เมื่อไหร่เด็กจึงจะพร้อมเข้าสู่ระบบการศึกษา? – คำตอบสำหรับคำถามนี้ไม่เคยตายตัวและไม่เคยมีคำตอบใดที่ถูกต้องที่สุด นั่นเพราะระบบการศึกษาของแต่ละชุมชน สังคม ไปจนถึงประเทศ แตกต่างกันทั้งวิธีคิดและการกำหนดนโยบาย
ความพร้อมระดับพัฒนาการ
หากถามให้ลงลึกไปอีกว่า เมื่อไหร่เด็กปฐมวัยจึงจะพร้อมเข้าสู่ระบบการศึกษา คงต้องย้อนกลับไปดูว่า ตามหลักพัฒนาการของเด็กช่วงวัยนี้ควรจะเน้นเรื่องอะไร
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ อธิบายว่า พัฒนาการของเด็กวัยก่อน 7 ขวบ คือวัยแห่งการเรียนรู้ผ่านการเล่น ไม่ใช่การเรียน และเป็นวัยแห่งการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก โดยเฉพาะนิ้วมือ ผ่านการระบายสี พับกระดาษ เล่นบทบาทสมมุติ วิ่งไล่จับ ปีนต้นไม้ และอ่านหนังสือ
“การอ่านหนังสือ มือได้แตะ ได้คลำ ทุกๆ หน้าที่เปลี่ยนไป หน้ากระดาษด้านซ้ายจะหนากว่าด้านขวา นิ้วโป้งซ้ายจะจับหน้ากระดาษที่หนาขึ้นทุกที นิ้วโป้งขวาจะจับกระดาษที่บางลงทุกที สิ่งนี้ส่งสัญญาณขึ้นสู่สมองด้วยว่านิ้วจับที่ตรงไหน สมองก็เรียนรู้ว่าเนื้อหาตรงนี้อยู่ประมาณเศษ 1 ส่วน 4 ของหนังสือเล่มนี้ รูปแบบของสมองก็จะพัฒนาไปอีกแบบหนึ่ง”
ถ้านิ้วมือดี สมองจะดี หมอประเสริฐสรุป
ความพร้อมในความหมายของ UNICEF
ในรายงานวิจัย ‘โครงการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย สำหรับประเทศไทย ระยะที่ 2’ จัดทำโดย สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้นิยามเกี่ยวกับความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษา (school readiness) หมายถึง ความพร้อมที่เด็กปฐมวัยจะสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพเมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาที่เป็นทางการในระดับประถมศึกษา
องค์กรสากลอย่าง UNICEF เสนอว่า ความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษานั้น ควรประกอบด้วย 3 มิติ คือ
1. ความพร้อมของเด็กปฐมวัย (readiness in the children)
เด็กปฐมวัยควรจะต้องมีความพร้อมทั้งทางรางกายและจิตใจ เพื่อให้สามารถเรียนรู้ในระดับประถมศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับพัฒนาการด้านกายภาพ (physical well-being and motor development) พัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม (social and emotional development) ความสามารถในการเรียนรู้ (approach to learning) พัฒนาการดานภาษา (language development) และพัฒนาการด้านคณิตศาสตร์ (mathematical development)
2. ความพร้อมของสถานศึกษา (school’s readiness for children)
สถานศึกษาควรมีความพร้อมที่จะจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย ให้มีความเหมาะสมตามวัยและพัฒนาการของเด็ก ทั้งในด้านสิ่งแวดลอม สภาพห้องเรียน กระบวนการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ และสามารถช่วยให้รอยต่อระหวางการศึกษาระดับปฐมวัยและระดับประถมศึกษา (transition) เป็นไปได้อย่างราบรื่น
3. ความพร้อมของครอบครัว (family’s readiness for children)
ผู้ปกครองควรจะต้องเข้าใจบทบาทหน้าที่ที่สำคัญของตนต่อการส่งเสริมพัฒนาด้านต่างๆ ของเด็กปฐมวัย ซึ่งจะมีสวนช่วยให้ครอบครัวสามารถส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กปฐมวัยมีความพร้อมต่อการเข้าสู่ระบบการศึกษาได้เป็นอย่างดี
ความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษา (school readiness) จะนำไปสู่อะไร
เด็กปฐมวัยที่ก้าวเข้าสู่การเรียนในระดับประถมศึกษามักต้องเผชิญรูปแบบการเรียนรู้จากการเล่น การทำกิจกรรม ไปสู่การเรียนที่เป็นวิชาการมากขึ้น ทักษะการฟัง พูด เขียน อ่าน จึงสำคัญ ถ้าตั้งต้นที่ระดับประถมศึกษาไว้ไม่ดีก็อาจส่งผลเสียระยะยาว
จากการสำรวจความพร้อมเพื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย ระยะที่ 2 โดยเครื่องมือ Measuring Early Learning and Quality and Outcomes หรือ MELQO และเก็บข้อมูลใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ศรีสะเกษ กาญจนบุรี ระยอง และภูเก็ต ทั้งจากเด็กกลุ่มตัวอย่าง ครู และครอบครัว สถานศึกษา ห้องเรียน ฯลฯ พบว่า ความพร้อมของเด็กปฐมวัยไทยยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ทั้งการรู้จักตัวเลข การแปลงรูปในใจ ความเข้าใจในการฟัง ความจำในการใช้งาน และกล้ามเนื้อมัดเล็ก
เนื่องจากมีงานวิจัยจำนวนมากที่ระบุว่า ความพร้อมเหลานี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลเชิงบวกต่อทักษะด้านคณิตศาสตร์และการอ่านในระดับประถมศึกษาหรือระดับที่สูงขึ้นไป
คำแนะนำที่เกิดขึ้นคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะร่วมมือกันพัฒนาการศึกษาปฐมวัยให้มีคุณภาพ ด้วยวิธีการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและเหมาะสมกับพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็ก ขณะเดียวกัน จากการสำรวจความพร้อมของสถานศึกษาก็พบว่า ครูปฐมวัยจํานวนไม่น้อยยังลงโทษเด็กด้วยการตี ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าเป็นการลงโทษที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ เลย
คณะนักวิจัยในโครงการนี้ระบุว่า นี่อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ความพร้อมของเด็กปฐมวัยอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ
การวัดและสำรวจความพร้อมทั้ง 3 มิติดังกล่าว จึงนับว่าเป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดนโยบายส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือเด็กๆ ให้มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพ เมื่อพวกเขาเข้าสู่ระบบการศึกษาที่เป็นทางการในระดับประถมศึกษา
อย่างไรก็ดี นิยามของความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษา ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะเลือกใช้นิยามใด ภายใต้เงื่อนไขที่มีความซับซ้อนหลากหลายของแต่ละสังคม แต่อย่างน้อยการตั้งคำถามถึงความพร้อมของเด็กๆ ก็เท่ากับการตั้งคำถามกลับต่อตัวผู้ใหญ่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเองว่า ที่ผ่านมามีความพร้อมมากพอหรือยัง