เมื่อโลกต้องเผชิญสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 เด็กถูกทำให้แยกห่างออกจากโรงเรียนและระบบการศึกษามากขึ้น และนั่นอาจให้เกิดภาวะ ‘Summer Slide’ หรือที่เรียกกันว่าปรากฏการณ์ความรู้ถดถอยหลังการหยุดเรียนอย่างยาวนาน
หลายภาคส่วนมีความพยายามที่จะจัดการไม่ให้เด็กเกิดภาวะความรู้ถดถอย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเรียนออนไลน์ การเรียนทางไกลผ่านทีวีดาวเทียม การจัดการเรียนการสอนแบบโฮมสคูล หรือการเรียนรู้ผ่านกล่อง Learning Kids
แต่ปัญหาคือหลังจากได้ทดลองเรียนผ่านช่องทางต่างๆ อย่างที่กล่าวไป กลับยิ่งทำให้เห็นปัญหาด้านการศึกษาชัดขึ้น แน่นอนในครอบครัวที่ขาดความพร้อม การทำโฮมสคูลหรือการเรียนรู้ผ่านกล่อง Learning Kids แทบเป็นไปไมได้ เช่นเดียวกับการเรียนออนไลน์หรือเรียนทางไกลผ่านทีวีดาวเทียมก็ยังมีอุปสรรคอีกหลายเรื่องที่ยังไม่สามารถก้าวผ่านไปได้เช่นกัน เช่น ความพร้อมในการเข้าถึงอุปกรณ์ รวมถึงความไม่พร้อมในการดูแลบุตรหลานของผู้ปกครอง
เราจะข้ามผ่านสถานการณ์เช่นนี้ไปได้อย่างไร?
แม้ทุกฝ่ายจะพยายามสร้างนิเวศการเรียนรู้แบบใหม่เพื่อตอบโจทย์ผู้เรียนทุกคนท่ามกลางสถานการณ์นี้ แต่นี่ยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายและต้องการพลังจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาช่วยกันบูรณาการและค้นหาทางออกในประเด็นดังกล่าวร่วมกัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีระชาติ กิเลนทอง อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) กล่าวไว้ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 นี้ ทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำชัดขึ้นมาก
“การที่เด็กมาโรงเรียนไม่ได้ โดยเฉพาะในครอบครัวที่พ่อแม่มีความรู้น้อยกว่า ฐานะต่ำกว่า ยิ่งไม่สามารถจัดการเรียนรู้ให้ลูกตัวเองได้”
ย้อนไปในอดีต การเกิดขึ้นของโรงเรียนมีบทบาทสำคัญอย่างหนึ่งคือ เพื่อถมช่องว่างของความเหลื่อมล้ำให้เต็ม
ผศ.ดร.วีระชาติ ให้เหตุผลว่า เพราะบทบาทโรงเรียนจะทำให้เด็กได้รับโอกาสทางการศึกษาเท่ากัน แน่นอนถึงแม้สถานศึกษาหรือแม้แต่ครูผู้สอนทุกแห่งทั่วประเทศจะไม่ได้มีความเท่ากันทางด้านคุณภาพ แต่การที่เด็กไปโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอตามพัฒนาการของตัวเด็กเองจะช่วยอุดช่องว่างนี้ให้เสมอกันได้ระดับหนึ่ง
“แต่ในสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้ผมคิดว่าช่องว่างน่าจะถ่างมากขึ้น เพราะคนที่มีฐานะมากกว่า มีทรัพยากรมากกว่า เขามีความสามารถในการดูแลลูกหลานตัวเอง มีการจ้างครูสอนพิเศษที่บ้าน ในขณะที่คนจนกว่า ทำอะไรไม่ได้เลย”
เมื่อเด็กไปโรงเรียนไม่ได้ การให้พ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนของลูกจึงกลายเป็นความหวังขั้นต่อมา โดยมีความคาดหวังให้พ่อแม่ผู้ปกครองทำหน้าที่เป็นผู้นำการเรียนให้ลูกหลาน ให้พ่อแม่ทำหน้าที่แทนครู
ทว่าผลสำรวจสภาพความเป็นจริงของหลายครอบครัวในจังหวัดมหาสารคามและกาฬสินธุ์ พบว่ามีเด็กจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะในเขตชนบทต้องอาศัยอยู่กับปู่ย่าตายายที่อายุมาก เนื่องจากพ่อแม่ต้องไปทำงานในตัวเมืองหรือในกรุงเทพฯ
ดังนั้นความหวังที่จะให้ปู่ย่าตายายลุกขึ้นมาจัดการเรียนรู้ จึงมีโอกาสน้อยมาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย
“เขาก็ต้องทำมาหากิน ไม่มีเวลาสอนลูก หรือต่อให้มีเวลาก็ No idea”
ผศ.ดร.วีระชาติ ยกตัวอย่างหลังจากได้ลงพื้นที่สอบถามชาวบ้าน พบว่าประเด็นปัญหาส่วนใหญ่พวกเขาไม่ได้กังวลเรื่องคุณภาพของการเรียนออนไลน์มากนัก เพราะอย่างน้อยก็ช่วยให้รู้สึกว่าลูกหลานเขาได้เรียนหนังสือแล้ว
แต่สิ่งที่พวกเขากังวลคือเรื่องศักยภาพของตัวเองในการดูแลการศึกษาให้บุตรหลาน
“เด็กที่อยู่กับคุณตาคุณยาย ตายายเขาก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ส่วนใหญ่กังวลว่าฉันทำไม่เป็น ฉันสอนลูกตัวเองไม่ได้” นี่คือสิ่งที่ ผศ.ดร.วีระชาติ พบ
ดังนั้นก่อนที่จะพูดถึงการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เด็ก อาจจะต้องกลับมาทบทวนให้ถึงรากว่า สิ่งใดคือลำดับความสำคัญอันแรกที่พวกเขานึกถึง
การกำหนดนโยบายหรือมาตรการแก้ไขปัญหาการศึกษาในช่วงโรคระบาดด้วยระบบเพียงระบบเดียว (one side fit all) อาจไม่ใช่คำตอบ
สำหรับ ผศ.ดร.วีระชาติ ข้อมูลทั้งหมดทั้งมวลอาจช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายด้านการศึกษามองเห็นมิติของปัญหาอันหลากหลายมากขึ้น
“เราจะต้อง sensitive กับครอบครัวที่อยู่ต่างจังหวัดและยากจนมากกว่านี้” ผศ.ดร.วีระชาติ ย้ำ