม ซึ่งมีคุณค่ามากมายและกระตุ้นความสนใจสำหรับทิมที่จะเรียนรู้ต่อไป ทิมได้มีโอกาสนำเสนอผลการค้นคว้าและตัวอย่างวิธีแก้ปัญหาทั้งหมดให้กับ คุณศิรี จงดี หัวหน้า วสศ. ซึ่งทิมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง
ในช่วงเวลาที่ทิมได้มีโอกาสฝึกงานที่ กสศ. ทิมไม่เพียงแต่ได้รับข้อมูลเชิงลึกมากมายเกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทยและได้รู้จักกับกัลยาณมิตรรุ่นพี่ใหม่ๆ มากมายในทีมงานของเจ้าหน้าที่ กสศ. แต่ยังได้รับแรงบันดาลใจอย่างสูงในการที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย ทิมรู้สึกขอบคุณบุคคลเหล่านี้อย่างถึงที่สุด
ดร.ไกรยส ภัทราวาท (กรรมการผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.))
ดร. อุดม วงษ์สิงห์ (ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษาของ กสศ.) คุณศิรี จงดี (หัวหน้าสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.))
และเจ้าหน้าที่ทุกๆคนที่กสศ. ซึ่งทิมได้รับเกียรติในการร่วมงานด้วยในช่วงการฝึกงานภาคฤดูร้อนครั้งนี้
ทิมได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และงานวิจัยต่างๆอันเป็นที่มาของ นโยบาย โครงการ และงบประมาณระดับชาติ อันมีจุดประสงค์สนับสนุนการแก้ไขปัญหาการศึกษาไทย
ไฮไลท์ของการฝึกงานภาคฤดูร้อนครั้งนี้คือ ทิมได้มีโอกาสลงพื้นที่เยี่ยมชมการทำงานจริงของ“ครูรุจ” หนึ่งในนักเรียนรุ่นแรกจากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นที่เพิ่งสำเร็จการศึกษา ณ โรงเรียนบ้านเกาะกลางซึ่งตั้งอยู่บนเกาะแห่งหนึ่งในจังหวัดกระบี่ ทิมได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความต้องการของโรงเรียนในพื้นที่ชนบทห่างไกล และได้มีโอกาสมีส่วนร่วมสอนในห้องเรียน การมาเยี่ยมครั้งนี้ยังช่วยให้ทิมเข้าใจบริบทของครูในพื้นที่ชนบทส่วนใหญ่ของประเทศไทยอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการประเมินการทำงานโครงการ “KRU” ของทิมต่อไป
ประสบการณ์ การเรียนรู้เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในภาคฤดูร้อนนี้ ทำให้ทิมนึกถึงคำพูดของพ่อแม่ที่มีเสมอว่า “การมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญและพิเศษยิ่งที่ทิมจะต้องตระหนักถึงคุณค่าของโอกาสนี้ให้มากที่สุด”
ทิมรู้สึกขอบคุณ กสศ. และถือว่าการได้รับการสนับสนุนและให้โอกาสได้ตระหนักรู้ถึงสิ่งนี้ อย่างแท้จริง จากประสบการณ์ตรง ก็เป็นสิ่งสำคัญและพิเศษที่ยิ่งใหญ่มากๆ สำหรับทิม
ประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้เกิดความรู้สึกรับผิดชอบและเกิดแรงจูงใจในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ทิมรู้สึกได้ถึงแรงบันดาลใจและตื่นเต้นที่จะช่วยสนับสนุนผู้ที่ด้อยโอกาสแม้เพียงเล็กน้อย ทิมจะหาทางขับเคลื่อนและขยายโครงการ “KRU” ในการแก้ไขปัญหาการศึกษาในประเทศไทยและที่อื่นๆต่อไป
หากน้องๆ สนใจอยากหาประสบการณ์ด้านการวิจัย นวัตกรรม แก้ไขปัญหาความเลื่อมล้ำทางการศึกษา สามารถติดต่อเข้ามาสมัครฝึกงานผ่านช่องทาง Facebook Equity Lab แล็บฯเสมอภาค