ในบทความเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษากับแนวโน้มของค่าจ้างในประเทศไทย” (2553) เขียนโดย ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ เสนอภาพรวมความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษา และภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงของค่าจ้างแรงงาน แบ่งตามกลุ่มการศึกษาในช่วงกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเค้าลางความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางการศึกษาที่มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างสูง แต่ทว่าความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษายังคงเป็น “ปมที่แก้ไม่ตก” ในการแก้ปัญหาการพัฒนาของไทย
งานชิ้นนี้พบว่า โดยรวมแล้วตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมาแรงงานไทยมีระดับการศึกษาสูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากความพยายามของรัฐบาลในการเพิ่มการเข้าถึงและปรับปรุงคุณภาพของระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
แม้กระนั้นก็ตาม ผู้ที่มาจากครอบครัวที่มีความเสียเปรียบทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น มีรายได้ต่ำ และพ่อแม่มีการศึกษาน้อย ยังคงมีโอกาสทางการศึกษาน้อยกว่าผู้ที่มาจากครอบครัวที่ได้เปรียบกว่า ดังจะเห็นได้จากช่องว่างของรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อหัว ระหว่างครัวเรือนของผู้ที่คาดว่าจะได้รับการศึกษาระดับอุดมศึกษากับครัวเรือนของผู้ที่คาดว่าจะได้รับการศึกษาระดับมัธยม มีขนาดค่อนข้างกว้างตลอดช่วงเวลาที่ทำการศึกษา
ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของค่าจ้างแรงงานพบว่า เมื่อกลุ่มที่มีความเสียเปรียบด้านการศึกษาเข้าสู่กำลังแรงงาน กลุ่มดังกล่าวจะยังคงเสียเปรียบในทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมักจะได้รับค่าจ้างต่ำกว่ากลุ่มที่มีโอกาสทางการศึกษาสูงกว่า กรณีนี้สะท้อนให้เห็นจากการที่ช่องว่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานที่จบปริญญากับแรงงานที่จบมัธยมมีแนวโน้มขยายตัวขึ้น แม้ว่าสัดส่วนของอุปทานแรงงานที่จบปริญญากับแรงงานที่จบมัธยมจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งช่องว่างของค่าจ้างดังกล่าวเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ปัญหานี้ไปปรากฏในข้อถกเถียงบนเวทีการประชุมสหประชาชาติในปี 2015 โดยที่ประชุมได้กำหนด “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)” ประการหนึ่งคือ เป้าหมายด้านการศึกษา หรือ “SDG4” คือการศึกษาที่เท่าเทียม โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านโอกาสและคุณภาพในการจัดการศึกษา เพื่อสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Ensure inclusive and equitable quality education and promote lifelong learning opportunities for all)
เป้าหมายนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่าระบบการศึกษาไทยจะรุดหน้ามาไกล แต่พบว่าระบบฐานข้อมูลที่ไปถึงระดับจุลภาคทั่วประเทศยังคงขาดข้อมูลที่ดีพอที่จะสามารถวิเคราะห์โอกาสทางการศึกษาได้ครอบคลุม มีคุณภาพ ในทุกระดับ ตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษา ที่สามารถจ่ายได้
ด้วยเหตุนี้ การสร้างฐานข้อมูลในระดับที่ลึกและกว้างจะกลายเป็นภารกิจหนึ่ง ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งได้ทำการวิจัยเพื่อสร้างตัวชี้วัดในระดับฐานราก เป็นการวัดอย่างไม่หยุดนิ่ง โดยอาศัยฐานข้อมูลในเครือข่ายของกองทุน ได้แก่ ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ให้มีส่วนร่วมในการเก็บรวบรวมข้อมูล นำเสนอข้อมูลชั้นปฐมภูมิ และผนวกกับข้อมูลทุติยภูมิ เพื่อครอบคลุมเด็กนักเรียนนอกระบบฐานข้อมูล ที่จะมีการคัดกรองผ่านแอพลิเคชั่น
ฐานข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นี้ ถูกสร้างขึ้นมาจาก ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Information System for Equitable Education) หรือ iSEE ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ รายบุคคล ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนผู้ขาดเเคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสมากกว่า 4 ล้านคน โดยเชื่อมโยงเลขประจำตัว 13 หลักของเด็กและครอบครัวกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของรัฐรวม 6 กระทรวงและข้อมูลจากระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS)
ตัวอย่างหนึ่งในฐานข้อมูลที่ยังไม่เคยปรากฏมาก่อน คือฐานข้อมูลว่าด้วย “เยาวชน” กับ “แรงงานรุ่นใหม่” อันหมายถึงประชากรกลุ่มอายุเดียวกันคือ อายุ 15-24 ปี ซึ่งเป็นเยาวชนที่อาจจะอยู่หรือไม่อยู่ในระบบการศึกษา เพราะว่าพ้นวัยการศึกษาภาคบังคับแล้ว และอีกนัยหนึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของกำลังแรงงาน (ทั้งที่ทำงานหรือมีความต้องการจะทำงาน) เยาวชนในกลุ่มอายุนี้บางส่วนเรียนอย่างเดียว บางส่วนทำงานอย่างเดียว และบางส่วนทั้งทำงานและเรียนพร้อมกันไป
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใด ประเทศมีความคาดหวังว่า “แรงงานรุ่นใหม่” กลุ่มนี้ จะมีความพร้อมที่จะเป็นกำลังแรงงานที่มีศักยภาพของประเทศต่อไป และการศึกษาและเรียนรู้ย่อมมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพดังกล่าว ตัวชี้วัดสำหรับประชากรกลุ่มอายุนี้จึงมีประเด็นเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน อาทิ การเรียนสายอาชีพและสายสามัญ ทักษะอาชีพ ทักษะผู้ประกอบการ
เครื่องมือตัวชี้วัดจากฐานรากนี้เองจะช่วยสะสางปัญหาความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษา อันนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำทางรายได้จากค่าจ้างที่แรงงานได้รับในอนาคต