“ปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้นลึกซึ้งและซับซ้อนมากขึ้น และเชื่อมโยงทุกมิติ โดยเฉพาะเมื่อเราพูดถึงเรื่องของโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร หลายคนพูดว่า ถ้าเรียนออนไลน์ พื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าจะทำอย่างไร”
ในวันนี้เราต่างต้องยอมรับว่า ความเหลื่อมล้ำของสังคมเป็นปัญหาฐานรากที่มีความเชื่อมโยงทั้งเศรษกิจ สังคม การเมือง และเป็นปัญหาที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ คำถามสำคัญที่นักการศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันตอบคำถามให้ได้ ณ ขณะนี้คือ เราค้นหาปัญหาเจอหรือไม่ แล้วเราจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ได้อย่างไร
เพื่อตอบคำถามข้างต้น ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า จึงชวนคลี่ประเด็นเป็นลำดับ ไล่เรียงตั้งแต่ปัญหา ความท้าทาย โจทย์การศึกษาที่ต้องขบคิด ไปจนถึงโครงสร้างของระบบที่ต้องเอื้อช่องทางให้หน่วยงานท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากขึ้น
ตั้งต้นจากการถอดบทเรียนสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมาอย่างน้อย 5 ข้อคือ หนึ่ง-องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องปรับวิธีทำงาน และโรคระบาดคือชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดการผลักดันให้ท้องถิ่นเป็น Smart Organization เร็วขึ้น สอง-ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ความเดือดร้อน ทั้งระยะสั้น ระยะยาว ทั้งชั่วคราว และถาวร จะถูกขยายภาพให้ชัดเจนขึ้น สาม-การจัดการเชิงพื้นที่ช่วยแก้ปัญหาได้จริง สี่-ประเทศไทยมีต้นทุนทางสังคมค่อนข้างสูง และด้วยต้นทุนนี้ทำให้ต้องเกิดการคิดต่อยอดว่า เราจะสร้างระบบการจัดการอย่างไรให้เกิดการกระจายอำนาจอย่างเป็นธรรม และห้า-การจัดการภายใต้ฐานข้อมูลร่วมกัน
“ผมคิดว่าปัญาความเหลื่อมล้ำคือโจทย์สำคัญ มีความท้าทาย และจำเป็นต้องแก้ไขอย่างรวดเร็ว คำถามคือ แล้วทำไมท้องถิ่นต้องทำเรื่องนี้ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา”
ศาสตราจารย์วุฒิสาร ระบุว่า บทบาทท้องถิ่นกับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำตามกฎหมายนั้น บัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้แก่ มาตรา 54 วรรค 3 กำหนดให้รัฐดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตและจัดให้มีการร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ในการจัดการศึกษาทุกระดับ
มาตรา 250 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจดูแลและจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนท้องถิ่น
อีกทั้งระบุอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นไว้ใน ‘ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580’ ด้วยว่า ด้านการพัฒนาและสร้างเสริมศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ มีเป้าหมายในการพัฒนาคนในทุกช่วงวัย ให้เป็นคนดี คนเก่ง และมีคุณภาพ มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และสังคมไทยในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 41 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิจัดการศึกษาในระดับใดระดับหนึ่งหรือทุกระดับตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการภายในท้องถิ่น
ไม่เพียงเท่านั้น ศาสตราจารย์วุฒิสารยังกล่าวถึงต้นทุนอีกหลายประการที่มีเพียงท้องถิ่นเท่านั้นที่สามารถทำได้ คือ หนึ่ง-ท้องถิ่นสามารถเชื่อมโยงกับปัญหาสังคมได้ และปัญหาของสังคมในมุมต่างๆ คือ social lab ที่ดีที่สุดในการเรียนรู้ของเด็ก
สอง-ท้องถิ่นสามารถขยายขอบเขตการเรียนรู้ของเด็กได้ครอบคลุมกับทุกคน หรือ education for all (การศึกษาเพื่อปวงชน) และท้องถิ่นสามารถสร้างกิจกรรมในรูปแบบของ all for education โดยการนำอาชีพและความสนใจในด้านต่างๆ ของเด็กมาออกแบบการศึกษาได้
สาม-การจัดการศึกษาของท้องถิ่นจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ และการศึกษาคือคานงัดที่สำคัญที่สุดของการแก้ปัญหาสังคม
“องค์กรท้องถิ่นจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษา คือผู้บริหารที่มีใจ ตั้งใจอยากจะทำ เพราะเห็นว่าการศึกษาคือรากฐานที่สำคัญที่สุดของการทำงาน อีกทั้งองค์กรท้องถิ่นยังมีความยืดหยุ่นสูงในการปรับและใช้วิธีการจัดการศึกษาที่แตกต่าง
“เสน่ห์ของการกระจายอำนาจคือ การที่แต่ละพื้นที่ทำไม่เหมือนกัน เรื่องนี้ต้องฝากท้องถิ่นว่า อย่าไปทำอะไรที่ยึดแค่โมเดลเดียว แต่ละแห่งสามารถคิดเอกลักษณ์ของตนเองได้ และสามารถจัดการศึกษาที่มีเอกภาพและมีการบูรณาการได้”
เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้ากล่าวด้วยว่า ท้องถิ่นมีทรัพยากร มีศักยภาพ มีใจ และมีเสน่ห์เฉพาะของแต่ละพื้นที่ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่คือต้นทุนที่ดีในการสร้างพื้นที่ทางการเรียนรู้และนวัตกรรมการศึกษาได้อย่างไม่รู้จบ
ทว่าหากมองไปยังชีวิตจริงของคนทำงาน ยังมีหลายอุปสรรคขวางกั้นศักยภาพและแรงจูงใจของท้องถิ่นอย่างมหาศาล กล่าวคือ ท้องถิ่นนั้นทำได้ดีแล้วในหลายๆ กรณี แต่หากจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่านี้ แนวทางที่ควรเดินต่อนั้นมีปัจจัยใดเป็นตัวแปรบ้าง และท้องถิ่นจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างไร ซึ่งศาสตราจารย์วุฒิสารเสนอไว้ว่า
“หนึ่ง-กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ท้องถิ่นต้องมีแผนที่กลุ่มเป้าหมายใหม่ โดยใช้ฐานข้อมูลที่มีอยู่ และ กศส. จะเป็นแบ็คอัพสำคัญของการค้นหากลุ่มเป้าหมาย
“สอง-ท้องถิ่นต้องกำหนดแนวทางการจัดบริการที่เหมาะสม ต้องมีชุดความรู้เข้าช่วยทำงาน องค์กรสนับสนุนทั้งหลายต้องเข้ามาช่วยแบ็คอัพในเชิงองค์ความรู้
“สาม-ระบบงบประมาณและระเบียบปฏิบัติที่เป็นอุปสรรคต้องถูกคลี่คลาย เพราะสิ่งหนึ่งที่คนกลัวมากคือ ทำไปแล้วจะถูกตรวจสอบและเรียกเงินคืน นี่คือปัญหาใหญ่ที่ทำให้ท้องถิ่นไม่อยากคิดนวัตกรรมอะไร
“สี่-การจัดทรัพยากรที่เหมาะสม ซึ่งต้องตั้งคำถามว่า ในระบบงบประมาณของกระทรวงมหาดไทยที่ให้ท้องถิ่นจัดทำงบประมาณ เราเพิ่มหมวด ‘งบประมาณรายจ่ายเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม’ เพิ่มขึ้นได้ไหม ทุกท้องถิ่นจะมีการใช้จ่ายเงินเพื่อเรื่องนี้ เพราะถ้าไม่มี นั่นแปลว่าเรื่องความเหลื่อมล้ำถูกจัดลำดับความสำคัญไว้ท้ายๆ เสมอ ถ้าเงินเหลือถึงจะทำ
“ห้า-สร้างองค์ความรู้เพื่อพัฒนาวิธีการและวิธีคิดของผู้ปฏิบัติงาน
“หก-อย่าทำคนเดียว ผนวกกำลังของชุมชน อาสาสมัคร เอกชน ชุมชน และท้องถิ่นเข้าด้วยกัน”
สุดท้าย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าได้ฝากแง่คิดและมุมมองไว้ว่า ณ วันนี้ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยยังคงเป็นปัญหาฐานรากที่มีความเชื่อมโยงทั้งเศรษกิจ สังคม การเมือง และเป็นปัญหาที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ โจทย์สำคัญคือเราจะค้นหารากของปัญหาเจอหรือไม่ และเมื่อเจอแล้วจะเข้าไปแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ได้อย่างไร นั่นคือสิ่งที่ท้องถิ่นต้องช่วยกันขบคิดหาคำตอบ