เมื่อลูกเติบโตขึ้น พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนย่อมรู้ดีว่าโรงเรียนหรือสถานศึกษาจะกลายเป็นพื้นที่ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการเติบโตของพวกเขา เราจึงมักเห็นความพยายามในการเสาะแสวงหาโรงเรียนที่ดี มีสภาพแวดล้อมที่ดี โดยเฉพาะยิ่งในเด็กเล็กหรือปฐมวัยที่พ่อแม่ต่างพิถีพิถันเลือกสิ่งที่ดีที่สุดตามกำลังของตัวเอง เพื่อซื้อหลักประกันว่าลูกของตัวเองจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุด แม้จะต้องแลกกับค่าใช้จ่ายที่แพงแสนแพงก็ตาม
สอดคล้องกับงานวิจัย ‘โครงการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัยสำหรับประเทศไทย ระยะที่ 2’ จัดทำโดยสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งได้พัฒนาเครื่องมือสำรวจความพร้อมและพัฒนาการของเด็กปฐมวัยในระดับจังหวัดก่อนเข้าสู่ระบบการศึกษาภาคบังคับ ผ่านชุดเครื่องมือ Measuring Early Learning and Quality and Outcomes หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า MELQO
MELQO คืออะไร?
MELQO ถือเป็นเครื่องมือทางการศึกษาที่ได้รับมาตรฐานสากล เห็นได้จากการนำไปประยุกต์ใช้ในประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก เช่น อินโดนีเซีย ลาว มองโกเลีย บังคลาเทศ เปรู นิการากัว เอธิโอเปีย แทนซาเนีย เป็นต้น เนื่องจากสามารถสะท้อน 3 มิติสำคัญได้อย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็น ความพร้อมของเด็กปฐมวัย (readiness in the children) ความพร้อมของสถานศึกษา (school’s readiness for children) และความพร้อมของครอบครัว (family’s readiness for children)
นอกจากช่วยประเมินความพร้อมในด้านต่างๆ แล้ว เป้าหมายของเครื่องมือนี้ยังช่วยให้ทราบข้อมูลสำคัญต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในระบบการศึกษา ซึ่งในอนาคตผู้กำหนดนโยบายหรือผู้ที่เกี่ยวข้องอาจนำข้อมูลดังกล่าวไปออกแบบนโยบายที่ช่วยแก้ปัญหาด้านการศึกษาและปิดช่องโหว่ความเหลื่อมล้ำได้อย่างสอดคล้องกับข้อเท็จจริงและไม่ขัดต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัย เพื่อช่วยให้พวกเขาก้าวเข้าสู่การศึกษาระดับประถมศึกษาได้อย่างเหมาะสมมากที่สุด
เครื่องมือ MELQO ที่ใช้ประเมินความพร้อมเด็กปฐม จะทำงานโดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ดังนี้
1. Measure of Development and Early Learning หรือ MODEL เป็นเครื่องมือสำหรับประเมินพัฒนาการและทักษะการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย รวมถึงข้อมูลสภาพแวดล้อมในครัวเรือนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กปฐมวัย โดยมีทั้งส่วนที่ทำการวัดโดยตรง (direct assessment) และส่วนที่ต้องสอบถามจากผู้ปกครองและครูประจำชั้น แบบสอบถาม MODEL ครอบคลุมทั้งหมด 5 หมวด ดังนี้
- ความพร้อมด้านภาษา (literacy) ได้แก่ แรงบันดาลใจจากหนังสือ การแสดงออกทางภาษา การรับรู้ทางภาษา และการรู้จักตัวอักษร
- ความพร้อมด้านคณิตศาสตร์ (mathematics) ได้แก่ ตัวเลขและการคำนวณ การวัดค่า และความสัมพันธ์เชิงพื้นที่
- ความพร้อมและพัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์ (social-emotional development) ได้แก่ การควบคุมตนเอง การเข้าใจหรือสนใจสังคม ความสามารถทางสังคม และสุขภาวะทางอารมณ์
- การบริหารจัดการชีวิต (executive function) ได้แก่ ความจำขณะทำงาน ความยับยั้งชั่งใจ และความพร้อมด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก
- ข้อมูลสภาพแวดล้อม (contextual information) ประกอบด้วย สภาพเศรษฐกิจและสังคม การศึกษาของผู้ปกครอง องค์ประกอบครัวเรือน สถานะการเข้าเรียนของเด็กปฐมวัย สภาพแวดล้อมด้านการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง การถูกละเลย และสุขภาพของเด็กปฐมวัย (child health)
การประเมินในส่วนนี้ใช้ทั้งวิธีการวัดโดยตรงและการสอบถามจากครูและผู้ปกครองควบคู่กัน เนื่องจากพัฒนาการบางด้านมีความยากในการวัดตรง เช่น พัฒนาการทางด้านสังคมและอารมณ์ จึงจำเป็นต้องใช้การสอบถามจากผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก
2. Measure of Early Learning Environments หรือ MELE เป็นเครื่องมือสำหรับการประเมินคุณภาพของสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก ใช้วัดความพร้อมของสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษาในการช่วยเหลือสนับสนุนเด็กให้เข้าสู่ระดับประถมศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเมินโดยการสอบถามผู้ปกครอง ครูประจำชั้น และผู้บริหารสถานศึกษา รวมถึงการสังเกตชั้นเรียน ประกอบด้วย 7 ด้าน
- การเรียนการสอน (pedagogy) เนื้อหาหลักสูตรควรคำนึงถึงการพัฒนาเด็กในด้านกายภาพ สังคมอารมณ์ภาษา ทักษะการคิด และกระตุ้นทักษะในระดับปฐมวัยที่นำไปสู่การเรียนรู้หรือไม่ และการเรียนรู้นั้นมีเด็กเป็นศูนย์กลางและกระตุ้นให้เด็กมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ความอยากรู้อยากเห็น ความอดทน ความมุ่งมั่น ความมีปฏิสัมพันธ์และร่วมมือกับผู้อื่น เด็กได้เล่นอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย นโยบายของโรงเรียนทั้งในด้านทรัพยากรบุคคล การจัดการด้านการเงิน การประเมินผลและการประกันคุณภาพต้องเป็นไปเพื่อสนับสนุนหลักสูตรการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ
- การได้มีโอกาสเล่น (play) เพราะการที่เด็กสามารถเข้าถึงของเล่นและมีโอกาสที่จะได้เล่นร่วมกับเพื่อนๆ ในระหว่างวัน จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการการเรียนรู้และการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่น
- การมีปฏิสัมพันธ์ (interactions) ครูและบุคลากรของโรงเรียนควรมีความเอาใจใส่และมีการปฏิบัติต่อเด็กที่ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านอารมณ์ของเด็ก โดยคำนึงถึงความต้องการที่แตกต่างของเด็กเป็นรายบุคคล
- บุคลากร (personnel) ครูและบุคลากรต้องได้รับการฝึกอบรมในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยและได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม จำนวนครูต่อเด็กอยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่น้อยจนเกินไป และได้รับการพัฒนาทักษะวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ครูได้แสดงความสามารถและพัฒนาตนเอง
- สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (environment) ห้องเรียนควรมีความปลอดภัย สะอาด มีบรรยากาศที่ส่งเสริมสุขภาวะ และการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันระหว่างเด็กและครู มีอุปกรณ์การเรียนรู้ที่เพียงพอ เช่น หนังสือ เครื่องดนตรี อุปกรณ์ศิลปะ เป็นต้น
- ความครอบคลุม (inclusiveness) ครูจะต้องสามารถดูแลเด็กที่มีความแตกต่างกันได้อย่างทั่วถึง เช่น ครูได้รับการฝึกอบรมเพื่อดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษ และคำนึงถึงความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ศาสนา ของเด็กแต่ละคน
การมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน (parent and community engagement) โรงเรียนควรมีการเผยแพร่ข้อมูลผลการดำเนินงานและสร้างโอกาสในการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครองและชุมชน ครอบครัวและชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผนและการตัดสินใจเพื่อพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น