แม้ว่าจะมีงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่า การลงโทษเด็กด้วยการตีและการทำร้ายร่ายกายเป็นประจำ จะส่งผลต่อสุขภาพจิตของเด็กและเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตที่นำไปสู่การเสพติดสุรา รวมถึงการใช้สารเสพติดอื่นๆ เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น ในที่นี้รวมถึงการฟาดที่ก้นเบาๆ หรือกระทั่งการผลักเด็ก
งานวิจัยนี้เสนอผลการศึกษาที่แตกต่างออกไปจากความเข้าใจเดิมที่ทราบกันอยู่แล้วว่า การกระทำความรุนแรงต่อเด็กทางร่างกายหรือการละเมิดทางเพศนั้นส่งผลต่อความป่วยทางจิตใจในระดับรุนแรง แต่งานวิจัยชิ้นนี้เสนอไปไกลกว่านั้นว่า แม้กระทั่งความรุนแรงที่ดูเหมือนจะมีไม่มากก็ส่งผลต่อสุขภาพทางจิตของเด็กและหนักขึ้นอีกเมื่อพวกเขาเติบโต
หัวหน้าทีมวิจัยของโครงการคือ เทรซี อาฟิฟี (Tracie Afifi) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านพยาธิวิทยาที่ภาควิชาการสาธารณสุขชุมชน (Department of Community Health Science) แห่งมหาวิทยาลัยแมนิโทบา (University of Manitoba) ประเทศแคนาดา กล่าวว่าเด็กที่เคยถูกทำโทษทางกายมีโอกาสในการเกิดอาการผิดปกติทางจิตใจเพิ่มขึ้นประมาณ 2-7 เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้าร่วมในการวิจัยที่มีอาการป่วยทางจิต ข้อเสนอของวิจัยนี้กระตุ้นให้เกิดการยุติความรุนแรงทุกรูปแบบต่อเด็กในวัยเยาว์
คำถามที่น่าสนใจตามมาคือ แล้วในปัจจุบันประเทศไทยมีการลงโทษเด็กปฐมวัยด้วยการตี อยู่ในระดับใดกันแน่
จากการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้เข้าไปเก็บข้อมูลชั้นต้นในหลายรูปแบบ รวมถึงการสังเกตการณ์ในห้องเรียนโดยตรงในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ศรีสะเกษ กาญจนบุรี ระยอง และภูเก็ต สามารถเก็บข้อมูลเด็กปฐมวัยกลุ่มตัวอย่างได้รวมทั้งสิ้นจำนวน 2,907 คน จาก 151 โรงเรียน ข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยที่ได้จากการสอบถามครูผู้สอนจำนวน 2,820 คน (คิดเป็นร้อยละ 97.0)
‘โครงการสำรวจความพร้อมเพื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย ระยะที่ 2’ ชิ้นนี้มีข้อค้นพบเชิงคุณภาพที่น่ากังวลอยู่ว่า ครูปฐมวัยจำนวนไม่น้อยยังลงโทษเด็กปฐมวัยด้วยการตี ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งและควรได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน
นอกจากนี้ ข้อมูลชุดนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่า ห้องเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ยังขาดความพร้อมในด้านรอยต่อระหว่างอนุบาลและประถมศึกษา (transition) ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะส่งเสริมให้เกิดทำการวิจัยหรือสนับสนุนการวิจัยในประเด็นการพัฒนาช่วงรอยต่อระหว่างอนุบาลและประถมศึกษาอย่างจริงจัง
อีกส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนและสามารถสังเกตได้ไม่ยากคือ การลงโทษเมื่อเด็กทำผิด ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากการสังเกตห้องเรียนพบว่า ครูจำนวนไม่น้อยที่เลือกลงโทษเด็กปฐมวัยเมื่อเด็กทำผิด โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนการลงโทษมากที่สุดคือ ภูเก็ต (สูงถึงร้อยละ 47.6) ส่วนจังหวัดที่มีสัดส่วนการลงโทษต่ำสุดคือ กาญจนบุรี (ร้อยละ 12.2)
ยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณาจากรูปแบบของการลงโทษจะพบว่า ยังมีครูจำนวนไม่น้อยที่ลงโทษเด็กด้วยการตี ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในศตวรรษนี้ โดยจังหวัดที่มีการลงโทษด้วยการตีมากที่สุดคือ ภูเก็ต ส่วนจังหวัดที่ต่ำสุดคือ ศรีสะเกษ
นอกจากนี้ งานวิจัยพบว่าครูปฐมวัยจำนวนมากยังใช้การลงโทษด้วยการตำหนิด้วยวาจา ซึ่งนักวิจัยเสนอว่าเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสถาบันผลิตครูจะต้องร่วมกันให้ความรู้กับครูปฐมวัยให้มีแนวทางในการปรับพฤติกรรมของเด็กที่มีประสิทธิภาพและถูกต้องตามหลักวิชาการมากขึ้น
โดยสรุปข้อเสนอของนักวิจัยคือ ขอให้ครูที่เข้าร่วมในโครงการแก้ไขโดยเร่งด่วน กล่าวได้ว่างานวิจัยที่ลงไปเก็บข้อมูลโดยตรงในพื้นที่ต้นแบบ ไม่เพียงเป็นการฉายให้เห็นสภาพการลงโทษเด็กปฐมวัยในความเป็นจริง แต่นับเป็นโอกาสในการยกระดับการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพการศึกษาจากต้นทาง